“วันนั้นผมอาบน้ำแต่งตัวจะไปร่วมชุมนุมพันธมิตรแล้ว…แต่ผมไปได้ยินว่ามีคนกวักมือเรียกทหาร” | สมบัติ บุญงามอนงค์

“15 ปี 19 กันยา : 15 ปี ใต้เงารัฐประหาร” EP.3

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด กล่าวถึงบทบาทตัวเองก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ครั้งนั้น เป็นช่วงเวลาที่เขาเองกำลังตัดสินใจจะเข้าร่วมการชุมนุม ถึงขั้นที่เตรียมตัวออกจากบ้านเพื่อไปชุมนุมแล้ว แต่ได้รับทราบข่าวว่า การชุมนุมในครั้งนี้ อาจเป็นใบเบิกทางให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งขัดต่อหลักการประชาธิปไตยที่เขายึดมั่นตลอดมา

การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล รวมถึงการตรวจสอบนายกรัฐมนตรี ถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนที่สามารถทำได้ สมบัติ เล่าย้อนถึงช่วงเวลาดังกล่าว การปฏิบัติหน้าที่ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนโยบายบางข้อก็สมควรถูกตั้งคำถาม บางประเด็นถือเป็นปัญหาที่สำคัญ จึงมองว่าการเข้าร่วมประท้วงหรือเรียกร้องให้เกิดการยุบสภา และคืนอำนาจให้ประชาชน ถือเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เมื่อประชาชนไม่เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ

แต่เมื่อการชุมนุมไม่หยุดเพียงแค่ยุบสภา และก้าวข้ามเส้นของความถูกต้องในวิถีทางประชาธิปไตยออกไป จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และวางบทบาทเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น

ในเวลานั้น มีชุมชนทางความคิดเกี่ยวข้องกับการเมือง ที่มีชื่อว่า “บอร์ดราชดำเนิน” ในเว็บไซต์ pantip.com เขาและสมาชิกได้ตั้งคำถามและพูดคุยประเด็นทางการเมืองกันอยู่เสมอ จึงทำให้มีเพื่อนทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายพันธมิตร และฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล ที่เรียกตัวเองว่า “คาราวานคนจน” ชุมนุมกันบริเวณสวนจตุจักร ก็ได้มาเชิญให้เข้าร่วมการชุมนุมอยู่เช่นกัน แต่เวลานั้นเขายังไม่ออกไปร่วมกับใคร ยืนอยู่ตรงกลางเพื่อรอตัดสินใจ

และเมื่อมีท่วงทำนองของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ไปกวักมือเรียกทหาร ทำให้เขาตั้งคำถามว่าขบวนการประชาชนนี้ เป็นขบวนการที่ก้าวหน้า หรือจะเป็นขบวนการประชาชนที่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า จนในที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหารจริง ๆ (ซึ่งภายหลัง พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยอมรับว่า ใช้เวลาเตรียมรัฐประหารประมาณ 7 เดือน ซึ่งหมายความว่า เริ่มวางแผนในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่มีการเปิดตัวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั่นเอง)

ย้อนกลับมา ค่ำคืนวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สมบัติ ส่งข้อความพูดคุยกับเพื่อนนักกิจกรรม นัดประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นำมาสู่การแสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการ ในนามของ “เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร” ประกอบไปด้วยบุคคลนักกิจกรรมที่สำคัญ ทั้ง โชติศักดิ์ อ่อนสูง อุเชนทร์ เชียงแสน และอานนท์ นำภา เป็นต้น ได้รวมตัวกันและอ่านแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยต่อการยึดอำนาจ ถือเป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนครั้งแรก เพียง 1 วันหลังรัฐประหาร เพราะสมบัติ มองว่า ประชาชนต้องต่อต้านการรัฐประหารทันที เพื่อปฏิเสธอำนาจที่เขาได้ไปอย่างไม่ชอบธรรม

ผมเรียนรู้แล้วว่าถ้ามีการรัฐประหารต้องต่อต้านทันที ประชาชนต้องปฏิเสธการมีอยู่ของอำนาจรัฐ ต้องแสดงออกทันทีว่าเราไม่เห็นด้วย การมีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นอกจากจะเป็นการล้มล้างประชาธิปไตยแล้ว ยังนำไปสู่การทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองบิดเบี้ยวไปและนำไปสู่ความรุนแรงในเวลาต่อมา…”

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เป็นจุดเด่นและความถนัดของ สมบัติ เขานัดรวมตัวประท้วงครั้งแรกหลังรัฐประหาร หน้าห้างสยามเซ็นเตอร์ ในช่วงเย็นของวันที่ 22 กันยายน 2549 โดยมีผู้ประท้วงประมาณ 20 – 100 คนหรือมากกว่านั้น ตามการรายงานของสำนักข่าว AP โดยผู้ประท้วงนัดกันแต่งชุดดำไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตยที่หายไป เช่น ป้ายประท้วงรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมข้อความกำกับว่า “On vacation again” (พักร้อนอีกครั้ง)  หรือ ป้ายประท้วงข้อความ “No to Thaksin No to coup” (ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหาร) หรือ “Don’t call it reform – it’s a coup” (“อย่าเรียกปฏิรูป มันคือรัฐประหาร”) เป็นต้น

ความพยายามเรียกร้องให้การแก้ปัญหาเป็นไปตามระบบการเมืองและวิถีประชาธิปไตย ดำเนินเรื่อยมาจากหลากหลายกลุ่มซึ่งไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และในวันที่ 25 กันยายน 2549 จึงยกระดับสู่เวทีอภิปรายคัดค้านรัฐประหารและจัดเสวนาหัวข้อ “ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร?” ผ่านเครือข่ายนิสิต นักศึกษา ร่วมกับภาคประชาชน มีการชุมนุมที่ลานปรีดี หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และนับจากนี้ การต่อต้านรัฐประหารก็เข้มข้นขึ้น โดยมีการจัดตั้งเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ในการเคลื่อนไหว

สมบัติ เล่าว่าการเคลื่อนไหวในช่วงนั้นทำให้สังคมเริ่มรู้จักคำว่า “อารยะขัดขืน” อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ได้เข้าใจว่าการประท้วงยังต้องคำนึงถึงวิถีทางประชาธิปไตย และไม่ใช้ความรุนแรง ปฏิเสธอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม และต่อต้านอำนาจนอกระบบทั้งปวง เขายึดมั่นแนวทางนี้ไว้เหนือสิ่งอื่นใด 

เช่น การเป็นแกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ ต่อต้าน คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) และเพื่อคัดค้านการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมาจาก “คนนอก” การเลือกตั้งได้ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เขาถูกแจ้งข้อหา “เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นศัตรูของชาติ” ทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 

เวลาล่วงเลยมาสู่การรัฐประหาร ในปี 2557 สมบัติยังแน่วแน่ในการกระทำและความคิด วางบทบาทตัวเองอยู่ตรงข้ามกับคณะรัฐประหาร และท้าทายต่ออำนาจทหารครั้งสำคัญ เมื่อเขาถูกเชิญให้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. แต่เขาไม่ไปตามคำสั่ง จนถูกอายัดบัญชีเงินฝาก และยังถูกคุกคามต่อความปลอดภัยของคนในครอบครัว โดยเขาตอบเพียงว่าไม่สามารถยอมรับต่ออำนาจนั้นได้ แม้จะต้องเผชิญกับการมีคดีความติดตัว ขึ้นโรงขึ้นศาล และต่อสู้จนถึงชั้นฎีกา และสิ้นสุดคดีเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมานี้เอง

19 กันยายน 2549 ส่งผลอะไรต่อปัจจุบัน ? 

สมบัติ เล่าว่า ผ่านเหตุการณ์รัฐประหาร ตั้งแต่ปี 2534 ปี 2549 และปี 2557 จนเรียนรู้ว่าการรัฐประหารทุกครั้งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทางการเมืองทำให้อำนาจนอกระบบมาอยู่ในระบบ และเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งระบบเผด็จการทหารจะฝังรากลึกในการเมือง เมื่อทหารได้อำนาจแล้ว โอกาสที่จะออก และคืนอำนาจเองนั้นทำได้ยากมาก และเมื่อมีการก่อรัฐประหารจะมีความพยายามคิด และวางแผนว่าจะทำอย่างไร ถึงจะเข้าสู่อำนาจและสืบทอดต่อไปให้นานที่สุด 

