คนตายไม่ใช่แค่ตัวเลข: ส่องปัจจัยลดสูญเสีย

หลายคนกังวลไม่น้อยกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ทะลุ 17,669 คน ในวันที่ 29 ก.ค. 2564 ขณะที่หลายฝ่ายประเมินว่า ตัวเลขติดเชื้อจริงอาจสูงกว่านี้หลายเท่า

โดยเฉพาะเมื่อสามารถตรวจหาเชื้อผ่าน แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit – ATK) หรือ ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองได้ แม้จะยังไม่ถูกนับรวมในตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันก็ตาม

แต่สิ่งที่น่าห่วงมากกว่า คือ ตัวเลขผู้เสียชีวิต ท่ามกลางปัญหาเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ล้นจากระบบ

คำถามสำคัญ คือ จะมีวิธีไหนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้บ้าง?

หนึ่งในนั้น คือการทำให้ผู้ป่วยกลุ่มที่เขียวกลุ่มใหญ่ 80% จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด ไม่ยกระดับเป็นสีเหลือง สีแดง หรือผู้ป่วยอาการวิกฤต

หากนับเฉพาะการระบาดระลอกเดือนเมษายนจนถึงเวลานี้ ผู้เสียชีวิต 4,468 คน ตัวเลขนี้สะท้อนว่า ระบบสาธารณสุขรักษาไม่ทันและไม่ทั่วถึง

สิ่งที่จะช่วยพยุงสถานการณ์ให้ดีขึ้น คือ การประคับประคองผู้ป่วยสีเขียว ไม่ให้เปลี่ยนสี
เพราะสัดส่วนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน 80% คือ กลุ่มที่อาการไม่รุนแรง แนวทางตอนนี้ คือ การรักษาตัวนอกโรงพยาบาล ทั้ง Home isolation, Community isolation รวมถึง Factory isolation

ส่วนอีก 17% เป็นกลุ่มสีเหลือง ที่ต้องดูแลอาการใกล้ชิด กลุ่มต้องถูกส่งเข้าระบบโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามให้เร็วที่สุด

และ 3% เป็นกลุ่มสีแดง ที่จำเป็นต้องใช้เตียง ICU หรือใส่ท่อช่วยหายใจ กลุ่มนี้น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะได้รับการยืนยันจาก อธิบดีกรมการแพทย์ แล้วว่า เตียงไม่พอ

“หยุดตาย” ต้องดูแลผู้สูงอายุ – กลุ่มเสี่ยงโรคประจำตัว

ตัวเลข 80% ของผู้เสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงโรคประจำตัว ดังนั้น หากเตียงไม่พอ โจทย์สำคัญคือ หยุดการเสียชีวิตอาจทำได้ยาก คำถามคือ มีตัวแปรอะไรบ้าง จะช่วยลดปัจจัยการสูญเสีย

คนกลุ่มนี้มีประชากรรวมกัน 17 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ได้รับวัคซีนไปเพียง 4.8 ล้านคน

เป้าหมายการฉีดวัคซีนรายจังหวัดคือทำให้ได้ 70% ของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ในทั้งหมด 13 จังหวัดที่กำลังถูกล็อกดาวน์ มีเพียงกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่การฉีดวัคซีนเป็นได้ตามเป้า และเป็นเพียงยอดคนรับวัคซีนเข็มแรก

ส่วนจังหวัดนนทบุรี หรือนครปฐม จังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร ยอดคนได้รับวัคซีนยังไม่ถึงครึ่ง และที่ยังน่าเป็นห่วง คือ ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ทั้ง 4 จังหวัด ยอดคนฉีดวัคซีน ก็ยังน้อยเหลือเกิน

วัคซีนยังไม่ครบตามเป้า ระบบรองรับผู้ป่วยหนัก ก็ไม่พอ

ข้อมูล ณ 29 กรกฎาคม เฉพาะ กรุงเทพฯ และปริมณฑลศักยภาพเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองมีไม่น้อย คือ 40,872 เตียง แต่เวลานี้ครองเตียงไปแล้ว 93% เหลือเตียงว่าง 2,904 เตียง แต่ต้องไม่ลืมว่า ศักยภาพเตียงส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ อยู่ในมือโรงพยาบาลเอกชน

ส่วนเตียงไอซียู ถูกใช้หมดแล้วทั้ง 100%

ที่ผ่านมาจึงใช้วิธีการปรับเตียงสีเหลือง ในโรงพยาบาลสนามบุษราคัมให้สามารถรองรับผู้ป่วยสีแดงด้วย โดยการเพิ่มเครื่องช่วยหายใจเข้าไป

แต่ปัญหา คือ ขยายเตียงแล้ว แต่บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ขยายไม่ได้! และภายในสองเดือนอาจต้องย้ายผู้ป่วยทั้งหมดไปยังโรงพยาบาลสนามสุวรรณภูมิแทน เพราะหมดสัญญาเช่าสถานที่กับเอกชน

ส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ทำภาพรวมคนติดเชื้อในอีสาน เพิ่ม

ระบบนำส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา ของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เราเห็นผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น ที่เห็นชัดเจน คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานช่วงปิดแคมป์ก่อสร้างเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ประชาชนกระจายตัวกลับบ้าน

ภาพนี้เกิดขึ้นชัดเจนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากย้อนดูข้อมูลผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 5 กรกฎาคม เวลานั้นภาคอีสานยังคงเป็น สีเขียวและสีเหลือง นั่นหมายถึงมีผู้ติดเชื้อสะสมไม่เกิน 200 คนต่อสัปดาห์

ผ่านไป 3 สัปดาห์ พื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็น สีแดง คือ ผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 500 คนต่อสัปดาห์ ขณะที่เตียงและการฉีดวัคซีนในพื้นที่ภาคอีสานก็วิกฤตไม่ต่างจากกรุงเทพฯ

เช่นที่นครราชสีมา 29 กรกฎาคม มีผู้ป่วยรายใหม่ 192 คน และมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,299 คน มีผู้ป่วยสีเหลืองครองเตียงไปแล้ว 86% เหลืออีกเพียง 11 เตียงเท่านั้น ส่วน ICU ใช้ไปแล้ว 92% ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงกว่า 4 แสนคน ได้รับการฉีดเข็มแรกไปเพียง 10.6% เท่านั้น

ส่วนอีกจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน คือ อุบลราชธานี มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,257 คน โดยเป็นผู้ป่วยใหม่ 302 คน มีผู้ป่วยสีเหลือง ครองเตียงไป 94% ICU ครองเตียงไปแล้ว 97% ขณะที่การฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กลุ่มเสี่ยง ทำได้เพียง 12.8%

นี่คือ สถานการณ์เตียงและวัคซีน ที่เป็นอุปสรรคในการรักษาชีวิตทั้งสิ้น แต่เพราะคนตายไม่ใช่แค่ตัวเลข จึงต้องเร่งหาทางหาปัจจัยที่จะช่วยลดความสูญเสีย

ความหวังเวลานี้ที่จะช่วยพยุงสถานการณ์ได้ คือ ระบบการดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล ทั้ง Home isolation, Community isolation รวมถึง Factory isolation ที่หลายจังหวัดกำลังเริ่มเดินหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาระดับผู้ป่วยสีเขียวไม่ให้เปลี่ยนสี

หรือกลายเป็นบางคนในครอบครัวของเรา ที่ต้องโชคร้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน