ยกเพดานประชาธิปไตย พลวัตการเคลื่อนไหว 2563 | ประภาส ปิ่นตบแต่ง

การเมืองบนท้องถนนปี 2563” ที่เต็มไปด้วยการชุมนุมประท้วงของนักเรียน นักศึกษา ที่อาจจะดูวุ่นวายสำหรับใครหลายคน

แต่ในถนนที่ถูกปิดนั้น มีบางสิ่งที่ถูก เปิด และ เคลื่อนไหว อยู่ และดูเหมือนว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอาจจะทรงพลังถึงขนาด สั่นคลอนระบอบ ที่ฝังรากในสังคมไทยมาช้านาน

ก่อนขบวนเยาวชนบนท้องถนน จะก้าวข้ามไปสู่ปี 2564 The Active สนทนากับ รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาพลวัตการเมืองบนท้องถนน มาตั้งแต่ยุคที่ถนนถูกใช้เป็นเครื่องมือเรียกร้องการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ในช่วงทศวรรษ 2530 เพื่อวิเคราะห์ จังหวะเท้า ของเยาวชนบนท้องถนนที่เกิดขึ้นตลอดปี 2563

เผด็จการอำนาจนิยม จุดกระแสเคลื่อนไหวร่วมของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก

รศ.ประภาส เริ่มต้นว่า กระแสความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ในสังคมไทย แต่เป็นกระแสในระดับสากล หรือเป็น กระแสร่วมสมัย ที่เกิดขึ้นทั่วไป มีลักษณะร่วมกัน คือ คนรุ่นใหม่ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา เป็นพลังหลักที่ออกมาเคลื่อนไหว เช่น เหตุการณ์ที่ฮ่องกง หรืออาหรับสปริง รวมทั้งในยุโรป อเมริกา หรือกรณี Black Lives Matter เพื่อเรียกร้องความไม่เป็นธรรมให้การเสียชีวิตของคนผิวสี

เมื่อถามว่าอะไรเป็นรากเหง้าของปัญหาที่ทำให้เกิดพลวัตแบบนี้ คำตอบ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันทั่วโลก คือ การถดถอยของประชาธิปไตย ก่อนหน้านี้ประเทศในลาตินอเมริกาก็คล้ายกับไทย คือ ประมาณทศวรรษ 1980 เป็นการต่อสู้กับเผด็จการทหาร เกิดกระแสประชาธิปไตยโดยภาคประชาชน และเกิดขบวนการเคลื่อนไหวโดยภาคประชาชนมากมาย โดยมีการเติบโตอย่างเด่นชัดในปี 1990

แต่พอเข้าสู่ศตวรรษ 2000 ทั่วโลกรวมทั้งไทย ก็เกิดกระแสที่มีลักษณะร่วมกัน คือ การถอยกลับไปสู่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ทหารกลับมา หรือฝ่ายขวาเข้ามาครองอำนาจมาก

“ของไทยจะสังเกตว่าปัญหาประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมที่เราเห็นในปัจจุบัน มันเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร 2557 หรือก่อนหน้านั้นก็มีขบวนการตั้งแต่ปี 2553 มีขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง แต่ว่ามันก็ตกต่ำถดถอย ถูกปราบปราม และจบด้วยการถูกสลาย”

โซเชียลมีเดีย อาวุธทรงพลังของคนรุ่นใหม่

การเปลี่ยนแปลงของ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ รศ.ประภาส เห็นว่าทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวร่วมกันทั้งโลก อินเทอร์เน็ต สร้างพื้นที่เคลื่อนไหวใหม่ ๆ และยังสร้างพลังต่อรองบนพื้นที่สื่อออนไลน์ที่คนรุ่นใหม่มีทักษะในการเข้าไปใช้พื้นที่

ถ้ามองในบริบทการเกิดขึ้นของขบวนการทางสังคม การระดมผู้คน หรือหากเป็นภาษาเก่า คือ จัดตั้ง ภาษาใหม่คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่จะทำให้คนซึ่งเห็นร่วมกัน มีความโกรธ หรือไม่พอใจต่อระบบที่เป็นอยู่ เกิดความไม่พอใจเรื่องการเมืองแบบอำนาจนิยม หรือระบบการศึกษา มิติทางวัฒนธรรม เพศสภาพ ไปจนถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์

อินเทอร์เน็ต ทำให้คนที่เห็นร่วมกัน สามารถพบ พูดคุย และแลกเปลี่ยนกันได้ พัฒนาความคับข้องใจ ความไม่พอใจ ให้แปรเป็นพลัง สามารถจะนัดชุมนุมคนจำนวนมาก ๆ ได้ง่าย ยกตัวอย่างการประท้วงในประเทศชิลี ที่สามารถนัดชุมนุมเป็นล้านคนได้เมื่อปีที่ผ่านมา และยังทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนจากพื้นที่ออนไลน์ไปสู่พื้นที่ออฟไลน์ โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนมาก ทำให้เวลาและสถานที่เข้าใกล้กัน

“ที่สำคัญคือ มีผลต่อรูปแบบ การปราบปราม ของรัฐ ถ้าเทียบเคียงกับขบวนการเสื้อแดงในอดีตที่เป็นการจัดตั้งแบบเก่า องค์กรเคลื่อนไหวก็มีลักษณะมีลำดับชั้น ขึ้นกับผู้นำ และยังสัมพันธ์กับเครือข่ายนักการเมือง ก็จะถูกรัฐจัดการได้ง่าย”

แต่ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตทำให้การควบคุมโดยรัฐเป็นไปอย่างลำบาก เพราะมีทั้งมิติเรื่องการระดมการแลกเปลี่ยน และการสร้างประเด็นร่วมกันสามารถทำได้เร็ว ผู้คนมีอิสระที่จะสร้าง Network ทำอย่างไรก็ไม่สามารถควบคุมได้หมด ถ้าถูกปิด ก็สามารถเปิดใหม่ไม่ยาก เด็กเล็ก ๆ ก็สามารถทำได้

“ถามว่าทำไมขบวนการเสื้อแดงไม่สามารถไปต่อได้นั้น คิดว่าในเชิงพลวัต เราจะเห็นตรงนี้ชัดว่า เด็กสามารถเข้าถึง และใช้สิ่งซึ่งคนอื่นอาจจะมีทักษะน้อย ไม่เห็นพื้นที่ช่องทางนี้ว่าจะเอามาช่วยในเรื่องการเคลื่อนไหวได้ รัฐก็คุมยาก”

สร้างชุดคำอธิบายถึงโครงสร้างปัญหา

อีกพลวัตสำคัญของขบวนการเยาวชนก็คือ การสร้าง ชุดคำอธิบาย ได้ถึงโครงสร้างปัญหา รศ.ประภาส กล่าวว่า สังคมไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้างอยู่แล้ว ทั้ง อำนาจนิยม ในทางการเมือง ไม่ว่าจะเรียกว่าอำนาจนิยมแบบเผด็จการ หรือประชาธิปไตยแบบจารีตนิยม

ถ้ามองขบวนการเคลื่อนไหวอย่างสังเคราะห์ จะเห็นการสร้างชุดของคุณค่าความหมาย มันทำให้เราเห็นสาเหตุของปัญหาที่ดำรงอยู่ในเรื่องอำนาจนิยม เห็นว่ามันเป็นปัญหาอย่างไร เราจะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไร สังคมการเมืองที่ดี หรือมิติเรื่องของวัฒนธรรมที่ดี ควรจะเป็นอย่างไร ไปจนถึง อำนาจที่กดทับ ในระบบการศึกษา

“ผมคิดว่านี่คือสิ่งดี ๆ ที่เราเห็นจากขบวนการนี้ ทำให้ผู้คนในสังคมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเห็นร่วมกันว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่ามันไม่ใช่ทั้งสังคม เพราะบางส่วนเขาก็อาจจะไม่ได้เห็นด้วย”

กีดกัน มองเป็นศัตรู : วิธีการรับมือของภาครัฐ

ในด้าน วิธีการรับมือ ของภาครัฐ รศ.ประภาส ชี้ให้เห็นว่า มีลักษณะ Exclusive คือ กีดกัน มองเป็นศัตรู มองเป็นสิ่งแปลกปลอมของสังคมที่ต้องจัดการหรือปราบปราม ไม่ได้มีลักษณะแบบ Inclusive หรือร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งรูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือการสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันหรือหน้ารัฐสภาเกียกกาย

ที่สำคัญ คือ เมื่อรัฐมองผู้ชุมนุมด้วยท่าทีแบบนี้ ทำให้แทนที่จะแก้ปัญหาโดยอาศัย พื้นที่ในการเมืองปกติ เช่น ระบบรัฐสภา แต่กลายเป็นว่ากลไกที่เป็นทางการแบบนี้ กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ และจากเงื่อนไขนี้เองที่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้ง แหลมคม ยิ่งขึ้น

“เราควรจะพยายาม ประคับประคอง ให้สิ่งที่เกิดขึ้น อยู่ในพื้นที่การเมืองปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่าเราเห็นสิ่งที่รัฐบาลรับมือในทางตรงกันข้าม ทั้งการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน การตั้งกรรมาธิการซึ่งมีคนที่ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือเคยอยู่ในโครงสร้างการปฏิรูป ที่สร้างความพิการต่อระบบในปัจจุบัน แต่ได้กลับมาอยู่ในกรรมาธิการอีก”

เครือข่ายอำนาจเดิมหดแคบลง

แม้ในการชุมนุมแต่ละครั้งมีคนเห็นด้วยจำนวนมาก แต่ก็ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งประเมินว่าคนที่ไม่เห็นด้วย ก็คือคนที่อยู่ในวงของรัฐบาล หรือ เครือข่ายอำนาจ ที่อาจสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง แต่ก็ประเมินว่าจำนวนคนกลุ่มหลังนี้จะ หดแคบลง ไป คือมีคนที่ถอยกลับมาเป็นฝ่ายกลาง ๆ มากขึ้น

“แน่นอนว่าในวงขอบของฝ่ายต่อต้านเด็กยังมีอยู่แน่ ๆ แต่ก็อยู่ในเครือข่ายอำนาจ ซึ่งคิดว่า ไม่เติบโต ไม่ขยาย จะมีแต่คนที่เป็นเครือข่ายใกล้ชิด หรือผ่านเครือข่ายการจัดตั้ง เช่น เวลาเราดูกิจกรรมงานในจังหวัดต่าง ๆ ก็จะเห็นการระดมเครือข่ายผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ในระบบราชการที่ลงไปเกี่ยวโยงกับกลุ่มหรือโครงการพัฒนาที่ลงไปในระดับพื้นที่”

และแม้อาจจะมีบางส่วนที่มาด้วยใจและอุดมการณ์ แต่คิดว่าส่วนใหญ่ก็จะสานกันด้วยผลประโยชน์หรืองบประมาณ เป็นเครือข่ายที่ ทำงานกับระบบราชการ ที่ลงไปจัดตั้ง เครือข่ายพวกนี้มีลักษณะกว้างขวาง ตามกลไกระบบราชการ แต่มีความเหนียวแน่นไม่มาก

มองข้อเสนอ เห็นโครงสร้างปัญหา

รศ.ประภาส วิเคราะห์ด้วยว่า หากมองสถานการณ์ขณะนี้ จะเห็นการต่อสู้ระหว่าง “เสรีนิยม” กับ “อนุรักษ์นิยม” เป็นช่วงที่ทั้งสองฝ่าย เปิดหน้าสู้ กันอย่างชัดเจน มีทั้งการระดมมวลชน การจัดตั้ง การสร้างชุดความคิด หรือกรอบโครงเพื่ออธิบายอีกฝ่ายแบบศัตรูและไม่ยอมรับ เช่น ชังชาติ หรือรับทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขบวนเคลื่อนไหวของฝ่ายเยาวชนจะมีการเสนอความเห็นที่หลากหลาย อย่างล่าสุด ที่มีการหยิบประเด็น “สาธารณรัฐ” ขึ้นมา จนทำให้เริ่มมีการตั้งคำถามนั้น รศ.ประภาส มองว่า ขบวนหลักก็ยังเน้นเรื่อง การปฏิรูป เพื่อสร้างและจรรโลง ประชาธิปไตย การปฏิรูปให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนความคิดเรื่องสาธารณรัฐที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่าเด็กคิดแบบนั้น คิดว่าไม่ใช่กรอบโครงหลักของฝ่ายเคลื่อนไหว

พร้อมย้ำว่าไม่ควรมองปรากฏการณ์เล็ก ๆ แล้วไปเชื่อมโยงสรุปทั้งหมด แบบที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมชอบนำประเด็นเล็ก ๆ ไปเหมารวม เช่น บอกว่าเด็กไม่เอาเจ้า เด็กจะเอาสาธารณรัฐ ทั้งที่ควรดูในเชิงภาพใหญ่ของข้อเสนอทั้งหมด ไม่ด่วนสรุปจากปรากฏการณ์เล็ก ๆ

“ยกตัวอย่าง เช่น เห็นการพ่นสีคำบางอย่างบนถนน แล้วเอาเป็นจริงเป็นจังว่า นั่นคือจุดหมายของขบวนการ ผมคิดว่าผิด เพราะใครจะทำก็ได้ หรืออาจจะเป็นเฉพาะคน ไม่ได้เป็นจุดร่วมกันของทั้งขบวนการ แต่เราต้องดูสิ่งที่เขาประกาศร่วมกันที่เป็นทางการ”

และหากมองกรอบคิดของฝ่ายเยาวชน ก็จะความพยายามนำเสนอให้เห็น ปัญหาของระบบอำนาจนิยม ในการเมือง ในมิติวัฒนธรรม และการศึกษา แต่หากมองที่ชุดความคิดหรือการให้คุณค่าความหมายของฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับไม่มีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ บอกแค่ว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นมันดีอยู่แล้ว และเด็กเป็นพวกถูกต่างชาติจ้างมา

“คือพูดเหมือนกันหมด โจมตีประเด็นด้วยคำใหญ่ ๆ เช่น ชังชาติ ล้มเจ้า ก็จะวนเวียนแบบนี้ ซึ่งคิดว่าแบบนี้อันตราย เพราะไม่ได้มองให้เห็นถึงปัญหาของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ ที่มีคนออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมาก”

“สั่นคลอน” คุณค่าระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย

แม้จะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากอำนาจนิยมที่อยู่เบื้องหลัง แต่ก็ต้องยอมรับว่าฝ่ายเคลื่อนไหวที่มีเยาวชนเป็นแกนนำ ไม่ได้มีพลังมากพอ ที่จะไปเปลี่ยนระบอบอำนาจนิยมที่ยังดำรงอยู่ได้ ถึงขนาดที่อาจารย์บางคนใช้คำว่า เป็นระบอบการเมืองไทยแบบรวมอำนาจที่เข้มแข็งมากที่สุด ทั้งในแนวตั้งและแนวขวาง

“แน่นอนว่าอำนาจนิยมมีความเปราะบางในเรื่องความชอบธรรม แต่มีความเข้มแข็งมากในเรื่องการใช้กำลังบังคับ เรื่องของกลไกการปราบปราม การสั่งการในระบบราชการ และกลไกการจัดตั้งมากมาย คือเขาไม่ต้องรัฐประหาร ก็คุมได้หมดทุกอย่าง ปีข้างหน้าก็จะเป็นอย่างนี้”

แม้จะมีพลังต่อกรน้อยกว่า แต่ รศ.ประภาสเห็นว่า อย่างน้อยที่สุด ฝ่ายเยาวชนก็สามารถ พัฒนาชุดคุณค่า ความหมายให้สังคมได้เห็นความ พิการของระบอบอำนาจนิยม ในหลาย ๆ มิติ

“ผมคิดว่ามันเกิด สึนามิทางวัฒนธรรม ไปแล้ว ถ้าขยายความ คือ มันเปลี่ยนความสัมพันธ์ของผู้คน ทั้งในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันฯ เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงให้เห็นถึงปัญหาเพื่อจะตอบคำถามว่าทำไมต้องปฏิรูป”

อาจารย์ยกตัวอย่างกรณีนักเรียนเลว ที่สามารถสั่นคลอนระบบการศึกษาได้อย่างมาก และเมื่อมันเกิดขึ้นในพื้นที่ทางสังคม แม้ในทางนโยบายและกฎหมายจะยังไม่ถูกแก้ แต่ในทาง ความรับรู้ มันไปไกลมาก พูดง่าย ๆ คือ คนเปลี่ยนแล้ว มันหยุดไม่ได้แล้ว เพราะสังคมมันเปลี่ยนไปแล้วในมิติทางวัฒนธรรม เปลี่ยนชุดความคิดความเชื่อไปแล้ว แม้ระบอบเก่าจะยังลงหลักปักฐานได้อยู่ ซึ่งคงต้องมองกันในระยะยาว หรือพูดอีกแบบ คือ สู้กันในระยะยาว

เชื่อมประเด็นร่วม ให้ความฝันของเด็ก เป็นความฝันร่วมของทั้งสังคม

เมื่อถามว่าจะทำให้มีพลังจนถึงขั้นเปลี่ยนระบอบได้อย่างไร รศ.ประภาส ให้ย้อนมองบทเรียนจากประเทศชิลีที่เริ่มจากการขึ้นราคาค่ารถเมล์ ส่งผลให้เด็กต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเดินทางไปเรียนหนังสือ ก็เลยออกมาเคลื่อนไหวกัน และยกระดับไปสู่ประเด็นปฏิรูปการศึกษาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจปากท้อง ความเหลื่อมล้ำในค่าเรียน ไปสู่ประเด็นรัฐสวัสดิการ และปีที่แล้วก็ยกระดับเป็นเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมือง

“ต้องขยายไปสู่ประเด็นที่ไม่ใช่ของเยาวชนเท่านั้น ต้องเชื่อมโยงให้เห็นว่ามัน เป็นประเด็นร่วม ซึ่งในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มากขึ้น อย่างที่เห็นปัญหาภาคประชาชน ปัญหาแรงงาน หรือ LGBT ที่ขึ้นปราศรัยบนเวที เริ่มขยับเข้ามา เพราะถ้าจะให้มีพลัง ก็ต้องขยายไปสู่เครือข่ายเหล่านี้ เพื่อให้ความฝันของเด็ก เป็น ความฝันร่วม ของผู้คนทั้งสังคม”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์