#เหยียดคนอีสาน คุณค่า กำพืด

: คุณค่าของความต่าง มอง “เหยียดคนอีสาน” ผ่านมานุษยวิทยา

ทำไม? การเม้าท์มอยถึงคนอีสาน ของคนเพียงไม่กี่คนในแอปพลิเคชัน “คลับเฮาส์” ด้วยคำพูดคำจารุนแรง และแทบจะมีแต่ความคิดเห็นส่วนตัวมากกว่าข้อมูล ข้อเท็จจริง ถึงกลายเป็นกระแสดราม่า “เหยียดคนอีสาน” 

ทำไม? สังคมถึงมีปฏิกิริยามากมาย ทั้งที่ความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเคยได้ยิน ได้เห็นครั้งแรก

บ่อยครั้ง เราก็ใช้การเหยียดเป็นมุขตลก เคยชินในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ

เพราะพฤติกรรมเหยียดแบบสนุกปาก หรือจริง ๆ แล้วมีวาระอื่นซ่อนเร้น ? นี่เป็นเพียงสมมติฐาน แต่คนที่ตอบได้ คงมีเพียงคนพูดและคนเผยแพร่เนื้อหาในวันนั้น

แต่กระแสของผู้คนในโลกโซเชียล รวมถึงสื่อมวลชนบางคน ก็เชื่อและวิเคราะห์ว่าหากมีเจตนาแอบแฝง ก็ไม่ควรให้ค่ากับคนกลุ่มนี้ 

เช่นเดียวกับนักวิชาการหลายคนที่เห็นด้วยว่าอาจมีเจตนาอื่นแอบแฝง ในการลุกขึ้นมาปั่นกระแสเหยียดคนอีสานในช่วงนี้ แต่ท่าทีอาจต่างออกไป และเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติที่ควรปล่อยผ่าน แต่นี่คือยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาที่สังคมไทยไม่ยอมรับความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม และยังบ่มเพาะความเกลียดชังจากความต่าง สร้างทัศนคติ คำพูด พฤติกรรม ตีตรา ด้อยค่า แบ่งเขา เรา ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว และอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

แล้วคนอีสานรู้สึกอย่างไร ? คำตอบไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว ทุกอย่างอยู่ที่มุมมองและการให้คุณค่าต่อสารที่เขารับ คนอีสานแท้ ๆ บางคนอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก แต่ก็คงมีคนอีสานอีกไม่น้อยที่อยากจะโต้แย้งให้ตัวเอง ทั้งที่ใช้อารมณ์และเหตุผล

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นคนอีสานใต้ อีกทั้งทำงานและวิจัยเกี่ยวกับเรื่องราวของคนอีสาน อธิบายลักษณะพื้นเพและสังคมโดยรวมของชาวอีสาน ผ่านมุมมองของมานุษยวิทยาว่า “คนอีสานรักสันติ” ส่วนหนึ่งมาจากการขัดเกลาตั้งแต่กำเนิด ผ่านพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบเกษตร ที่เรียกว่า “ฮีต 12 คอง 14” ประเพณีนี้ยังอธิบายลักษณะความสัมพันธ์ที่ชาวอีสานปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ ซึ่งไม่ใช่แค่มนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเคารพต่อธรรมชาติที่เขาพึ่งพาอีกด้วย ซึ่งส่งผลต่อนิสัยพื้นฐานของคนอีสาน ทำให้เขาเป็นคนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน

“คนอีสานมีความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่คนอื่นใช้เงื่อนไขความอ่อนน้อมว่าเป็นความอ่อนแอ เอาเปรียบ กระทำรุนแรงต่อเขาได้ ทั้งที่จริงแล้วเขามีความอดทนมากในการต่อสู้ที่จะมีชีวิต หากจะให้เขาตอบโต้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ใช้กลไกที่มีอยู่ในทุกรูปแบบ มีสิทธิ์มีโอกาสในการทวงคืนศักดิ์ศรี ตอบโต้แบบมีอารยะ เป็นคุณค่าที่ไม่ผลิตซ้ำความรุนแรง”

อคติ ความต่าง สร้างความเกลียดชังต่อพหุวัฒนธรรม 

“อคติ” ที่คน ๆ หนึ่งสร้างขึ้นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ อย่างไม่มีที่มาที่ไป และตัดไม่ขาดจากสถาบันหลักของสังคม เบ้าหลอมตั้งแต่เด็กจนโต

ความรู้ทางมานุษยวิทยาอธิบายกระบวนการสร้าง “อคติ” หรือ การสร้างความรังเกียจ ว่าเกิดมาจากการแบ่งแยกความแตกต่างบางประการ เช่น อาหาร ภาษา การแต่งกาย สร้างภาพลบหรือด้อยค่า สร้างความรู้สึกรังเกียจให้กับความแตกต่าง แบ่งแยกเขา เรา สร้างความเป็นอื่น ความรู้สึกเหนือกว่า สมบูรณ์กว่า และสุดท้าย นำมาสู่การลดทอน เลือกปฏิบัติ กีดกันออกจากสังคม และนำไปสู่ความรุนแรง เช่น การเหยียดคนสีผิวในสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือการเหยียดภูมิภาคในสังคมไทย  

การเหยียดภูมิภาค รังเกียจความเป็นท้องถิ่น ของสังคมไทย นพ.โกมาตร อธิบายว่า เกิดจากความไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ ไม่เคารพ ในความแตกต่างหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม จากประสบการณ์โดยตรงที่เคยประสบ คือ ป้ายข้อความที่เขียนติดประกาศในสถานศึกษาทางภาคเหนือว่า “เขตปลอดภาษาถิ่น” สะท้อนให้เห็นว่านโยบายการพัฒนาของรัฐไทยในอดีตจนถึงขณะนี้ ให้ความสำคัญกับอำนาจของส่วนกลางจนเกิดความเหลื่อมล้ำ กำหนดให้การศึกษาส่วนกลางสำคัญกว่าการศึกษาท้องถิ่น  ไม่ว่าจะภาษา วิถีชีวิต วัฒนธรรม โดยสร้างวัฒนธรรมหนึ่งให้เด่นกว่าวัฒนธรรมหนึ่ง และการพัฒนาที่ผ่านมาความเจริญกระจุกตัวแค่ในภูมิภาคส่วนกลาง สร้างนิยามระหว่างความเป็นเมืองและชนบทให้เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ 

“ความเจริญ” จึงหมายถึงสังคมเมือง ขณะที่  “ความภูธร” หมายถึง สังคมชนบทซึ่งด้อยกว่า นัยยะจากการแบ่งทางกายภาพกลับสะท้อนผลผลิตของความเหลื่อมล้ำจากนโยบายการพัฒนา และส่งผลต่อวิถีชีวิตในมิติอื่น ๆ ของผู้คนจากหลากหลายภูมิภาค 

ขณะเดียวกันสถาบันของสังคมก็ผลิตซ้ำ ส่งต่อ และเราก็รับมาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

“นโยบายการพัฒนา สื่อ การศึกษา การเขียนประวัติศาสตร์ เน้นย้ำให้ส่วนกลาง เหนือกว่าท้องถิ่น ปลูกฝังวัฒนธรรมเดียว เรารับค่านิยมเหล่านี้มาโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ลดทอนความเป็นมนุษย์  รู้สึกรังเกียจกำพืดของตัวเอง มากกว่าจะทำให้เจริญงอกงามและมีคุณค่า ที่จริงแล้ว มนุษย์มีความเหมือนมากกว่าความต่าง รู้สึกรัก เจ็บปวด ทุกข์สุข เหมือนกัน แต่เมื่อมีอคติ รังเกียจ ก็จะมองเห็นแต่ความต่างและแบ่งแยก”

จะอยู่ร่วมกับความหลากหลาย แตกต่าง อย่างเข้าใจ ? 

ความต่างในความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งมนุษย์มีโอกาสปะทะสังสรรค์กันมากขึ้น และมีความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจแฝงอยู่ด้วย หากไม่ทำความเข้าใจ ยอมรับในความต่างหลากหลายเหล่านี้ อาจนำมาสู่ความรุนแรง นี่เป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ สังคมไทยจะรับมือและอยู่ร่วมกันบนสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างไร

นพ.โกมาตร มีข้อเสนอต่อทุกระดับ และนี่คือความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล ที่ต้องแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยต่อการกระทำลักษณะนี้ และให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีหลักสูตรการศึกษาทักษะวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ สร้างความรู้ความเข้าใจ เคารพให้เกียรติในการปลูกฝังนอกเหนือจากกฎหมาย สถาบันโดยรวมของสังคม ที่รวมถึงสื่อสารมวลชน ต้องทำให้เห็นความเป็นมนุษย์และถ่ายทอดให้เห็นถึงคุณค่าความงดงามของวัฒนธรรม ชีวิต สร้างความเข้าใจระหว่างกัน

ส่วนคนที่มีทัศนะด้อยค่าเหยียดผู้อื่น ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ตักเตือน มีมาตรการทำความเข้าใจกับคนเช่นนี้ สุดท้ายคือการสร้างบรรยากาศให้คนในสังคมรู้จัก “คิดเชิงวิพากษ์” ตั้งคำถาม มีสติในการเชื่อหรือแสวงหาข้อเท็จจริง ก่อนจะส่งต่อผลิตซ้ำความคิด อคติ

แต่นี่ยังคงเป็นโจทย์ท้าทาย เพราะที่ผ่านมาการคิดเชิงวิพากษ์ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยคุ้นชิน ไม่ว่าจะในสถาบันใดของสังคมก็ตาม


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์