“เพื่อไทย – ก้าวไกล” ท่าทีใหม่ ครองใจใคร?

ปรากฏการณ์เปิดหน้าชนระหว่าง “พรรคเพื่อไทย – ก้าวไกล” อาจไม่ใช่แค่สมมติฐานของสื่อมวลชนหลายสำนัก ที่วิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกัน หากแต่กลยุทธ์ในวันประชุมใหญ่ของทั้งสองพรรคการเมืองต่างมีนัยยะสำคัญ มุ่งขยายฐานเสียง “ล้ำเส้น” จุดแข็งของกันและกัน ทั้งในเชิงพื้นที่ และช่วงวัยคล้าย ๆ กัน

ทำเอานักวิเคราะห์การเมืองต้องจับตาท่าที 2 พรรคร่วม “ฝ่ายค้าน” กับความเคลื่อนไหวสำคัญในครั้งนี้

The Active รวบรวมปรากฏการณ์ เปรียบเทียบการเดินเกมการเมืองระหว่างพรรคใหญ่ – กลาง ที่แม้จะประกาศตัวว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่ต่างกัน แต่มีความได้เปรียบ เสียเปรียบเชิงการเมืองแตกต่างกัน ในมุมมองนักรัฐศาสตร์แล้ว มองว่า จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ยังต้องจับตาทุกแทบทุกพรรคที่เคลื่อนไหวขยายฐานเสียง โดยเฉพาะ “เพื่อไทย VS ก้าวไกล” ที่ดูจะมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ

รีแบรนด์ “พรรคเพื่อไทย” สร้างสมดุลคนหลากรุ่น

เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน สำหรับพรรคใหญ่เพื่อไทย ภายใต้แนวคิด “พรุ่งนี้เพื่อไทย ชีวิตใหม่ของประชาชน” จนหลายคนหลุดโฟกัสรายละเอียดเชิงนโยบายของพรรค และจับจ้องไปที่ตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม “อุ๊งอิ๊ง – แพทองธาร ชินวัตร” ที่ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ “แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เรื่องของอนาคต ขอทำวันนี้ให้ดีที่สุด…” โดยแสดงวิสัยทัศน์ผลักดัน นโยบายการศึกษา เทคโนโลยี และซอฟต์ พาวเวอร์

แม้วันเปิดตัว “ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม” ของพรรคเพื่อไทย จะชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย ไม่เน้นแตะประเด็นละเอียดอ่อน แต่เปิดกว้างทางความคิด และประกาศพร้อมอยู่เป็นเสาหลักเคียงข้างประชาชน ตามแนวพรรคเพื่อประชาธิปไตย

แต่หลังจากนั้นเพียง 3 วัน แถลงการณ์ต่อกรณีปัญหาการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 กับนักเคลื่อนไหวและผู้เห็นต่างทางการเมือง ที่ยังคงมีผู้ถูกคุมขัง โดยเลือกระบุท้ายแถลงการณ์ด้วยชื่อของ “ชัยเกษม นิติสิริ” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย นี่เป็นอีกความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตา เพราะเกิดขึ้นหลังการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ราษฎร ที่ชูแคมเปญใหม่ “ราษฏรประสงค์ ยกเลิก 112” แทบจะทันที

และยังเป็นพรรคแรก ๆ ที่มี ปรากฏการณ์คู่จิ้นทางการเมือง “พี่อิ่ม น้องน้ำ” หรือ ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ (อิ่ม) และ จิราพร สินธุไพร (น้ำ) กลายเป็นขวัญใจเด็ก ๆ บางกลุ่ม และอาจทำเอาคนรุ่นใหม่ใจสั่น เพราะเป็นการรีแบรนด์พรรคฯ จนแทบจะล้างภาพ “พรรคการเมืองนอมินี”

แม้จะเน้นฐานเสียงคนรุ่นใหม่ แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ทิ้งฐานเสียงเดิม เพราะมีกุนซือ อย่าง หมอเลี้ยบ – นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ร่วมผลักดันโปรเจกต์ด้านหลักประสุขภาพถ้วนหน้า “30 บาทรักษาทุกโรค” นั่ง ผอ.พรรคเพื่อไทย คนใหม่ ยิ่งเห็นความพยายาม เชื่อมต่อคนระหว่าง Generation ที่ชัดเจน และตอนนี้พรรคเพื่อไทยก็แทบจะไม่ต้องกังวลเรื่องการวางกลยุทธ์พรรคฯ ที่คู่ขนานกันได้ ทั้งในเชิงการเมือง และเชิงนโยบายที่ยังคงอุดมการณ์แก้ปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจ-ปากท้อง

“พรรคก้าวไกล” เจาะถิ่นอีสาน-เปลี่ยนหัวใจคนใต้

พรรคก้าวไกล แม้จะเป็นพรรคขนาดกลาง แต่ก็ดูจะพยายามขยายฐานเสียงไปไกลกว่าแค่กลุ่มคนรุ่นใหม่ หลังหลายฝ่ายประเมินตรงกันว่า เป็นฐานเสียงสำคัญที่ผลักดันให้ผู้แทนของพรรคได้เข้าไปนั่งในสภา

การประชุมพรรคครั้งใหญ่ช่วงเดือนตุลาคม ประกาศปักธงอีสาน กับกระแสติดแฮชแท็ก “ก้าวไกล ไปนำแหน่” ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดปราศรัยจะเข้ามาแก้คำสาป “ห้ามพัฒนาประเทศ” โดยแก้ 3 ห่วงโซ่ที่พันธนาการประเทศไทย คือ ปัญหาการขาดเทคโนโลยี รัฐราชการรวมศูนย์ และกลุ่มผลประโยชน์เสือนอนกินที่ได้ประโยชน์จากความไม่เปลี่ยนแปลง

พร้อมมี รองหัวหน้าพรรคด้านเศรษฐกิจ อย่าง “ศิริกัญญา ตันสกุล” ที่ออกมาเปิดตัวเลขความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สวัสดิการ หนี้สิน ฯลฯ ที่คนอีสานต้องรับชะตากรรมจากโครงสร้างทางสังคมที่ถูกแช่แข็ง

และกุนซืออย่าง “เดชรัต สุขกำเนิด” ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ของพรรคก้าวไกล อดีตนักเศรษฐศาสตร์ ที่เต็มไปด้วยฐานข้อมูล และงานวิจัยที่พร้อมจะสนับสนุนพรรคก้าวไกล

เช่นเดียวกับ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่เป็นเหมือนมันสมองของพรรคตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ เขาเกิดและเติบโตในจังหวัดสงขลา แสดงภาพตัวแทน “คนใต้” ที่เต็มไปด้วยความฝันที่จะพัฒนาภาคใต้ ทำให้ พิธา ใช้สโลแกนสำคัญลงพื้นที่ เอาใจคนใต้

พรรคการเมืองอื่นอาจจะพยายามเอาชนะหัวใจของคนใต้ด้วยเรื่องของ อดีต
แต่สำหรับ พรรคก้าวไกล เราจะมาคุยกันด้วยเรื่องของ อนาคต
มาช่วยกัน เปลี่ยนใจคนใต้ ไปด้วยกัน…”

ผลสำรวจล่าสุด จาก สวนดุสิตโพล ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,186 คน ช่วงวันที่ 25-28 ตุลาคม 2564 พบว่า ประชาชนเลือกโหวต “พรรคเพื่อไทย เป็นอันดับ 1” ขณะที่เลือกโหวตให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากพรรคก้าวไกล เป็น นายกรัฐมนตรี

และนี่คือความน่าสนใจของ 2 พรรค

วิเคราะห์ 2 พรรค ชูอุดมการณ์ “ฝ่ายประชาธิปไตย”

รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์ มองปรากฏการณ์ทางสังคมครั้งนี้ โดยเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่าง 2 พรรคไว้ถึง 5 ประเด็น ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงบทบาทของ “พรรคก้าวไกล เปรียบเหมือนทัพหน้า และพรรคเพื่อไทย ที่เปรียบเหมือนทัพหลวง” ที่ต่างประมาทซึ่งกันและกันไม่ได้

“เพื่อไทย และก้าวไกล” ถือว่า เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในเชิงประชาธิปไตย ฐานเสียงคาบเกี่ยวกันสูง แต่การที่ “เพื่อไทย” มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นสัญลักษณ์ของพรรค ก็อาจจะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ถูกยุบพรรคได้ง่าย

ขณะที่ “ก้าวไกล” แม้จะลุยบุกฐานเสียงเจาะฐานภาคใต้และอีสาน แต่ไม่ง่าย เพราะเป็นถิ่นเพื่อไทยเดิม ที่มีนายทักษิณ นั่งในดวงใจพี่น้องชาวอีสานมาอย่างยาวนาน หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนเสื้อแดง

“ทิมพิธา เป็นคนรุ่นใหม่ มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย

แต่การเพิ่งเข้าสู่การเมือง ยังไม่มีผลงานชัดเจน ฝังรากลึกในภาคอีสานได้

จึงยังไม่สามารถแทนที่คุณทักษิณได้”

รศ.ยุทธพร อิสรชัย

5 ความต่าง “ก้าวไกล-ทัพหน้า VS เพื่อไทย-ทัพหลวง”

ถึงแม้ว่า 2 พรรคจะมีแนวทางประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่การจะควบรวมพรรค ก็ยังคงเป็นเรื่องยาก รศ.ยุทธพร วิเคราะห์ 5 ประเด็นความต่างของ 2 พรรค

พรรคก้าวไกลพรรคเพื่อไทย
ที่มาและอุดมการณ์ เกิดขึ้นจาก แนวคิดเชิงวิชาการ ขับเคลื่อนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ และ มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมมุ่งนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม ปากท้องพี่น้องประชาชน นำมาสู่การพัฒนาประชาธิปไตย และต่อต้านเผด็จการ มีความใกล้เคียงในเรื่องของอุดมการณ์ทางความคิดประชาธิปไตย แต่อาจจะมีวิธีการต่างกัน
ฐานเสียงสนับสนุน ชนชั้นกลางรุ่นใหม่ มองถึงอนาคตการเมืองที่มีประสิทธิภาพ อนาคตที่ดีกว่าในปัจจุบัน คนระดับพื้นที่ เพราะต้องการ แก้ปัญหาในปัจจุบัน ก่อนแก้ไขอนาคต
วิถีทางการเมืองการเมืองเชิงอัตลักษณ์ เช่น ลดผูกขาด แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ม.112 การเมืองเชิงอัตลักษณ์ คนด้อยสิทธิ์ ด้อยโอกาส เพศสภาพ ฯลฯวิถีการปฏิบัติที่มุ่งสู่ชัยชนะของการเลือกตั้ง เพราะเป็น พรรคการเมืองที่อยู่ในการเลือกตั้ง Party in Electoral (PIE) ประสบความสำเร็จตั้งแต่มีการเลือกตั้งสมัยที่เป็น พรรคไทยรักไทย สู่พลังประชาชน และเพื่อไทย เรียกว่า มีชัยชนะมาตลอด 5 สมัยในการเลือกตั้งทั่วไป
การจัดโครงสร้างองค์กร กรรมการบริหารพรรค โครงสร้างพรรค มุ่งตอบสนองอัตลักษณ์ต่าง ๆ จะเห็นตัวแทนที่เป็นตัวแทนบริหารพรรคก้าวไกลจำนวนมากมุ่งสร้างสมดุล เห็นได้จากการมีอดีตแกนนำ พรรคไทยรักไทย เช่น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่เข้ามาดูแลการเปลี่ยนผ่านของพรรคในเวลานี้ จะเห็นว่าเพื่อไทย พยายามสร้างความสมดุลระหว่าง ส.ส.เขต กับ แกนนำของพรรคในเชิงยุทธศาสตร์ และขณะเดียวกันก็ มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างคนรุ่นเก่า คนรุ่นกลาง และคนรุ่นใหม่ของพรรค ด้วย
บริบทแวดล้อมทางการเมือง ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบคู่ขนาน หรือ ระบบผสมเสียงข้างมาก (Mixed Member Majoritarian System : MMM) ไม่เอื้อต่อพรรคได้เปรียบใน ระบบ MMM
เช่นเดียวกับ การเลือกตั้งในปี 2540 และ 2550

แต่ รศ.ยุทธพร ย้ำว่า ความได้เปรียบเสียบเปรียบในระบบเลือกตั้งแบบ MMM นั้น คาดการณ์อยู่บนสมมุติฐานที่ว่า Voter จะกากบาทคะแนนเสียงไปในทิศทางเดียวกันของบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ แต่หากภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยน ก็มีความเป็นไปได้ที่ทำให้คนไปกาคะแนนเสียงแบ่งทัศนคติในการกา 2 ใบที่ไม่เหมือนกัน

“ใบที่เลือกพรรคแบบบัญชีรายชื่อ ก็มองที่พรรคการเมือง

ขณะที่ ใบที่เลือกคน ก็มองที่ ส.ส.เขตฯ เลือกตั้ง”

ดังนั้น พรรคการเมืองขนาดกลางอย่างก้าวไกล ก็อาจจะไม่เสียเปรียบมากนัก หากภูมิทัศน์ทางการเมือง และแนวคิดของผู้คนเปลี่ยนไปแบบนั้นจริง ๆ ยังไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า พรรคใดจะได้เปรียบ เสียเปรียบ ทุกอย่างมีตัวแปรที่ทำให้พลิกผันได้

“5 ความแตกต่าง สะท้อนว่าในเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมือง พรรคก้าวไกลเหมือนทัพหน้า ขณะที่พรรคเพื่อไทยเหมือนทัพหลวง…”

เพราะ พรรคก้าวไกล จะหยิบจับประเด็นที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย อาจจะไม่มีประเด็นที่หวือหวา มุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแบบนี้ แต่ถ้าวันหนึ่ง พรรคก้าวไกล ไม่ได้ทำให้ประเด็นทางการเมืองถูกยกระดับ การเคลื่อนไหวของก้าวไกลอาจกลายเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อไทย ที่อาจจะมีฐานเสียงกว้างขวาง เพราะยังไม่เคยพูดถึงประเด็นเปราะบางในสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน