ลดขยะ = ปิดฉากโศกนาฏกรรมเต่าไทย

ปรากฏการณ์แม่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดมากกว่า 30 รัง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเวลาชายหาดร้างนักท่องเที่ยวจากการระบาดของโควิด-19 ที่คนไทยได้รับข่าวดีจากทะเลต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าเป็นปีทองของเต่าไทย ได้ทำให้หลายคนมีความหวังว่าทะเลไทยกำลังจะกลับมาสมบูรณ์ และเป็นบ้านที่อบอุ่นของสัตว์ทะเลนานาชนิด

แต่ดูเหมือนสิ่งที่หลายคนหวัง อาจจะไม่ง่ายนัก เพราะเพียงแค่วันหยุดแรกหลังจากเปิดการท่องเที่ยวทางทะเลเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ก็มีข่าวเศร้าเกิดขึ้นทันที จากการพบเต่ากระเกยตื้นตายบริเวณชายหาดบางแสนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (4 ก.ค.) โดยผลการผ่าพิสูจน์ พบเบ็ดตกปลาปักลำคอ และเศษถุงพลาสติก-เชือกพันเป็นก้อนอุดตันในลำไส้ นอกจากนี้ ยังพบว่าเต่าตัวนี้ตั้งท้องและมีไข่ในท้องไม่ต่ำกว่า 200 ฟอง

เต่ากระตายที่หาดบางแสน จ.ชลบุรี |
ภาพ : ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข


‘ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล โพสต์ข้อความระบุว่า แม้ปัญหาจากการท่องเที่ยวจะลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ปัญหาขยะทะเลกลับตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะประเภท single use plastic ที่เกิดจากธุรกิจ delivery ทำให้มีขยะพลาสติกเพิ่มจากเดิมมากถึง 15 เปอร์เซ็นต์

“อีกปัญหาคือขยะทะเล อันนี้ตรงกันข้าม เพราะขยะเพียงส่วนน้อยเกิดขึ้นริมชายฝั่ง/ในทะเล ขยะส่วนใหญ่มาจากแผ่นดินตามแม่น้ำลำคลอง เมื่อเราหันมาใช้ของ single use และ delivery ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มพรวด 15% และบางส่วนก็อาจมาอยู่ในท้องแม่เต่ารายนี้ และฆ่าเธอพร้อมลูกน้อย 200 ตัว เพราะฉะนั้น จะดูแลทะเลตอนนี้ บอกได้เลยว่าเน้น ๆ ที่ขยะทะเลเลยพี่ นี่แหละปัญหาสำคัญสุดในยุคหลังโควิด”

เบ็ดตกปลาในท้องแม่เต่า |
ภาพ : ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข

การตายของแม่เต่ากระพร้อมลูกน้อยอีก 200 ตัว นับตั้งแต่วันแรก ๆ ของการเปิดการท่องเที่ยว อาจทำให้หลายคนกังวลว่าจะมีโศกนาฏกรรมแบบนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ และอาจส่งผลต่อสถานการณ์ของเต่าทะเล ที่ปัจจุบันถูกจัดเป็นสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก

ดังนั้นแล้ว จุดสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลในช่วงเวลาที่ประเทศต้องการเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน และเราจะไปถึงจุดนั้นได้ไหม

The Active พูดคุย ‘เพชร มโนปวิตร’ นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เพื่อหาคำตอบช่วยรักษาชีวิตแม่เต่าทะเลไทย

เพชร มโนปวิตร

เพชร บอกว่า ปีนี้เป็นปีพิเศษสำหรับเต่าทะเลจริง ๆ เพราะเป็นปีแรกที่ “เต่ามะเฟือง” สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ กลับขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดของประเทศไทยจำนวนมาก ทั้งที่บริเวณหาดท้ายเหมือง จ.พังงา และที่หาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต แม้โควิด-19 จะเป็นปัจจัยหนึ่งของการกลับมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง แต่เพชรมองว่า ปัจจัยหลักมาจากการจัดการประมงที่ดีขึ้น และความสำเร็จของคนไทยในความพยายามอนุรักษ์เต่ามะเฟืองมากว่า 20 ปี

“เพราะกว่าที่เต่ามะเฟืองจะวางไข่ได้ นี่คือลูกเต่าที่เกิดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การที่เต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่ได้อย่างปลอดภัยและได้รับการดูแล ก็สะท้อนในเรื่องความตื่นตัวในการอนุรักษ์ที่เพิ่มมากขึ้น”

รังไข่เต่ามะเฟือง บริเวณหาดเขาหน้ายักษ์ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา | ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เรื่องเต่ามะเฟืองว่าพิเศษแล้ว เพชรบอกว่ายังมีเรื่องพิเศษอีกเรื่องจากแม่เต่าไทย คือ การกลับมาวางไข่ของเต่าทะเลที่เกาะสมุย หลังจากนานมากแล้วที่ไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่พื้นที่นี้ เนื่องจากเกาะสมุยเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ และมีการรบกวนจากมนุษย์มาก

“เราได้ข่าวครั้งแรก คือ เต่าขึ้นวางไข่ที่พื้นที่ของหาดที่โรงแรม มีเจ้าหน้าที่เป็นคนพบ และมีการดูแล หลังจากนั้น ปรากฏว่ามีการกลับขึ้นมาวางไข่ในหลาย ๆ หาด ซึ่งกรณีเกาะสมุยคิดว่าอาจจะเป็นผลโดยตรงของโควิดที่กิจกรรมการท่องเที่ยวลดลง และชายหาดก็เงียบสงบพอที่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ได้ มันมีผลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟ หรือกิจกรรมที่มีคนไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่”

แม่เต่ากระวางไข่ หาดท้องหนัน เกาะสมุย | ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เพชรมองว่า สิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ของปรากฏการณ์นี้ คือ การกลับมาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ความจริงแล้วพื้นที่ชายหาดหลายแห่งในประเทศไทย ยังมีศักยภาพในการเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล อย่างกรณีเกาะสมุยยิ่งมีความน่าสนใจ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาอย่างเข้มข้นมาตลอด จึงเป็นความหวังว่า เราจะจัดการเรื่องการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลให้ไปด้วยกันได้อย่างไร ซึ่งความจริงแล้วก็มีแนวทางที่สามารถจะทำได้

“เพราะหลัก ๆ แล้ว เต่าจะขึ้นมาวางไข่ตอนกลางคืน ดังนั้น กลางคืนเป็นช่วงที่มันอาจจะไม่ได้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเยอะอยู่แล้ว และอีกปัจจัยก็คงเป็นเรื่องแสงไฟ ถ้าเกิดว่ามีไฟส่องหาดสว่าง แน่นอนว่าก็จะไม่เหมาะ เต่าก็จะไม่ขึ้นมาวางไข่ แต่ถ้ามีการจัดการไฟให้มีการหรี่แสงหรือใช้แสงอีกแบบ หรือบริเวณที่ยังมีพืชพันธุ์ธรรมชาติเหลืออยู่บ้าง ก็อาจจะมีการกำหนดช่วงเวลาในการใช้ประโยชน์ ก็จะทำให้การท่องเที่ยวอยู่ร่วมกับการอนุรักษ์เต่าทะเลได้”

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาการใช้เครื่องมือประมงที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลที่มีความพยายามจัดการในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เริ่มเห็นผล จำนวนเรือประมงผิดกฎหมายน้อยลง ประกอบกับช่วงโควิด-19 เลยทำให้ชายหาดเงียบสงบ เหมาะแก่การวางไข่ของแม่เต่า เรียกว่าจุดประกายความหวังในเรื่องการอนุรักษ์เต่าทะเลของไทยเลยทีเดียว

“ก่อนหน้านี้มันเหลือไม่กี่แห่งจริง ๆ อย่างอ่าวไทยก็จะเป็นแถวเกาะคราม จ.ชลบุรี ที่เป็นแหล่งวางไข่เต่าที่สำคัญที่สุด ทางอันดามันก็จะเป็นแค่เกาะหนึ่งของหมู่เกาะสิมิลันที่มีการวางไข่เต่าทะเลเป็นประจำ จำนวนมาก ๆ ที่อื่นก็จะมีรายงานบ้าง แต่ก็ในจำนวนที่น้อยมาก ๆ และส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ปีนี้ก็จะเห็นการกลับมาวางไข่นอกพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง อย่างภูเก็ต สมุย หรือประจวบฯ ก็เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น”

รังไข่เต่าทะเล หน้าโรงแรม villa kalyana เกาะสมุย | ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เพชร ยืนยันว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า โดยตัวสถานภาพของพื้นที่อาจจะไม่สำคัญเท่ากับการใช้ประโยชน์การดูแลจัดการ ถ้ามีการดูแลจัดการที่ถูก ไม่ว่าจะเป็นหาดสาธารณะหรือหาดเอกชน ก็สามารถเป็นแหล่งอนุรักษ์เต่าทะเลได้

“เต่าทะเลในไทยทั้ง 5 ชนิด อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ทุกชนิด แม้แต่เต่าตนุที่น่าจะเจอได้เยอะที่สุด แต่สถานภาพทั่วโลกก็ยังใกล้สูญพันธุ์ ในไทยเองก็เหมือนกัน เราอาจจะรู้สึกว่ามีข่าวเยอะ แต่พอไปดูข้อมูลแหล่งวางไข่เต่าจริง ๆ มีไม่กี่แห่ง และในแง่ของประชากรเต่าก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง”

แม้จะเห็นแนวโน้มที่ดีและเห็นความจำเป็นในสถานการณ์เศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 แต่ ‘เพชร’ ยอมรับว่า มีความกังวลต่อการเปิดหาดให้ท่องเที่ยวอีกครั้ง เพราะ “ภัยคุกคาม” ต่อเต่าทะเลยังคงมีอยู่ ทั้งเรื่องการลักลอบเก็บไข่เต่า การเปลี่ยนสภาพของชายหาดที่เคยเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นภัยคุกคามหลัก การประมง และปัญหาขยะพลาสติก

“คือมันก็ถูกรบกวนตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง ไม่มีโอกาสขยายพันธุ์ ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย เนื่องจากว่าเต่าก็กินอาหารตามปกติ เช่น กินแมงกะพรุน แต่ปรากฏว่าไม่ใช่แมงกะพรุน แต่เป็นถุงพลาสติก ก็เลยทำให้ทำให้สถานภาพถูกคุกคามหลายทาง”

ขยะพลาสติกในท้องเต่ากระ บางแสน | ภาพ : ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข

เพชร เสนอว่า การจัดการบนฐานข้อมูล จะสามารถแก้ปัญหาภัยคุกคามบางข้อได้ เช่น การจัดเก็บข้อมูลชายหาดที่เต่าขึ้นมาวางไข่หรือใช้ประโยชน์ ซึ่งในกรณีพื้นที่แบบนี้น่าจะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ และจัดการอีกแบบหนึ่ง อาจจะเป็นการจัดการแสงไฟ หรือจำกัดเวลาการใช้ประโยชน์โดยเฉพาะช่วงกลางคืน

“คือเอาข้อมูลในเชิงวิชาการมาปรับใช้ ยังเชื่อว่ายังสามารถบริหารทรัพยากรการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ได้ ซึ่งตอนนี้เรามีข้อมูลแล้วว่า เต่ากลับมาวางไข่พื้นที่ไหนบ้าง ก็อาจจะใช้ข้อมูลนี้ในการที่จะไกด์ว่า หาดตรงนี้อาจจะต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ”

เพชร ยกตัวอย่างกรณีเกาะสมุยที่มีการจัดตั้ง “เต่าชุมชน” คือ ชาวบ้านในพื้นที่ช่วยเจ้าหน้าที่ดูแล แล้วยังช่วยล้อมรั้วป้องกันไม่ให้คนมารบกวน ซึ่งเรื่องนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีมาก ส่วนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในพื้นที่ก็ต้องระวังพื้นที่ที่อาจจะเป็นจุดที่ขึ้นมาวางไข่เต่า หรือหากเจอแม่เต่ากำลังวางไข่ ก็ให้รีบแจ้งคนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญที่สุดคือ การลดการสร้างขยะ

“นักท่องเที่ยวสามารถช่วยอนุรักษ์เต่าทะเลได้ทุกวัน คือ ลดการสร้างขยะให้มากที่สุด เพราะถึงแม้เราจะทิ้งลงถัง แต่ระบบการจัดการขยะของบ้านเรามันยังไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด ขยะที่เราทิ้งลงถังนั้น มันบอกไม่ได้ว่าจะมีส่วนไหนที่จะรั่วไหลออกสู่ทะเลหรือเปล่า เพราะฉะนั้น การลดการสร้างขยะระหว่างที่ไปเที่ยว ก็เป็นรูปธรรมในการอนุรักษ์ที่ทำได้ง่ายที่สุด”

ลูกเต่าตนุ เพิ่งฟักจากไข่ หน้าโรงแรมบันยันทรี เกาะสมุย | ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว