คุณภาพชีวิตที่ดี จากการมีส่วนร่วมของทุกคน
นโยบาย ข้อ 49 ‘ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง’ เป็นหนึ่งในนโยบาย 216 ข้อ ที่ได้รับความสนใจจากคนกรุงฯ เป็นลำดับต้น ๆ เพราะใคร ๆ ก็อยากจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ทั้งสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ไปจนถึงเรื่องของมลพิษทางอากาศ
การขยับขยายพื้นที่สีเขียวจึงได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่ช่วยกันปลูกต้นไม้ให้กรุงเทพฯ จนตอนนี้มีผู้ลงนามความร่วมมือปลูกยอดทะลุล้านต้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถอัพเดทข้อมูลเรียลไทม์ได้ที่ ศูนย์รายงานการปลูกต้นไม้ และหากว่าต้องการจะร่วมลงทะเบียนบันทึกการปลูกของตัวเองให้เข้ากับระบบของ กทม. ก็สามารถทำได้ผ่านทาง แอปพลิเคชัน “ปลูกอนาคต” หรือเข้าไปเพิ่มเพื่อนใน LINE ใส่คำค้นหา @tomorrowtree
แต่สำหรับนโยบายสีเขียว ของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ยังมีอีกหลายข้อที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีของเมือง และอยู่ในระหว่างการขับเคลื่อนความร่วมมือจากภาคประชาชนที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังพื้นที่สีเขียวหลายแห่งใน กทม.
สวน 15 นาที เข้าถึงได้ในระยะไม่เกิน 800 เมตร
ตามมาตรฐานองค์กรอนามัยโลกที่กำหนดว่า นอกจากจะมีพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เพียงพอเหมาะสมกับสัดส่วนประชากร ยังต้องทำให้พื้นที่สีเขียวเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้สะดวก พื้นที่สีเขียวจึงควรจะกระจายตัวอยู่ทั่วเมือง เพื่อให้เดินทางได้ในระยะไม่เกิน 15 นาที เป็นที่มาของนโยบาย ข้อ 108 ‘สวน 15 นาทีทั่วกรุง’
นโยบายนี้ สอดรับกับ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่ระบุให้ กทม. มีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะ สวนหย่อมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และกิจกรรมมนันทนาการที่กระจายครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร และยังสอดรับกับข้อเสนอ ใน ‘สมุดปกขาว ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน โดย เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ’ ที่เสนอเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์มากที่สุด
ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่ม We Park ทั้งเป็นผู้ขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่สีเขียว และสวนขนาดย่อมทั่วกรุงเทพฯ กล่าวว่า 1 เดือนกว่า ๆ ที่คนกรุงเทพฯ มีผู้ว่าฯ คนใหม่ ได้มีการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม นับเป็นความคืบหน้าในการเชื่อมโยงข้อมูล และการนำเสนอความคิดเห็นระหว่างกันกับทีมผู้ว่าฯ ซึ่งสิ่งแรก ๆ ที่ทำร่วมกันตอนนี้ คือการเสาะหา ‘แลนด์แบงก์’ หรือพื้นที่ที่มีศักยภาพจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ กทม. เอง หรือพื้นที่ของหน่วยงานรัฐต่างๆ ในพื้นที่ กทม.
“พอเราชัดเจนในเชิงนโยบายว่าต้องทำ สวน 15 นาที หรือระยะ 800 เมตรที่เดินถึง เราก็จะประเมินได้ว่าต้องการอีกกี่พื้นที่ใน กทม. คิดว่าต้องการสัก 300-400 พื้นที่ จากนั้นเราสามารถค้นหาพื้นที่ของ กทม. ที่มีอยู่และพร้อมสำหรับการพัฒนาได้ แล้วดูว่าแต่ละพื้นที่มีศักยภาพที่แตกต่างกัน จะทำพัฒนาอย่างไรให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนสูงสุด”
รูปแบบการพัฒนาพื้นที่สีเขียว
สำหรับรูปแบบของการพัฒนาพื้นที่สีเขียว มีทั้งหมด 4 รูปแบบ คือ ลานกีฬา ลานกิจกรรม พื้นที่สำหรับคนในชุมชน (Community Park) พื้นที่ปลูกพืชทางอาหาร (Urban Farm) และพื้นที่สวนป่า (Urban Forest) ซึ่งแต่ละพื้นที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน ให้ประโยชน์เฉพาะด้านแตกต่างกัน ซึ่งการพัฒนาจะต้องมีการพิจารณาองค์ประกอบ รับฟังความคิดเห็นจากชุมชน รวมถึงการออกแบบให้สอดรับกัน
ยศพล มองว่า ตอนนี้ยังไม่เจอกลไกที่ชัดเจน เช่น เจอพื้นที่แล้วยังไงต่อ กระบวนการมีส่วนรวมต้องทำยังไง สวนมีกี่ประเภท ทำยังไงบ้าง การบริหารจัดการต้องทำยังไง
“เช่น ปัจจุบันเน้นเรื่องสวนเกษตร เรื่องการพัฒนาเพื่อให้เป็นพื้นที่อาหาร หากมีพื้นที่ตรงนี้ จะช่วยลดรายจ่ายให้ชุมชนได้ด้วย แต่ในกระบวนการศึกษาออกแบบต้องใช้เวลา ต้องรอการพัฒนา เช่น อาจจะใช้เวลา 1 ปี แต่ระหว่างนี้ก็อาจจะใช้ทำกิจกรรมกระตุ้นพื้นที่ได้ไปก่อนได้ เช่น ดนตรีในสวน ตลาดนัด เพื่อสร้างเศรษฐกิจในชุมชน ก็เป็นแนวนโยบายที่เห็นว่าเริ่มขยับแล้วในหลายพื้นที่”
ยศพล มองว่า เอกชนมีความพร้อมในการทำประโยชน์ให้กับเมือง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เมืองน่าอยู่ กับศักยภาพของเอกชนที่มีอยู่ หากว่ามีการกำหนดพื้นที่พัฒนาที่ชัดเจน ทุกคนก็สามารถที่จะให้การสนับสนุนได้ อย่างที่สอง คือหลายพื้นที่สามารถใช้ทรัพยากรเดิมที่ กทม. มี เช่น หน่วยอนุบาลต้นไม้ หรือสำนักโยธา ก็จะมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เอามาใช้ปรับปรุงพื้นที่ได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณอย่างเดียว แต่เอาสิ่งที่มีอยู่เดิมเอามาใช้ได้
แม้แนวนโยบายเดินหน้ามาในทิศทางที่สอดรับกับภาคประชาสังคม แต่ก็มีความยาก ลำบาก และความท้าทายอยู่หลายเรื่อง เช่น การทำแลนด์แบงก์ต้องใช้การสำรวจ การดูฐานข้อมูล ต้องใช้ความร่วมมือของหลายสำนักใน กทม. และการจะพัฒนาสวนสักแห่งก็ต้องใช้เวลา เพราะอาจไม่ใช่แค่การเข้าไปปลูกต้นไม้เท่านั้น ต้องเป็นสวนที่ตอบรับกับความต้องการของชุมชน เพื่อตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนด้วย ว่าสุดท้ายจะจัดสรรดูแลอย่างไร
“เขตจะดูแลไหวไหม หรือชุมชนสามารถดูแลเองได้ สร้างงานสร้างอาชีพมาเป็นรุกขกร ช่วยดูแลรดน้ำต้นไม้ ออกแบบการใช้ประโยชน์ยังไงต่อ เป็นความท้าทายในสเต็ปต่อไป เป็นสิ่งที่ต้องทำงานอย่างมากในระดับต่อไป”
กลไกความร่วมมือ Bangkok Trust for Public Space
ในระยะยาว ต้องอาศัยกลไกความร่วมมือ ยศพล เสนอให้มีหน่วยความร่วมมือพัฒนาพื้นที่สาธารณะกรุงเทพมหานคร ความร่วมมือในเชิง Third Sector ระหว่างรัฐ เอกชน ประชาชนเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะกรุงเทพฯ
หน่วยงานภาครัฐระดับชาติ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภาครัฐระดับจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร สำนักต่างๆ ของ กทม. ภาคเอกชน เช่น เครือข่ายอสังหาริมทรัย์ ธนาคารผู้จัดการกองทุน ภาคประชาชน ภาคีพื้นที่สุขภาวะ เช่น Healthy Space Forum We Park สถาบันอาศรมศิลป์ ภาคประชาชน สมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย สมาคมรุกขกรรมไทย ฯลฯ
บทบาทสำคัญ 1. เพื่อร่วมกันวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการต่างๆ ทั้งสวน 15 นาที การเปลี่ยนที่ดินเอกชนเป็นพื้นที่สาธารณะ ปลูกต้นไม้ล้านต้น การสร้างพื้นที่สาธารณะอเนกประสงค์ทั่วกรุงฯ Participatory Budgeting 2. ปฏิบัติการขับเคลื่อนพื้นที่ ชุดความรู้ และพัฒนาบุคลากร เช่น กิจกรรมกระตุ้นพื้นที่กายภาพ กิจกรรมอบรม กิจกรรมดูงาน กิจกรรมเสวนาวิชาการ กิจกรรมระดมแรง กิจกรรมการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่ 3. การระดมทุนสนับสนุน เช่น การบริจาค การแบ่งปันทรัพยากร และ 4. การกระจายทุน กระจายงาน อาจร่วมกันปฏิบัติงานตามพันธกิจ ปฏิบัติงานร่วมเป็นครั้งคราว หรือการทำโครงการร่วมกัน
สำหรับกลไกรูปแบบนี้ เป็นหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านสังคม แต่ไม่ได้มีรายได้มาจากการเรียกเก็บภาษี หรือการเรียกเก็บจากทรัพยสินส่วนกลาง เหมือนหน่วยงานภาครัฐ โดยพึ่งพารายได้จากการบริจาค หรืออาจได้รับการรับรองตามกฎหมายของรัฐให้ได้รับส่วนแบ่งรายได้บางส่วน หรืออาจหารายได้ในการดำเนินงานได้ด้วยตัวเอง
“หรือแม้กระทั่งชุมชนจะบริหารจัดการเอง ตั้งกองทุนได้มั้ย รัฐสนับสนุนอย่างไร หารายได้ได้ไหม มันยังมีช่องโหว่อีกหลายจุดที่จะต้องเติมให้ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือ eco system สมบูรณ์ เพราะตอนนี้มันเป็นกระแส แต่ถ้ากระแสนี้หายไป เราไม่รู้ว่าเราได้ประโยชน์จากการช่วยตรงนี้อย่างไร วงล้อมันก็จะหยุดหมุนเพราะมันเป็นแค่กระแส เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพื่อให้ทำงานต่ออย่างต่อเนื่อง”
เมื่อสวนเกิดขึ้นแล้วโจทย์สำคัญคือในระยะยาวจะทำยังไงให้ การบริจาค การลงทุนเกิดซ้ำได้ จึงจำเป็นจะต้องกลับมาคิดถึงประโยชน์ที่คนบริจาคจะได้อะไร ให้เกิดการลงทุนซ้ำ ยศพล มองว่า ควรจะมีการประเมินผลว่า เมื่อพัฒนาพื้นที่ไปแล้ว ได้ประโยชน์หรือไม่ เช่น สวน 15 นาที ทำแล้วประชาชนสุขภาพดีขึ้นจริงไหม เศรษฐกิจดีขึ้นไหม อากาศดีขึ้นไหม สิ่งแวดล้อมดีขึ้นไหม สิ่งนี้จะตอกย้ำว่าคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีการประเมิน ก็จะไม่รู้ว่าทำไปแล้วคุ้มค่าแค่ไหน
“เราเห็นวิธีการทำงานใหม่ ของสำนักต่างๆ ของ กทม. เราห็นแนวนโยบายที่ชัดเจน อยากมองให้เห็นว่ามันไม่ใช่แค่โปรเจคส์และวัดในเชิงปริมาณว่าได้แค่ไหนเท่าไหร่ แต่สิ่งสำคัญคือการมีกลไกที่ยอมรับและทำมาตลอด ที่ผ่านมากลไกขึ้นอยู่กับภาครัฐอย่างเดียว แต่วันนี้กลไกควรจะเปลี่ยนให้ทุกคนได้มามีส่วนร่วมจะเป็นเลกาซี่ที่เกิดกลไกใหม่ ไม่ว่าใครมาเป็นผู้ว่าฯ เมืองก็จะพัฒนาพื้นที่สีเขียว มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยกลไกที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกคนเอง”
พื้นที่สีเขียวคือส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง
สำหรับแนวทางการปลูกต้นไม้ ยศพล กล่าวว่า ทางทีมกำลังทำเรื่องคู่มือหลักเกณฑ์ว่าต้นไม้ชนิดไหนควรปลูกตรงไหน สอดรับกับภูมิประเทศอย่างไร โดยควรจะปลูกในพื้นที่ที่ยังไม่มีต้นไม้มากพอ เช่น พื้นที่ร้าง จึงต้องมาเรื่องการดูแลถ้าสามารถสร้างงานให้กับชุมชน ช่วยหรือช่วยเจ้าหน้าที่เขตร่วมดูแล ก็จะได้ประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมไปด้วยกัน
ส่วนเรื่องต้นไม้ป้องกันฝุ่น ควรมองว่าโครงสร้างพื้นที่สีเขียวก็คือโครงสร้างของเมืองอย่างหนึ่ง ที่ดีต่อระบบนิเวศ นก แมลงต่างๆ การปลูกต้นไม้ล้านต้น ควรปลูกทีเดียวแต่ได้ประโยชน์หลายอย่าง และเป็นประโยชน์ที่ตอบรับกับความท้าทายของเมือง
คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินของเอกชน
ล่าสุด ที่ประชุม กทม. ได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการรับที่ดินเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ หารือความคุ้มค่าและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้สอดคล้องกับระเบียบและข้อกฎหมายปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุดกับกรุงเทพมหานคร เนื่องจากการพัฒนาที่ดินต้องใช้งบประมาณสูง ขณะที่ กทม. จะมีรายได้ลดลงจากการลดภาษีที่ดินในโครงการ
พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ต้องมีเกณฑ์ในการรับว่าจะเป็นที่ไหนบ้าง เพราะไม่ใช่รับที่ดินเข้าโครงการฟรี แต่เท่ากับว่า กทม. เสียรายรับที่ได้จากภาษี จึงต้องมาดูว่าคุ้มไหม หากเป็นพื้นที่ไกล และต้องลงทุนเยอะ อาจจะไม่คุ้ม จึงต้องมีคณะกรรมการเข้ามาดูแล ทั้งสำนักกฎหมาย การคลัง และสิ่งแวดล้อม
“เราพบว่ามีหลายพื้นที่ที่พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้ แต่ต้องคุยกันว่าจะดูแลรักษายังไง หรือเปิดให้ใช้งานได้ยังไงบ้าง เพราะหลายพื้นที่มีรั้วกั้นต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าสามารถใช้ได้ ในรูปแบบสวนพอกเก็ตพาร์ค ที่เหมือนเป็นพื้นที่ปลอดฝุ่น แค่มีเก้าอี้นั่ง มีต้นไม้ อุณหภูมิต่ำ ไม่ต้องใหญ่โต แค่ใกล้ ๆ ประชาชนเข้าถึงได้ บางที่เป็นพื้นที่ตาบอดก็ดี อาจจะทำเป็นพื้นที่เชื่อมต่อก็ได้เพราะบางพื้นที่เป็นทางตัน แต่ถ้าเปิดพื้นที่แล้ว ส่งเสริมการสัญจรให้สะดวกมากขึ้นด้วย”