3 มาตรการคุมระบาด ฟื้นตลาด ฟื้นชุมชน

เมื่อ “ตลาด” คือ พื้นที่สำคัญของชุมชน “การปิดความเสี่ยงระบาดของโควิด-19” ในพื้นที่นี้จึงเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรถูกมองข้าม

มาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคในเวลานี้ อาจยังไม่เพียงพอ หากต้องการประคับประคองปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำ ที่ไม่เพียงแค่ผู้ค้าขายภายในพื้นที่ตลาดเท่านั้น แต่ยังหมายถึง “ทุกชีวิต” ที่พึ่งพาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกันระหว่าง ตลาด และ ชุมชน

การพบแรงงานข้ามชาติ 120 คน ติดเชื้อโควิด-19 ในตลาดคลองเตย กรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 และสถานการณ์การระบาดใหญ่ในตลาดหลายคลัสเตอร์

ไล่เรียงตั้งแต่ ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เมื่อเดือนธันวาคม 2563

ตลาดสุชาติและตลาดพรพัฒน์ ย่านรังสิต จ.ปทุมธานี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ตลาดบางแค เขตบางแค กรุงเทพฯ ช่วงเดือนมีนาคม

ตลาดกลางกุ้ง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ตลาดสดเทศบาลนครนนทบุรี – ตลาดสดสมบัติ (ท่าน้ำนนทบุรี) จ.นนทบุรี

และ ล่าสุด ตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ รวมถึง ตลาดสี่มุมเมือง รังสิต ที่พบผู้ติดเชื้อถึง 867 คน ทำให้ “ตลาด” ถูกจับจ้อง เป็นจุดเสี่ยงการแพร่เชื้อ

การทยอยปิดตลาดโดยยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพื่อป้องกันเอาไว้ก่อน และการปิดตลาด เพื่อควบคุมการระบาด กรณีที่พบการติดเชื้อ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในเวลานี้

แต่เมื่อมองที่ความสำคัญของตลาด ที่ไม่ใช่แค่พื้นที่แลกเปลี่ยนซื้อขายข้าวของเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ชีวิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เศรษฐกิจฐานรากของผู้คนในชุมชนเล็ก ๆ หรือแม้แต่คนที่ตกงาน ให้สามารถนำผลผลิตที่ปลูกเอง หรือสินค้าที่ทำเอง มาวางจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้

ขณะเดียวกัน ก็เป็นพื้นที่ทางอาหารสำคัญ ที่ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ ยิ่งในช่วงภาวะวิกฤต ที่รายได้ลดลง และต้องประหยัดค่าใช้จ่าย การปล่อยให้ตลาดกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง ไม่ปลอดภัย และนำมาสู่การปิดตลาด ที่กระทบต่อชีวิตผู้คนและชุมชน จึงไม่ควรเกิดขึ้น

เมื่อ “ตลาด” พื้นที่สำคัญของชุมชน กลายเป็นพื้นที่เสี่ยง
ไม่ควรผลักให้พ่อค้าแม่ค้า และเจ้าของตลาดต่อสู้อย่างลำพัง

บทเรียนการระบาดหลายระลอก ทำให้เห็นว่าตลาดหลายแห่งพยายามปรับเปลี่ยนให้มีความปลอดภัย โดยความร่วมมือกันของเจ้าของตลาด พ่อค้าแม่ค้า รวมถึงความรับผิดชอบของผู้บริโภค ที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธาณสุขอย่างเข้มงวด ทั้งการกำหนดทางเข้า-ออกทางเดียว, ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ, สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน , รักษาระยะห่าง, ติดตั้งจุดล้างมือ หรือจุดกดแอลกอฮอล์เจล

นอกจากนี้ ยังมี ความร่วมมืออื่น ๆ เช่น การรายงานไทม์ไลน์ และกักตัวพ่อค้าแม่ค้าที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง รวมถึงการเฝ้าระวังอาการระหว่างพ่อค้าแม่ค้าและลูกจ้างแรงงาน

แต่หากขาดการตรวจคัดกรองเชิงรุก ก็อาจไม่ทันต่อสถานการณ์… เพราะจากการสำรวจ ตลาดบางแห่ง ระบุว่า การระบาด 3 ระลอกที่กินเวลานานกว่า 1 ปี มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกทั้งตลาด และการสุ่มตรวจเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น

นักเศรษฐศาสตร์ เสนอตั้งทีมตรวจคัดกรองเชิงรุก คุมการระบาดในตลาดและชุมชน ให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ

ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ระบุว่า ปัจจุบันความสามารถในการค้นหาผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ยังไม่เพียงพอกับสถานการณ์และธรรมชาติของการระบาด เพราะกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดมากถึง 641 แห่ง ชุมชนเมือง 459 ชุมชน มีตลาดสด 389 แห่ง ยังไม่นับรวมตลาดนัด หาบเร่แผงลอย ขณะที่ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรค ตรวจคัดกรองเชิงรุกที่มีอยู่ไม่เพียงพอและทำงานอย่างหนัก

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ จาก TDRI ได้จัดทำข้อเสนอต่อที่ประชุมของคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 โดยมีข้อเสนอสำคัญ 3 ข้อ

จัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรค หรือ TTI

ข้อเสนอแรก เร่งดำเนินการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรค หรือ TTI คือ Test-Trace-Isolate ในเขตกรุงเทพฯ เพิ่ม อย่างน้อย 200 ทีม (จาก 180 แขวง) เพื่อให้การตรวจคัดกรองเชิงรุกรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ เข้าถึงทุกชุมชนแออัด ชุมชนเมือง รวมถึงตลาด

สำหรับบุคลากรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ใน 200 ทีมที่เสนอนั้น รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและระบาดวิทยา และนักวิชาการด้านสื่อสาร ยืนยันว่า มีบุคลากรที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้อย่างเพียงพอ

“ระยะสั้นอาจระดมทีมสอบสวนโรคที่มีประสบการณ์จากจังหวัดอื่น ที่สถานการณ์การระบาดค่อนข้างน้อย รวมถึงบัณฑิตสาธารณสุข ที่เรียนจบแล้วยังไม่ได้ทำงาน ซึ่งมีข้อมูลว่าประมาณ 30,000 คน เข้ามาทำหน้าที่เป็นบุคลากรในทีม TTI 200 ทีมที่ว่านี้ได้ ซึ่งจะทำให้การตรวจคัดกรองเชิงรุก เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทันต่อสถานการณ์”

แฟ้มภาพ: รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร

เชื่อมโยงมาตรการควบคุมโรค กับมาตรการด้านเศรษฐกิจและสังคม

ข้อเสนอที่ 2 คือการเชื่อมโยงมาตรการควบคุมโรคกับมาตรการด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะมาตรการเฝ้าระวังสอบสวนโรคในเชิงรุก ย่อมมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบางในชุมชนแออัดนับล้านคน

และเพื่อสร้างแรงจูงใจของความร่วมมือในการเข้าตรวจคัดกรอง เพราะแน่นอนว่า เหตุผลที่ทำให้หลายคนที่ไม่อยากเข้าร่วม เพราะหากพบเชื้อ ต้องกักตัว อาจหมายถึงรายได้ ชีวิตครอบครัวเขา ดังนั้น ต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้ได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่เขาควรได้รับ เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการต่าง ๆ เช่น เราชนะ แต่ยังพบปัญหาการตกหล่นของแรงงานนอกระบบ หรือกลุ่มคนด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐ

โดย รศ.นิพนธ์ ยกตัวอย่าง การจ้างงานระยะสั้นในกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกับพื้นที่การระบาด เช่น พนักงานโรงแรม ร้านอาหาร และพนักงานขับรถ เพื่อให้ทำอาหารหรือขนส่งอาหารให้กับอาสาสมัครหรือประชาชนในพื้นที่ระบาด หรือการจ้างงานคนดูแลผู้ป่วยติดเตียง กรณีที่อยู่คนเดียวเพราะญาติติดเชื้อหรือต้องกักตัว

แฟ้มภาพ: รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร

ส่วนมาตรการระยะกลาง รัฐควรร่วมมือกับ กทม. และจังหวัดต่าง ๆ ปรับปรุงโครงสร้างระบบสุขาภิบาลตลาด โดยให้รัฐสนับสนุนเงินอุดหนุนบางส่วนแก่เทศบาลและเอกชนเจ้าของตลาด

ตั้ง CEO และปรับโครงสร้างบริหารจัดการโควิด-19 ของ กทม.

และข้อเสนอสุดท้าย ให้แต่งตั้ง CEO และปรับโครงสร้างบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของ กทม. เพราะ ศบส. ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติการ จึงต้องกระจายอำนาจการดำเนินงานลงสู่ 50 เขต และ 5 จังหวัด และโครงสร้างของ ศบส. ยังขาด CEO และทีมงานของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาด ที่สามารถปฏิบัติงานได้รวดเร็ว ประสานงานกับหน่วยงานราชการนอก กทม. เขตต่าง ๆ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เชื่อมโยงภารกิจทีม TTI กับการส่งผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาและวัคซีน

โดยให้มีอำนาจตัดสินใจ ด้านการใช้ทรัพยากรและงบประมาณ แก้ไขข้อจำกัดการทำงาน และยังขาดตัวกลางทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงระหว่างทีมสอบสวนโรคและทีมแยกกักโรค และการบันทึกรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นระบบ ซึ่งการมี CEO จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์