ครั้งหนึ่งเราได้โอกาสเดินทางไปที่ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านห้วยตองก๊อ ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และได้รู้จักกับพืชที่เป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “ห่อวอ” ซึ่งเป็นเครื่องเทศเฉพาะของชาวปกาเกอะญอเท่านั้น
ห่อวอ มีลักษณะต้นเป็นไม้พุ่ม ดอกสีขาวแกมม่วง ส่วนใบมีลักษณะคล้ายกับใบกะเพราเขียวแกมม่วง มีลักษณะกลิ่นหอมเฉพาะ บางคนบอกว่าคล้ายกับตะไคร้ บางคนบอกคล้ายกับกะเพรา หรือโหระพา ส่วนตัวเราในขณะที่หยิบต้นห่อวอขึ้นมา กลิ่นโชยแตะจมูกมีความคล้ายแมงลัก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เหมือนกับมีกลิ่นสมุนไพรเครื่องเทศหลายชนิดที่เอ่ยมารวม ๆ กัน
มีชาวปกาเกอะญอที่ไหน มีห่อวอที่นั่น
ชาวบ้านเล่าว่า นิยมนำ “ห่อวอ” มาเป็นเครื่องเทศประกอบอาหารเกือบทุกเมนูของชาวปกาเกอะญอ ทั้ง ใส่แกง กินสด โดยหนึ่งในเมนูเด็ดคือเมนู น้ำพริกห่อวอ แต่ความพิเศษของ “ห่อวอ” คือเป็นเครื่องเทศที่หากินได้ยากมาก จะเห็นพืชชนิดนี้เติบโตในไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอเท่านั้น ไม่สามารถที่จะปลูกในดินทั่วไปได้ แต่จะเติบโตได้ในดินที่มีการเผาหน้าดินและหลงเหลือผงถ่านอยู่
จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า พืชชนิดนี้มักเติบโตในที่โล่งท่ามกลางป่าดิบเขาและป่าเต็งรังบนที่สูง พบได้ในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมา ลาว ไทย และเวียดนาม
เมล็ดพันธุ์จะถูกหว่านลงดินในช่วงเดียวกันกับการทำไร่หมุนเวียน และเก็บเกี่ยวพร้อมกับข้าวไร่ ซึ่งต้นห่อวอก็จะถูกตากแห้งไว้เพื่อเป็นการถนอมอาหารและเพาะเมล็ดพันธุ์ในปีต่อไป ถือว่าเป็นพืชประจำไร่หมุนเวียนและเป็นเครื่องเทศประจำครัวของชาวปกาเกอะญอ อาจกล่าวได้ว่ามีชาวปกาเกอะญอที่ไหน มีห่อวอที่นั่น โดยเมล็ดพันธุ์จะเคลื่อนย้ายไปตามการเดินทางของเขา แต่หากจะปลูกและจะโตได้ก็คงต้องกลับไปปลูกในพื้นที่ ๆ ปัจจัยเอื้ออย่าง ไร่หมุนเวียน ที่มีแร่ธาตุที่เหมาะสม
นอกเหนือจากประโยชน์ในเรื่องของอาหารแล้ว ละคูพอ คงวิบูลย์ทรัพย์ หรือ พะตี(ลุง) ละคู ชาวปกาเกอะญอ ชาวชุมชนห้วยตองก๊อ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ที่เป็นเจ้าของไร่หมุนเวียนที่เราไป เล่าว่าห่อวอคือนาฬิกาของไร่หมุนเวียน
ขณะที่มือจับต้นห่อวอ พะตีก็เล่าย้อนกลับไปในสมัยที่ตัวเขาเป็นเด็กว่า
“เมื่อก่อนชาวปกาเกอะญอใช้ชีวิตอยู่กับป่า นาฬิกาตื่น กิน นอนขึ้นอยู่กับธรรมชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแสงของดวงอาทิตย์ หรือกระทั่งการสังเกตดอกห่อวอ การตั้งก้านดอกที่ชูชันรับแสงในยามเช้านั่นหมายถึงช่วงเวลาของการต้องออกไปทำไร่ทำสวนของเขา และการโน้มก้านดอกลงดินพร้อมกับพระอาทิตย์ตก นั่นก็หมายถึงการพักผ่อนของวันนั้น”
ไม่ใช่แค่การบอกเวลา ณ ช่วงขณะของวันเท่านั้นแต่ยังเป็นหนึ่งสัญญะที่บอกว่า เมื่อห่อวอออกดอก นั่นคือหมดช่วงของการเก็บเกี่ยวข้าวไร่หมุนเวียน ซึ่งชาวบ้านก็จะเก็บเมล็ดพันธุ์ของพืชไร่ไว้ทั้งข้าว ห่อวอ พริก ฟักทอง และอื่น ๆ และสิ่งเหล่านี้จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในการกลับมาของไร่หมุนเวียนฤดูกาลหน้า
แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการทำไร่หมุนเวียนจะมีปัญหามากกับหน่วยงานของรัฐไทย แม้ภาครัฐจะสร้างทางเลือกอื่น อย่างเช่น การเลือกทำนาขั้นบันได แต่คนที่ไม่มีทางเลือกเขาก็ยังคงทำไร่หมุนเวียน ยังคงวิถีชีวิตเดิม และแน่นอนว่าไร่หมุนเวียน คือวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ
พะตีละคู เล่าว่า มองไม่เห็นและไม่รู้เหมือนกันว่าวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนจะอยู่อีกนานเท่าไหร่ หากถามว่าถ้าไม่มีการทำไร่หมุนเวียน รู้สึกเสียใจแต่ไม่รู้จะอธิบายเป็นคำพูดอย่างไร เพราะว่าสิ่งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่ ณ ตอนนี้ ยังทำไร่หมุนเวียนอยู่ และหวนคิดถึงในยุคที่ตอนที่เป็นเด็กแล้วทำไร่หมุนเวียนกับพ่อกับตากับปู่ยุคสมัยนั้นไม่มีนาฬิกาเขาจะสังเกตต้น “ห่อวอ” นาฬิกาไร่หมุนเวียน
“พะฉู่” กิตติพันธ์ กอแก้ว คนรุ่นใหม่ในชุมชนห้วยตองก๊อ เล่าว่า คิดว่าเราอาจจะเห็นคนที่ทำไร่หมุนเวียนนานสุดเขาให้เวลาประมาณ 30 ถึง 40 ปีหลังจากนั้นก็อาจจะไม่มีไร่หมุนเวียนแล้ว แต่ก็ต้องรอดูว่าเขาจะเปลี่ยนวิถีตัวเองอย่างไร ให้ยังคงความเป็นปกาเกอะญอ หรือไม่ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองไปเลยอันนี้เรายังไม่เห็นแต่คิดว่าโอกาสที่ไร่หมุนเวียนจะหายไปมีโอกาสสูง ถึงวันนั้นก็อาจะเป็นสถานการณ์เดียวกันกับต้นห่อวอที่จะไม่แตกหน่อออกดอกชูชันรับแสงแดด และห่อวออาจจะเหี่ยวลงไปและหายไปอย่างวิถีไร่หมุนเวียน