อนุรักษ์เสือโคร่ง = อนุรักษ์ผืนป่าขนาดใหญ่

สุดยอดของสัตว์ที่สะท้อนความสมบูรณ์ของป่า อย่างไรก็ต้องเป็นเสือโคร่ง

คำตอบยืนยันความเป็น “เจ้าป่า” ของเสือโคร่ง จาก “ปริญญา ผดุงถิ่น” ช่างภาพสัตว์ป่ามืออันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ที่ตอบได้แบบไม่ลังเล เช่นเดียวกับ ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย นักวิจัยผู้คร่ำหวอดเรื่องเสือโคร่งมายาวนาน ที่ยืนยันคำตอบไม่ต่างกันเมื่อถามว่า เสือโคร่งมีความสำคัญอย่างไร ถึงขนาดที่ต้องยกให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันเสือโคร่งโลก” (International Tiger Day)

หลังจากก่อตั้งครั้งแรกในการประชุมเสือโคร่งโลก (Tiger Summit) เมื่อปี พ.ศ.2553 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่ยังมีประชากรเสือโคร่งเหลืออยู่พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้จำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติที่ลดลงมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์ภายในช่วงไม่กี่ร้อยปีเพิ่มจำนวนขึ้น ผ่านมา 10 ปี เราฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้แค่ไหน

The Active ชวนหาคำตอบเรื่องนี้จาก 2 ผู้เชี่ยวชาญ ที่แม้จะแตกต่างที่มา แต่หลงใหลความงามของลายพาดกลอนของเสือโคร่งเหมือนกัน


เสือโคร่ง : ความงามหน้ากล้อง สะท้อนความสมบูรณ์หลังภาพ

ปริญญา บอกว่า สำหรับเขาการถ่ายถาพเสือโคร่ง เป็นเหมือนคำยืนยันว่า ผืนป่าแห่งนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก ๆ ไม่ได้มีแต่ต้นไม้เขียว ๆ เท่านั้น แต่ยังมีสัตว์ป่าอยู่จำนวนมาก

ปริญญา ผดุงถิ่น กับกล้องคู่ใจ

“คือมันจะรู้สึกโดยทันทีว่า ถ้าเราถ่ายเสือโคร่งได้ ป่านี้โอเคมาก แต่ถ้าป่าไหนไม่มีเสือโคร่ง ต่อให้ดูสมบูรณ์ขนาดไหน เช่น ป่าเขาใหญ่ ที่เคยมีเสือโคร่ง แต่ตอนนี้มันหมดไปแล้ว สะท้อนว่ามันมีปัญหาอะไรบางอย่างในป่านั้น มีพรานเข้าไป หรือเน้นกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การท่องเที่ยวมากไปหรือเปล่า เสือถึงอยู่ไม่ได้ ป่าไหนที่มีเสือโคร่ง ป่านั้น perfect”


แต่แม้ภาพเสือโคร่งทุกภาพที่เขาถ่ายจะยืนยัน “ความงาม” ได้ทุกภาพ แต่มีเพียงภาพเดียวที่นอกจากจะงดงามแล้ว ยังยึดกุมหัวใจเขาไว้มาตั้งแต่แรกพบจนถึงทุกวันนี้ ก็คือภาพของ “บุบผา” เสือโคร่งตัวแรกที่เขาถ่ายภาพได้ในชีวิต เมื่อครั้งเข้าไปตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

“บุบผา” เสือโคร่งสาวที่ยึดกุมหัวใจปริญญา

“ช่วงแรกที่เป็นช่างภาพถ่ายภาพเสือ ตอนนั้นตามหาเสือนานมาก แต่ไม่ได้เลย จนครั้งหนึ่งผมไปตั้งกล้องดักถ่ายที่ห้วยขาแข้ง แล้ววันนั้นก็มาถึง ตอนที่ผมเปิดกล้องไล่ดูภาพที่ตั้งดักถ่ายไว้ ก็เห็นเสือโผล่เข้ามาในกล้อง พอเอาภาพเสือที่ถ่ายได้ไปตรวจสอบชื่อ เพราะเสือทุกตัวของห้วยขาแข้งจะถูกตั้งชื่อไว้จากนักวิจัย เลยรู้ว่าเสือที่ตัวนั้นชื่อ บุบผา ที่วิเศษกว่านั้นคือ เฟรมแรกที่บุบผาเดินผ่านกล้อง เฟรมต่อมาก็มีลูกของมันอีก 2 ตัวเดินตามมา มีลูกตัวหนึ่งมาชะโงกมองกล้องด้วยตามประสาเสือเด็กที่ชอบเล่น”


นอกจากภาพบุบผาที่ถ่ายได้ตอนหัวค่ำ ในตอนเช้ามืดวันต่อมากล้องของเขาก็ยังสามารถเก็บภาพเสือดำกับเสือดาวได้อีก เรียกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ภาพเสือโคร่ง และยังได้ภาพเสือดำและเสือดาวในคราวเดียวกัน ซึ่งมันยากมากที่จะเกิดกรณีแบบนี้ แถมเสือดำกับเสือดาวยังเป็นตัวผู้ทั้งคู่ ซึ่งปกติเสือตัวผู้จะไม่เดินใกล้กัน แต่ในภาพที่เห็นทั้งสองตัวเดินตามกันมา

การติดตามถ่ายภาพเสือโคร่งอย่างต่อเนื่อง ยังทำให้เขาเห็น “การผลัดบังลังก์ของเจ้าป่า” เห็นช่วงเวลาที่เสือโคร่งตัวหนึ่งมีพลังอำนาจสูงสุดในอาณาเขตป่าของมัน ไปจนถึงวันที่พลังอำนาจลดลงในวัยที่ร่วงโรย และวันที่อาณาเขตของมันถูกแทนที่ด้วยเสือหนุ่มเมื่อมันจากโลกนี้ไป เป็นการเปลี่ยนแปลงที่แสดงสัจธรรมของชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์

ปริญญาบอกว่า เขาอยากให้คนไทยที่เห็นภาพเสือโคร่งภูมิใจว่าประเทศไทยเก่งมากที่สามารถรักษาเสือโคร่งไว้ได้ ขณะที่เพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม ลาว เขมร ที่มีการประกาศเป็นทางการแล้วว่า เสือโคร่งหมดไปจากประเทศเหล่านี้แล้ว

เพราะเสือโคร่งเป็นดัชนีชี้วัดว่า ป่าที่มีเสือโคร่ง คือป่าที่สมบูรณ์และมีการจัดการที่ดี

เสือโคร่งกับดาว ภาพได้รางวัลของปริญญา

ผืนป่าตะวันตก บ้านหลังใหญ่ที่สุดของเสือโคร่งไทย

หลังจากเริ่ม “แผนการอนุรักษ์เสือโคร่ง 12 ปี (2553-2565)” ผ่านมา 10 ปี ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย นักวิจัยผู้คร่ำหวอดเรื่องเสือโคร่งมายาวนาน บอกว่า วันนี้ มีความหวังว่าเสือโคร่งไทยได้รับการฟื้นฟูคืนกลับป่าไทยแล้ว

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์

“จากข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจของกรมอุทยานฯ ได้สำรวจทั่วประเทศประมาณเกือบ 10 ปีมาแล้ว พบว่าที่ห้วยขาแข้ง เป็นจุดที่ประชากรมากที่สุดในขณะนี้ และถ้ารวม ๆ พื้นที่ที่สำรวจพบเสือโคร่งทั้งประเทศไทย มีเพียงแค่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น ที่ยังมีประชากรที่ยังเป็นความหวังของเสือโคร่ง”


โดยพื้นที่ที่ยังพบเสือโคร่ง ได้แก่ ผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 11.7 ล้านไร่ หรือ 18,000 ตร.กม. ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง พื้นที่ใจกลางของผืนป่าตะวันตกคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2534

ที่มา : รายงานสรุปบทเรียนการฟื้นฟูเสือโคร่ง และสัตว์ป่าอื่นที่ถูกคุกคามในพื้นที่ผืนป่าตะวันตก 2548-2562