นอกจากนั้น เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 บทบาททหารเข้ามาอยู่ในการเมืองอย่างชัดเจน ทั้งบทบาทในการสลายการชุมนุม หรือบทบาทในทางการเมืองที่เด่นชัดขึ้นมาด้วย คนในสังคมเริ่มคอยลุ้นในทุกครั้งเมื่อต้องแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบกว่าเป็นใคร และจะมีบุคลิกภาพ ท่วงทำนองการวางตัวทางการเมืองเป็นอย่างไร สิ่งนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าทหารเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง

คนไทยต้องเรียนรู้อะไรจาก 19 กันยายน 2549 ?

“เวลามีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต้องแก้ปัญหาในระบบ”

สมบัติ บุญงามอนงค์ ให้คุณค่าความหมายและมองว่าสำคัญที่สุด

คนไทยต้องเข้าใจพื้นฐานของประชาธิปไตย คือการอยู่ภายใต้กฎและกติกาเดียวกัน กลไกทางการเมืองต้องเป็นตัวเลือกเดียวที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่ายอมให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แม้จะรู้สึกว่าอำนาจนั้นจะมีบารมี ดีงาม และเหมาะสมเพียงใดก็ตาม เพราะอำนาจของประชาชนได้แสดงเจตจำนงไปแล้วผ่านการเลือกตั้ง

“ต้องรู้เท่าทันกลุ่มการเมืองที่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ” สมบัติ เล่าว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนในช่วงปี 2549 นั้น ประชาชนทั้งหมดเป็นใบเบิกทางให้ทหารเข้าสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหาร โดยอ้างสถานการณ์ความขัดแย้ง และความชอบธรรมจากมวลชน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าประชาชนทุกคนจะเข้าใจเรื่องนี้ได้โดยง่าย และทุกคนจะเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร สิ่งนี้เป็นเรื่องการวางกลยุทธ์ ท้ายที่สุดจะมีแกนนำเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่รู้เห็นเป็นใจต่อแผนการรัฐประหาร เราจึงเห็นผู้ชุมนุมมากมายที่ออกมาขอโทษ เพราะไม่รู้เท่าทันว่ากำลังเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองอยู่นั่นเอง  

“อำนาจซึ่งใช้โดยทหาร ไม่สามารถตรวจสอบได้”

คือเมื่อคณะรัฐประหารได้อำนาจมาแล้ว จะยากต่อการตรวจสอบ ว่าการบริหารงานเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่ การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นหรือไม่ และที่สำคัญคือ การทำงานมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างในปัจจุบันนี้ สังคมยังไม่สามารถรู้ได้เลยว่าทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีมีจำนวนเท่าไหร่ ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี ที่อยู่ในตำแหน่งทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ (นับจากการรัฐประหารปี 2557) การเขียนรัฐธรรมนูญและกฏกติกาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองเช่นนี้ คือความเลวร้ายที่เกิดจากการทำรัฐประหาร 

เขามองว่า ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐประหาร 2557 คือสายธารเดียวกัน แม้ระยะเวลาจะล่วงเลยมา 15 ปี และเป็นช่วงเวลาที่ประเทศถดถอยครั้งใหญ่ เกิดเหตุการณ์และปรากฏการณ์มากมาย ถึงแม้ว่าจะทั้งเหนื่อย ทั้งเบื่อกับสภาวะทางการเมืองเช่นนี้ แต่ถามว่าเราหยุดต่อต้านได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ เพราะถ้าประชาชนหยุด เผด็จการจะกินรวบและลงรากลึก สำหรับเขาแล้วนี่เป็นการเดินทางไกล และจะส่งมอบต่อกันเป็นช่วง ๆ

ปัจจุบัน “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ “บ.ก.ลายจุด” ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านกิจกรรมประท้วงที่เด่นชัดไปด้วยลายเซ็นของตัวเอง “Car Mob & Car Park” รวบตึงความแปลกใหม่ สร้างสรรค์ และเสียดสีผู้มีอำนาจ แต่หนักแน่นไปด้วยหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย และข้อเรียกร้องซึ่งตรงไปตรงมา คือ การยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้กับประชาชนอย่างที่สมบัติปวารณาตัวเองมาตลอดทั้งชีวิต


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้