ระบบการศึกษาไทยต้องเร่งเปลี่ยน ก่อนเด็ก และแรงงานไทยล้าหลังไม่ทันโลกในยุค AI
โลกปัจจุบัน และโลกในอนาคตต้องการคนที่มีทักษะแบบไหน ไปอยู่ในระบบงาน และระบบการศึกษาต้องปรับตัวไปในทิศทางไหน เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกตั้งคำถามใน เวที Education Journey Forum “ฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจและพลวัตของสังคมโลก ต่อความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาไทย” ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ., สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.), และไทยพีบีเอส (Thai PBS)
โดย รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ระบุ งานวิจัย เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ที่สำคัญ ดังนั้น สกสว. มีบทบาทในแง่ของการสนับสนุน การใช้วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศ และเชื่อว่า เรื่องของการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ จึงเห็นความสำคัญของการออกแบบนวัตกรรมใหม่ ๆ ในมิติการพัฒนาคน โดยมองว่ามีหลากหลายภาคส่วนที่เข้ามาให้ความสำคัญในมิติการศึกษา การวางภาพไปข้างหน้าด้วยกันจึงมีความสำคัญ
เมื่อ AI ครองโลก และตลาดไม่ต้องการ “แรงงาน”
อ.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุอาชีพจะเปลี่ยนไปอย่างมากจากการเข้ามามีบทบาทของ AI อาชีพจะหายไปและเกิดใหม่อย่างรวดเร็ว หลังโควิด-19 คนจะไม่ใช่กำลังที่สำคัญอีกต่อไป ธุรกิจจะลดความเสี่ยงด้วยการลดต้นทุน ที่สำคัญคือ ต้นทุนคน ต้นทุนแรงงาน เป็นต้นทุนคงที่ที่สูง การลดต้นทุนส่วนนี้จะทำให้ธุรกิจเสี่ยง ภาพอนาคตธุรกิจจึงจะมองคนหรือต้นทุนแรงงานเป็นภาระ
สัญญาณอันตรายคือคนตกงาน เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 พบว่าทั้งในภาคเกษตรกรรม การเงิน ค้าปลีกค้าส่ง การสื่อสารและโทรคมนาคม ไม่ได้ต้องการแรงงานมาสักพักใหญ่แล้ว โจทย์ยาก คือ จะสร้างคนในโลกที่ไม่ต้องการแรงงาน ไม่ต้องการคนได้อย่างไร โดยยกตัวอย่างคน 4 กลุ่มที่จะเดินไปในโลกแห่งอนาคตได้ คือ
- กลุ่มเก่งนำหน้าปัญญาประดิษฐ์ (Job innovator) เป็นกลุ่มที่มีทักษะครบ 10 ประการ สามารถสร้างงานใหม่เองได้แม้ต้องตกงาน เช่น อาชีพเกมแคสเตอร์, ยูทูบเบอร์ น่าจะมีประมาณ 5% ของกำลังแรงงาน เป็นกลุ่มที่สร้างยากและใช้ต้นทุนสูง
- กลุ่มซุปเปอร์เป็ด (Super Multitasker) สามารถทำงานได้หลายอย่าง ธุรกิจเปลี่ยนไม่เริ่มจากศูนย์
- กลุ่มอึดถึกทน (Hardy Worker) กลุ่มนี้อยู่ได้เพราะยอมทำงานหนัก แต่วันหนึ่งจะถูกปล่อยออก
- กลุ่มหนีตลาด (Market Disengager) เช่นกลุ่มที่กลับบ้าน ไปทำงานที่บ้านในยุคโควิด-19
การแยกกลุ่มเด็กจึงมีความสำคัญ ไม่ควรแยกเป็นห้องเก่งไม่เก่ง แต่ต้องแยกตามกลุ่ม ความหลากหลายของทักษะ และความถนัดของเด็ก แนะจัดห้องตามแครักเตอร์ ไม่ใช่การจัดตามผลสอบ ความสำเร็จของคนเกิดจาก 3 ส่วน คือ ความเก่ง การมองโลก และโอกาส จำเป็นต้องออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงโลก และตลาดแรงงานจึงมีความสำคัญ หากยังไม่แก้ปัญหานี้ ช่องหว่างระหว่างทักษะจะห่างกันมากขึ้น และไทยจะแข่งขันกับโลกได้ยากมากขึ้น
เวลาจะพูดถึงการศึกษายุคใหม่จำเป็นต้องมี 7 คีย์เวิร์ด ประกอบด้วย การเรียนตามสะดวก เปรียบได้กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life long learning), ตามสบาย หมายถึง การเลือกแพลตฟอร์มที่เด็กถนัด, ตามอัธยาศัย หมายถึงการเรียนตามความสนใจ, ตามทันโลก, ตามอยู่เรื่อย ๆ, ตามช่วงวัย, และ ตามบริบทของพื้นที่
ไทยใช้หุ่นยนต์ 26,000 ตัว ใช้ AI ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก สะท้อนทักษะแรงงานพัฒนาไม่ทัน
อนาคตถูกเปลี่ยนด้วย 2 มิติหลัก คือ มิติทางสังคม และมิติทางเทคโนโลยี เกิดช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้น เพราะความก้าวหน้าในทางการแพทย์ และการเกิดใหม่ พลังที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอนาคตจึงไม่สามารถแยก 2 มิตินี้ออกจากกันได้ สหวรัชญ์ พลหาญ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ยกตัวอย่าง เทคโนโลยีที่มีผลในเชิงสังคม และระบบการศึกษาที่เปลี่ยนไป ผ่านการใช้ AI ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น
- เครื่องจักร Sherlock เป็นเครื่องจักรที่ใช้สอนมนุษย์ได้ สามารถสอนช่างบำรุงอากาศยานของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาระบบไฟฟ้าในเครื่องบิน
- เครื่องจักร ที่สามารถวินิจฉัยโรคให้กับมนุษย์ได้ เช่น เครื่องจักรชื่อ IBM Watson สามารถวินิจฉัยคนไข้โรคมะเร็ง และเสนอแนวทางการรักษาได้ โดยปัจจุบันนำไปใช้ที่โรงพยาบาล Manipal ประเทศอินเดีย
- เครื่องจักรที่สามารถทำการบ้าน เขียนรายงาน และทำข้อสอบได้ เช่น นักศึกษาจำนวนหนึ่งใช้ ChatGPT หรือ แชทบอทของ บริษัท OpenAI ที่เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2022 ในการเขียนการบ้านส่งอาจารย์ หรือกระทั่งใช้ทำข้อสอบปลายภาค
อ.สหวรัชญ์ ย้ำว่า ปรากฎการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากความชาญฉลาดของเครื่องจักร (Machine / Artificial Intelligence) เพราะสามารถทำงานได้หลากหลายระบบมากขึ้น แตกต่างจากแต่ก่อนที่เครื่องจักรเป็นได้เพียงเครื่องช่วยผ่อนแรงของมนุษย์เพียงอย่างเดียว
ข้อมูลจาก International Federation of Robotics (IFR), 2017 ระบุ 4 ประเทศที่มีจำนวนหุ่นยนต์ต่อแรงงาน ในภาคอุตสาหกรรมสูงสุดในโลก ประกอบด้วย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เยอรมนี และญี่ปุ่น ขณะเดียวกันในประเทศเหล่านี้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญ มีแรงงานทักษะสูง ที่สามารถใช้เครื่องจักรได้ สิ่งที่กระทบแรงงานโดยตรงคือการพัฒนาทักษะให้เท่าทันกับเทคโนโลยี
หันมาที่ ประเทศไทย เริ่มลงทุนกับหุ่นยนต์มากขึ้น หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2012 เพราะโรงงานจำเป็นต้องลงทุนเครื่องจักรใหม่เกือบทั้งหมด ประกอบกับ ค่าจ้างขึ้นต่ำ 300 บาทถูกปรับขึ้น และความยากในการหาแรงงาน แต่การใช้จะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยาง และพลาสติก เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน เพราะเป็นอุตสาหกรรมเหล่านี้มีต้นทุนสูง เหตุผลที่หุ่นยนต์ไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก เพราะทักษะแรงงานไทยไม่เอื้อ ขาดแคลนแรงงานกลุ่ม STEM และขาดทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ
แนวโน้มในอนาคตยังต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างคน กับ เทคโนโลยี ซึ่งลักษณะของงาน และแรงงาน แบ่งเป็น การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ตรรกะ, ใช้ความรู้สึกและทักษะทางสังคม, กลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มที่ทำงานลักษณะซ้ำ ๆ เช่น การคุมงานสายงานการผลิต โดยพบว่า กลุ่มแรกจะสามารถปรับตัวกับการทำงานกับเทคโนโลยีได้ดี กลุ่มถัดมา คือ กลุ่มที่ใช้ทักษะทางสังคม ไม่สามารถส่งความรู้สึกละเอียดอ่อนให้กับมนุษย์ และกลุ่มสุดท้ายทำตามแบบแผน ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้ง่ายมากที่สุด
ผลการวิจัยทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนรุ่นใหม่ เน้นไปที่ ทักษะการคิด เพื่อประยุกต์ใช้ความรู้ในบริบทใหม่ๆ ได้ และใช้องค์ความรู้เป็น, ทักษะการพัฒนาตนเอง เพราะทักษะและความรู้ของคนจะล้าสมัยเร็วมากขึ้น, ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการสื่อสาร, ทักษะด้านสัมพันธภาพกับบุคลคนอื่น, ทักษะด้านการปรับตัว, ทักษะด้านเศรษฐศาสตร์, ทักษะด้านการเป็นผู้นำและพลเมืองที่ดี
นักรัฐศาสตร์ ชี้ 40 ปี ปฏิรูปการศึกษาไทยสำเร็จน้อยที่สุด เพราะมีแรงต้าน
ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอง 4 ปัจจัย ที่ทำให้สังคมไทยปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ
- อุตสาหกรรมไม่ปรับตัว เศรษฐกิจเติบโตแบบกลาง ๆ และไม่ได้ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงอย่างแท้จริง
- ผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครอง ก็ไม่ได้ตระหนักว่าต้องเปลี่ยน
- ต้นทุนในการไม่เปลี่ยนต่ำ เพราะไม่เปลี่ยนเศรษฐกิจก็ยังเติบโต
- มีผู้ได้ประโยชน์จากการไม่เปลี่ยนแปลง เช่น พรรคการเมือง ระบบการปกครองแบบอนุรักษ์นิยม ที่พอใจที่ได้ประโยชน์จากการไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่มีช่วงเวลาไหนที่เหมาะสมที่สุดจะเปลี่ยนอีกแล้ว โดยจากการสำรวจพบว่าทั้งมิติของ ผู้เรียน ผู้ปกครอง พรรคการเมือง ผู้ประกอบการ ตระหนักถึงการจ้างงานที่เปลี่ยนไปของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะผู้ปกครอง ในช่วง GEN Y มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แรงงานที่เป็น GEN X เป็นแรงงานที่มีความเสี่ยง และไม่เชื่อว่า ต้องเปลี่ยนจริง ๆ
โดยย้ำว่า ยุคนี้เหมาะที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลง เพราะมีเนื้อหา และแนวทางเพิ่มมากขึ้นที่จะเปลี่ยนระบบการศึกษา ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ถ้าไม่เปลี่ยนจะกลับมาไม่ได้อีกแล้ว และมันจะมีต้นทุนที่สูงมากขึ้น การปฏิรูปการศึกษาสำคัญ เป็นพื้นฐานสำคัญไปสู่การเปลี่ยนอย่างอื่น ถ้าการศึกษาไม่เปลี่ยนจบ และไม่ต้องเปลี่ยนอย่างอื่นอีกแล้ว ขณะที่พลังที่ต่อต้านการเปลี่ยน มีความชอบธรรมน้อยลงที่จะไม่เปลี่ยนแปลง
สหวรัชญ์ พลหาญ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. เพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดในวงกว้าง ต้องเปลี่ยนแปลงระบบไปด้วย โดยไม่ใช่การละทิ้งระบบ แต่จำเป็นต้องเสริมพลังการเปลี่ยนแปลง ทั้งมิติการศึกษา และเทคโนโลยี
อ.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ย้ำว่า ต้องไม่ลืมแบ่งกลุ่มการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ความเข้มข้นของแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน จึงควรใช้เป็นฐานเพื่อการสร้าง และเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในอนาคตต่อไป
รศ.อนุชาติ พวงสำลี ทิ้งท้าย ต้องปรับการมองคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง แต่เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในอนาคตมากที่สุด เพราะเจอกับความกดดันมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ หากเวลานี้เป็นความสุกงอมที่มีหลายปัจจัยเอื้อให้ไทยเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูประบบการศึกษา ก็ควรเร่งเดินหน้าลงแรงให้การศึกษาเกิดการเปลี่ยน และเป็นทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อให้การผลผลิตอย่างเด็กและเยาวชน มีความหลากหลายและรองรับการใช้ชีวิตในโลกอนาคตได้จริง โดยในวันที่ 18 ก.พ.66 จะมีการเปิดเผยงานวิจัยมิติการศึกษา เพื่อทำให้การผลักดันการเปลี่ยนแปลงอยู่บนพื้นฐานของการข้อมูล ความรู้