“ประชากรหลักจะอยู่ที่ห้วยขาแข้ง ปีล่าสุดที่ถ่ายรูปได้คือ 54 ตัว เรานับเฉพาะตัวเต็มวัย ไม่ได้รวมพวกที่ยังเป็นลูกเล็ก เพราะโอกาสตายสูง จะนับตั้งแต่อายุ 1 ปี ขึ้นไป และที่ทุ่งใหญ่ตะวันออก ปีนี้นับได้ถึง 17 ตัวเต็มวัย ส่วนทุ่งใหญ่ด้านตะวันตกได้ 9 ตัว รวม ๆ แล้วปีนี้เฉพาะตรงกลางคือพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้ 77 ตัวเต็มวัย และยังมีกระจายอยู่ทางด้านตอนเหนือและตอนใต้ของป่าตะวันตก รวมๆ แล้วก็อีกประมาณ 20 ตัว ดังนั้น ในผืนป่าตะวันตกที่ถ่ายรูปได้จริงๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมาถึงต้นปีนี้ ก็จะประมาณ 100 ตัว แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็น 100 ตัวเท่านั้น เพราะยังมีตัวที่เราถ่ายไม่ได้ก็มีอยู่บ้าง ก็ประมาณ 100 – 120 ตัว”


ส่วนพื้นที่อื่น ๆ เช่น ป่าทางเหนือก็มีการสำรวจ แต่พบว่าแทบจะไม่มีเสือโคร่งอยู่เลย แม้จะเป็นพื้นที่อนุรักษ์เหมือนกัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กเกินไปและโดนรบกวนเยอะมาก ซึ่งการอนุรักษ์เสือโคร่งให้มีจำนวนประชากรที่มั่นคง หรือประมาณมากกว่า 50 ตัวขึ้นไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาผืนป่าขนาดใหญ่ ที่มีขนาดพื้นที่ป่าต่อเนื่องกันมากกว่า 3,000 ตร.กม. หรือ 1.8 ล้านไร่ขึ้นไป

ภาพ : ปริญญา ผดุงถิ่น

ดร.อนรรฆ ชี้ว่า ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าจำนวนเสือโคร่งที่ห้วยขาแข้งเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่อยู่ที่การกระจายออกจากพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง ถึงจะเรียกได้ว่า เสือโคร่งไทยได้รับการฟื้นฟูแล้ว

“เสือโคร่งต้องการพื้นที่ พอโตได้ 2 ปี จะเริ่มแยกจากแม่ไปหาพื้นที่ใหม่ จะอยู่ในพื้นที่เดิมไม่ได้เพราะมีตัวที่ครอบครองพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะตัวผู้ที่ต้องหาพื้นที่ใหม่ ดังนั้น จึงพบการกระจายออกไปทางป่าแม่วงศ์ คลองลาน อุ้มผาง และลงมาถึงสลักพระ เขื่อนศรีนครินทร์”


ปัจจุบัน ทั้งโลกมีเสือโคร่งประมาณ 3,500 ตัว พื้นที่ที่เหลือมากที่สุดจะอยู่ที่เอเซียใต้ คือที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน และบังกลาเทศ ทั้ง 4 ประเทศมีรวมกันประมาณ 1,700 ตัว รองลงมาคือที่รัสเซียด้านตะวันออกไกล หรือ Russian Far East เป็นพื้นที่ป่าที่ติดกับเกาหลีเหนือ บริเวณนี้มีเสือโคร่งเหลืออยู่ประมาณ 400 ตัว ถัดมาคือ บริเวณเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มีเสือโคร่งเหลืออยู่ประมาณ 300-400 ตัว และสุดท้ายคือไทยที่ถ้ารวมทั้งประเทศเหลือประมาณ 180 ตัว

เสือโคร่งมีหลายสายพันธุ์ โดยเสือโคร่งไทยเป็นสายพันธุ์อินโดจีน หรือ Indochinese tiger ซึ่งหากนับเฉพาะสายพันธุ์นี้ ไทยก็เป็นพื้นที่ที่มีสายพันธุ์นี้เหลือเยอะที่สุด เพราะฝั่งพม่าเหลือไม่มาก ส่วนเวียดนาม ลาว และกัมพูชา หมดไปแล้ว ส่วนเสือโคร่งที่พบทางฝั่งใต้ด้านที่ติดกับมาเลเซียก็นับเป็นอีกสายพันธุ์ คือ สายพันธุ์มลายู ดังนั้น สายพันธุ์ Indochinese tiger จึงมีความหวังเหลืออยู่ที่ป่าตะวันตก รวมถึงทับลาน ปางสีดา เท่านั้น

ที่มา : รายงานสรุปบทเรียนการฟื้นฟูเสือโคร่ง และสัตว์ป่าอื่นที่ถูกคุกคามในพื้นที่ผืนป่าตะวันตก 2548-2562

เสือโคร่งเพิ่ม เพราะป่าถูกฟื้นฟู

ดร.อนรรฆ สะท้อนว่า ก่อนหน้านี้มีหลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมให้ความสำคัญแต่เสือโคร่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วสาเหตุที่นักวิจัยใช้เสือโคร่งเป็นตัวชี้ดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพราะเสือโคร่งจะฟื้นฟูขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยว่าเขามีอาหารเพียงพอหรือไม่ โดยอาหารเสือโคร่งมีหลักๆ คือกวางป่า วัวแดง เก้ง หมูป่า ซึ่งการรักษาเสือโคร่งโดยการควบคุมไม่ให้คนเข้าไปล่านั้น จึงไม่ใช่แค่การยับยั้งการล่าเสือโคร่ง แต่ยังรวมถึงการล่ากวาง วัวแดง หรือเก้ง ที่เป็นอาหารของเสือโคร่งด้วย ที่สำคัญ เสือโคร่งจะฟื้นฟูขึ้นมาก่อนสัตว์พวกนี้ไม่ได้ แต่สัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่งต้องถูกฟื้นฟูขึ้นมาก่อน เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันเหมือนระบบห่วงโซ่อาหาร

“ตอนหลัง ๆ ถ้าใครไปห้วยขาแข้ง จะมีโอกาสได้เห็นวัวแดงง่ายมาก ซึ่งเมื่อ 15 ปีที่แล้วที่เริ่มงานกัน เดินไปก็จะเห็นวัวแดงถูกยิง ปีแรกที่พยายามเข้าไปฟื้นฟู วัวแดงถูกยิง 9 ตัวในปีเดียว แต่ตอนนี้มีจุดที่โป่งช้างเผือก จะเห็นวัวแดงที 30 – 40 ตัว ก็ชัดเจนว่ามาจากการฟื้นฟูทั้งระบบ ดังนั้น เสือโคร่งจึงเป็นตัวแทนของระบบนิเวศ ถ้าฟื้นฟูก็คือฟื้นฟูทั้งระบบ”


อย่างไรก็ตาม ดร.อนรรฆ ชี้ว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่ต้องเร่งฟื้นฟู อย่างป่าภูเขียว น้ำหนาว ที่แต่ก่อนเคยมีเสือแต่ก็หายไปแล้ว แต่ตอนนี้ช้าง กระทิง ที่นั่นกำลังกลับมา ซึ่งในอนาคตก็อาจมีการฟื้นฟูเสือขึ้นมาได้

ที่มา : รายงานสรุปบทเรียนการฟื้นฟูเสือโคร่ง และสัตว์ป่าอื่นที่ถูกคุกคามในพื้นที่ผืนป่าตะวันตก 2548-2562

เชื่อมผืนป่าใหญ่ไทย-พม่า ปกป้องบ้านหลังใหญ่ให้เสือโคร่ง

ในการสำรวจเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว พบข้อมูลว่า มีเสือโคร่งตัวหนึ่งเดินจากป่าห้วยขาแข้ง ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีระยะทางกว่า 170 กิโลเมตร และข้ามพรมแดนไทย-พม่า ไปยังป่าทะยินทะยีฝั่งประเทศพม่า นอกจากนี้ยังพบข้อมูลจากวิทยุติดตามตัวเสือโคร่งในระหว่างการวิจัยว่า มีเสือโคร่งที่เดินทางไปฝั่งพม่าแล้วข้ามกลับมาฝั่งไทย ทำให้เกิดแนวคิดการเชื่อมต่อป่าทั้งฝั่งไทยและพม่าให้เป็นผืนเดียวกัน

“ผืนป่าตะวันตก 11.7 ล้านไร่ หรือ 18,000 ตารางกิโลเมตร อยู่ติดกับป่าทะนินทะยีทางฝั่งพม่าหรือตะนาวศรี จากป่าตะวันตกข้ามไปทะนินทะยี ไล่ลงทางใต้ก็ไปต่อเชื่อมกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ถ้ารวมทั้งผืนจะมีพื้นที่มหาศาล รวมๆ ประมาณ 40,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในเชิงการที่จะอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของโลกอย่างเสือโคร่ง นี่จึงเป็นพื้นที่เป้าหมาย”

ที่มา : รายงานสรุปบทเรียนการฟื้นฟูเสือโคร่ง และสัตว์ป่าอื่นที่ถูกคุกคามในพื้นที่ผืนป่าตะวันตก 2548-2562

อย่างไรก็ตาม การเชื่อมผืนป่าทั้ง 2 ประเทศอาจไม่ง่ายนักโดยเฉพาะทางฝั่งพม่า เพราะผืนป่าทะยินทะยีอยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระ หรือ KNU ซึ่งแม้ KNU จะมีการจัดการพื้นที่ของเขาเองที่เป็นอิสระจากรัฐบาลพม่าถึงขนาดมีกรมป่าไม้ของKNU เอง แต่รัฐบาลไทยคงไม่สามารถไปติดต่อกับ KNU ได้โดยตรง แต่ต้องติดต่อกับรัฐบาลพม่า ส่วนที่เป็นการทำงานขององค์กรเอกชน ขณะนี้ก็มีบางองค์กรที่สามารถเข้าไปพูดคุยกับ KNU และพยายามที่จะให้มีการจัดการป่าที่เข้มแข็ง

“ทางฝั่งพม่าก็พยายามประกาศพื้นที่คุ้มครอง แต่การดูแลยังไม่เข้มแข็ง เพราะไม่มีงบประมาณจัดเจ้าหน้าที่ดูแลได้เข้มแข็งเหมือนประเทศไทย ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นจุดแข็งของไทยที่มีการจัดงบประมาณดูแลป่า งบประมาณจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า พบว่าในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เราลงทุนเรื่องนี้มากที่สุด ซึ่งมีผลสำคัญต่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง”

ภาพ : ปริญญา ผดุงถิ่น

ช่วยเสือโคร่งกลับป่าไทย ทุกคนต้องช่วยกัน

ดร.อนรรฆ กล่าวว่าเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ให้ความรู้สึกต่อคนที่อยากจะเห็นป่าไม้ สัตว์ป่า ยังคงมีอยู่ เวลาพูดถึงเสือโคร่งก็จะมีความรู้สึกว่า เป็นสัตว์ที่เรามีความผูกพันและอยากจะเห็นมันยังมีอยู่ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นหลายเรื่องว่า ถ้าเรารักษาป่าใหญ่ได้จริง ก็เป็นทางเดียวที่จะรักษาเสือ แต่ถ้าป่ากลายเป็นป่าเล็กป่าน้อย โดนแบ่งเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย เราจะควบคุมการล่าไม่ได้ เสือหมด

ดังนั้น นักอนุรักษ์ทั่วโลกจะเรียกเสือโคร่งว่าเป็นสัตว์ป่าที่อยู่รอดได้โดยขึ้นอยู่กับการคุ้มครองเท่านั้น หรือProtection Dependent Species ซึ่งถ้า protect ไม่ดี ก็จะหมด แต่ถ้า protect ดี ก็จะรอด จึงเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งสำหรับสังคมไทยว่าเรามีความพยายามที่จะช่วยกัน

“เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับราชการอย่างเดียว คือราชการเป็นส่วนสำคัญในการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ดูแล มีกฎหมายที่จะต้องบังคับใช้ แต่พอเวลามีปัจจัยคุกคามอย่างอื่นเข้ามา ก็อาจจะต้องใช้พลังสังคมช่วย เช่น สร้างถนน ทำเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์ ถ้าเป็นโครงการของรัฐบาลราชการจะไม่สามารถต่อต้านได้ ยกตัวอย่างเขื่อนแม่วงศ์ ที่พลังทางสังคมทำให้หยุดเขื่อนแม่วงศ์ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นหัวใจที่เสือกำลังฟื้นฟู”

ภาพ : ปริญญา ผดุงถิ่น

Author

Alternative Text
นักเขียน

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว