เปิด “สมุดปกขาว” ข้อเสนอนโยบายภาคประชน ถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

เวทีสุดท้าย “เมืองมีส่วนร่วม” เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ แนะ สร้างกลไกการมีส่วนร่วม ติดตามผลการปฏิบัติตามนโยบายที่เป็นรูปธรรมหลังการเลือกตั้ง พร้อมส่งคำถามตรงถึงผู้สมัครฯ บนเวทีดีเบต

วันนี้ (16 พ.ค. 2565) ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคประชาชน 84 องค์กร ในนาม “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” จัดกิจกรรมและเวทีนำเสนอนโยบายถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในหัวข้อ “เมืองมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายของกิจกรรม “ฟังเสียงกรุงเทพฯ” และเป็นเวทีสำคัญในการประมวลผลจัดทำ “สมุดปกขาว” เพื่อเป็นข้อเสนอนโยบายของภาคประชาชนในการระดมเสียง สร้างการมีส่วนร่วมนำเสนอนโยบายสาธารณะต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่

ฐิติกร สังข์แก้ว นักวิจัยเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย

‘ฐิติกร สังข์แก้ว’ นักวิจัยเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (TPD) ในฐานะตัวแทนทีมนักวิชาการร่างสมุดปกขาว กล่าวถึงที่มาที่ไปของสมุดปกขาวว่า เนื่องจาก กทม. ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ปี 2556 ระหว่างนั้นสังคมเกิดการพลวัต และโจทย์ท้าท้ายใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ทำให้ปัญหา ช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยิ่งทวีความสลับซับซ้อน เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำให้ผู้สมัครหลายคนชูนโยบายแข่งขันกันในหลากหลายประเด็น ด้วยเหตุนี้เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จึงร่วมกับไทยพีบีเอส จัดเวทีฟังเสียงกรุงเทพฯ มา 5 เวที ต่อเนื่อง ได้แก่ เมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ นำมาสู่เวทีสุดท้าย เมืองมีส่วนร่วม เพื่อให้ความต้องการ ภาพฝัน ของประชาชนที่มีความซับซ้อน ถูกเพิ่มเติมเข้าไปเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ นอกเหนือจากแผนยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580)

“การที่มีข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าไป อย่างแรกหมายความว่าเราต้องไปทบทวนแผนยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี ว่ามีความครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน อย่างที่สองแผนฯ อาจจะทำไว้ดีแล้ว เพียงแต่เป็นแผนฯ ระยะยาว ในขณะที่สมุดปกขาวมาจากความต้องการวันนี้ และมี 4 ประเด็นที่ไปไกลกว่าแผนฯ ระยะยาวยาวของกรุงเทพฯ ฉะนั้น ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็น่าจะรับฟังไว้”

ฐิติกร สังข์แก้ว

โดยประเด็นที่เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เสนอเพิ่มเติมจากแผนยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี คือ

  1. พื้นที่สาธารณะคนรุ่นใหม่ จากเวทีเมืองน่าอยู่
  2. ความรุนแรงทางเพศ ในครอบครัว ที่ กทม. ต้องให้ความสำคัญในการมีระบบเฝ้าระวัง รับแจ้ง ฟื้นฟู จากเวทีเมืองปลอดภัย
  3. ความเท่าเทียมทางเพศ จากเวทีเมืองเป็นธรรม
  4. ยกระดับศักยภาพชุมชน จดทะเบียนชุมชน จากเวทีเมืองเป็นธรรม
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญ จำเป็นของการที่ภาคประชาชน ควรเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ข้อเสนอเชิงนโยบาย อย่างแรก คือ สมุดปกขาวเล่มนี้ เป็นกลไกนโยบายเชิงวิพากษ์ ในสังคมประชาธิปไตย ที่ไม่ได้ยึดมั่นกับคำสัญญาของผู้สมัครเท่านั้น แต่เป็นการร่วมคิด ร่วมตรวจสอบ มองความเป็นไปได้เชิงนโยบาย โดยมุ่งให้อำนาจกับประชาชน  

“เราจำเป็นต้องมีกลไกการวิพากษ์ในระดับนโยบายที่มุ่งให้อำนาจกับประชาชน ไม่อย่างนั้นคุณก็จะได้นโยบายที่เหมือนกับสินค้าที่เข้าไปยืนชี้ แล้วใครสัญญาว่าจะให้อะไรก็เอาพอถึงเวลา 4 ปี ก็เลือกตั้งใหม่ เพราะฉะนั้นนโยบายแบบที่ภาคประชาชนกำลังทำกันอยู่ นอกจากมาจากตัวเรายังส่งเสริมให้ประชาชนสามารถที่จะมีอำนาจในการติดตาม เงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพเพิ่มขึ้น”

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ตัวแทนภาคประชาชนจาก 6 เมือง ยังร่วมกันสรุปข้อเสนอในสมุดปกขาว เช่น

เมืองน่าอยู่ มีข้อเสนอ เพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการน้ำ จัดการฝุ่น จัดการขยะ ไปจนถึงการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ

เมืองปลอดภัย เน้นการพัฒนาระบบสุขภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดอาชญากรรมในเมืองและช่วยเหลือพิบัติภัยในชุมชนแออัด ความเสมอภาคระหว่างเพศ ผ่องถ่ายงานให้ภาคประชาชนที่มีความสามารถ เข้าใจในปัญหาเป็นคนทำ

เมืองทันสมัย ที่การขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล

เมืองเป็นธรรม การดูแลกลุ่มเปราะบางให้มีชีวิตอย่างเท่าเทียม รวมถึงความเป็นธรรมของเมือง อยู่ร่วมในเมืองอย่างไรโดยไม่ถูกเบียดขับ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

เมืองสร้างสรรค์ เช่น การเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน และการพัฒนาระบบศิลปวัฒนธรรมอย่างครบวงจร

เมืองมีส่วนร่วม เน้นการสร้างกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะโดยภาคประชาชน

เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ยังร่วมกันวางเส้นทางและตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบนโยบายผู้ว่าฯ กทม. หลังเลือกตั้งว่าจะขับเคลื่อนร่วมกันต่ออย่างไร เช่น การเสนอให้มีการประชุมเป็นประจำ เช่น ทุก 3 เดือน กทม. พบประชาชน หรือมีธรรมนูญระดับเขต เปิดเวทีกลางในเขตในเมือง มีตัวแทนของประชาชน เข้าไปร่วมคิด ร่วมทำกับผู้ว่า ทีมผู้สมัคร ข้อเสนอเชิงนโยบายจาก 6 เวที จะถูกนำไปเป็นประเด็นคำถามในเวทีแสดงวิสัยทัศน์ผู้ว่าฯ กทม. ที่ไทยพีบีเอส อาทิ “การสร้างเมืองประชาธิปไตยจากการมีส่วนร่วม” ผู้สมัครแต่ละคนมีอะไรเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมมอบ “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน” สัญญาประชาคมเพื่อเปลี่ยนมหานคร ให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน