“หัวโตก้นลีบ” คนจนเพิ่มขึ้นหนึ่งเดียวในอาเซียน

ความเหลื่อมล้ำ โจทย์ใหญ่ในสมการคนจน

ธนาคารโลกเปิดเผยว่า 4 ปีให้หลังมานี้ ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีคนจนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ คนจนที่พูดถึง คือ คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ คนที่มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 3,000 บาท

ข้อมูลจากรายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า มีคนจนอยู่ 6.7 ล้านคน และคาดว่าหลังการระบาดของ COVID-19 คนจนจะเพิ่มขึ้นอีก และหากรวมคนจนในมิติอื่น ๆ ด้วย ตัวเลขจะขยับไปที่ 13.8 ล้านคน แต่ในที่นี้เราจะพูดถึงเฉพาะ “ความจน” ที่ชี้วัดกันทางรายได้เท่านั้น

ทำไมคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งที่แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น จีดีพีก็โตขึ้น แสดงว่า การพัฒนาของประเทศในช่วง 4 ปีให้หลัง เงินไม่ได้ไหลเข้ากระเป๋าของคนทุกคน มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ธนาคารโลกพยายามหาคำตอบนี้ และได้ศึกษาวิเคราะห์จากรายได้ของประชากรไทย ก่อนจะเปิดเผยข้อมูลในรายงาน TAKING THE PULSE OF POVERTY AND INEQUALITY IN THAILAND

“รวยกระจุก จนกระจาย” ความเหลื่อมล้ำทางรายได้

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มคนที่รวยที่สุด 10% แรก และ 10% รองลงมา มีรายได้รวมกัน เท่ากับครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งประเทศ แต่กลุ่มคนที่จนที่สุด 10% แรก และ 10% ต่อมา มีรายได้รวมกันเพียงแค่ 5% เท่านั้น

ข้อมูลจากธนาคารโลก

ระหว่าง ปี 2558 – 2560 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของแหล่งรายได้ในกลุ่มคนจน โดยแหล่งรายได้ที่ลดลงมากที่สุด คือ ธุรกิจและฟาร์ม ‘ดร.เดชรัต สุขกำเนิด’ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อธิบายถึงธุรกิจและฟาร์ม ในที่นี้หมายถึง การทำเกษตรเชิงเดี่ยวและหาบเร่แผงลอย หากดูนโยบายในการพัฒนาของประเทศในช่วงเวลานั้น มีนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งความปลอดภัย ที่สะอาด และสวยงาม

แต่สำหรับกลุ่มคนจน นี่คือการตัดโอกาสหากินในเขตเมือง เพิ่มภาระค่าเช่าที่ไม่คุ้มทุน ในขณะที่คนรวยยังคงได้ประโยชน์จากปัจจัยที่กล่าวมา

หลักประกันในชีวิตของคนจน ยังสั่นคลอนมากขึ้น เมื่อข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า คนกลุ่มนี้ มีเงินออมเพื่อใช้ยามเกษียณลดน้อยลง หรือติดลบ ซึ่งภาวะคนตกงาน ขาดรายได้ ในช่วง 1-2 เดือน ที่มีการปิดเมืองเพื่อคุมการระบาด COVID-19 ยิ่งฉายให้เห็นภาวะสภาพคล่องทางการเงินของคนไทย ที่ไร้เงินเก็บ

มีข้อมูลบ่งชี้ว่า มากกว่า 50% ของครัวเรือน ที่รายได้น้อยกว่า 50,000 บาท มีสัดส่วนเงินออมเพื่อเป็นหลักประกันส่วนบุคคลน้อยลง และคนส่วนใหญ่มีเงินออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเพียง 1-3 เดือนเท่านั้น ส่วน 58% ของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน มีรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากสถานการณ์ COVID-19 และคนกลุ่มนี้ยังมีโอกาสสร้างหนี้เพิ่มขึ้น

แนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 [ดร.เดชรัต สุขกำเนิด, 2563]

เหลื่อมล้ำรายได้ สู่เหลื่อมล้ำการศึกษา

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การศึกษา คือ เครื่องมือในยุคสมัยใหม่ ที่เห็นชัดที่สุด ว่าสามารถพาคนคนหนึ่งหลุดพ้นจากความยากจน และก้าวไปสู่สถานะทางสังคมที่แตกต่างไปจากเดิมได้ ขณะเดียวกันสังคมก็ให้การยอมรับและให้คุณค่าต่อบุคคลตามระดับการศึกษา และอาชีพ นอกเหนือจากคุณค่าที่ติดตัวมาตามชาติกำเนิดเท่านั้น

สำหรับประเทศไทยจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนจนเข้าถึงการศึกษามากขึ้น มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดให้มีสวัสดิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือเรียนฟรี 12 ปี

ผลกระทบการสร้างความรับผิดชอบทางการศึกษาต่อสัมฤทธิ์ผลของนักเรียนไทย [ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์, 2555]

จากข้อมูลนี้ จะเห็นว่าคนจนเข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยมได้มากขึ้น แต่การจะไปต่อในระดับอุดมศึกษายังคงไม่มากนัก เมื่อเทียบจากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในระดับมัธยม ขณะกลุ่มคนที่รวยที่สุดสามารถเข้าถึงการศึกษาในสัดส่วนที่ห่างกันมากเมื่อเทียบกับคนจน แต่ในทีนี้อยากชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้คนจนยกระดับการศึกษาได้มากกว่าเดิม มาจากที่ทุกคนสามารถเข้าถึงนโยบายเรียนฟรีได้นั่นเอง แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วอาจยังมีภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาอื่น ๆ อยู่บ้าง นี่จึงทำให้โอกาสและคุณภาพทางการศึกษาของบุตรหลาน ยังขึ้นอยู่กับ “รายได้” ของผู้ปกครองอยู่ดี

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด

ในทางอุดมคติ หากไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น ประชากรทุกคนก็ควรจะเข้าถึงโอกาสการเลื่อนระดับทางชนชั้นในระดับครึ่งต่อครึ่ง แต่โลกแห่งความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น หากดูจากรูปจะเห็นว่ากลุ่มคนที่รวยที่สุดในสัดส่วน 25% แรกของประเทศ มีโอกาสถึง 47.68% ที่จะส่งต่อความรวยที่สุดไปสู่รุ่นลูก และทำให้ลูกอยู่ในกลุ่มคนรวยที่สุดต่อไป และมีโอกาสเพียง 19.95% เท่านั้น ที่กลุ่มคนรวยจะตกมาอยู่ชนชั้นระดับล่างของสังคม

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ยังอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า “สิทธิพิเศษข้ามรุ่น” การเกิดมาในครอบครัวที่รวยก็คือโอกาสของชีวิตที่มากกว่า และรายได้ของคนรุ่นลูกก็ขึ้นอยู่กับรายได้ของรุ่นพ่อแม่นั่นเอง ส่วนคนที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน โอกาสที่จะจนต่อไปมีมากถึง 2 ใน 3

ดังนั้น ความมั่งคั่งจึงกระจุกตัว และเคลื่อนย้ายจากชนชั้นหนึ่งไปสู่อีกชนชั้นหนึ่งได้ยาก ซึ่งหมายความว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ได้หยุดนิ่งแค่ช่วงอายุของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ยังส่งต่อความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีคนยากจนมากที่สุดในโลก แต่เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะมีความมั่งคั่งด้านทรัพย์สินกระจุกตัวที่คนส่วนน้อย นี่ไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญ วาสนาหรือกรรมเก่า แต่เป็นผลพวงจากการพัฒนา และประวัติศาสตร์ ที่ล้วนอธิบายถึงที่ไปที่มาได้ ซึ่งการพัฒนาของไทยตั้งแต่แรก อยู่บนฐานคิดที่เชื่อว่าหากพัฒนาถึงจุดหนึ่งแล้ว การกระจายรายได้จะดีขึ้นเอง ความเหลื่อมล้ำจะลดลง รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย แนวคิดนี้เชื่อว่า เมื่อคนรวยมีทรัพยากรหรือทรัพย์สินมากเพียงพอแล้ว ก็จะเกิดการกระจายทรัพยากรเหล่านั้นมาให้คนจน ความมั่งคั่งกระจายได้ผ่านการจ้างงานนั่นเอง แต่ดูเหมือนว่าความจริงยังห่างไกลจากความคิด

สภาพัฒน์ หน่วยงานด้านยุทธศาสตร์ที่วางแผนทิศทางการพัฒนาต่อจากนี้ จึงพุ่งเป้าการปฏิรูปประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปที่ “ความเหลื่อมล้ำ” สิ่งที่ต้องจับตาจากแผนต่อจากนี้ คือ จะทำอย่างไรให้คนทุกคนได้ประโยชน์จากการพัฒนา เข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และ “ความเป็นธรรม” ที่ว่านี้ “ใคร” เป็นผู้กำหนด

ดูเพิ่ม

ผลกระทบการสร้างความรับผิดชอบทางการศึกษาต่อสัมฤทธิ์ผลของนักเรียนไทย : https://docs.google.com/viewerng/viewer?url=https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2012/10/s1_dilaka.pdf

Taking the Pulse of Poverty and Inequality in Thailand : https://www.worldbank.org/en/country/thailand/publication/taking-the-pulse-of-poverty-and-inequality-in-thailand

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์