ไม่หวั่น “สังคมสูงวัย” เมื่อผู้สูงอายุไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

“ลุงหงอก” ชายวัย 77 ปี ไม่หวั่นสังคมสูงวัย ใช้ช่องทางติ๊กต็อกช่วยเยียวยาคนนอนไม่หลับ ด้าน “อ้ายจง” มองปรากฏการณ์ “อินฟลูเอนเซอร์รุ่นเก๋า” ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง คือทางออกสังคมสูงวัยคุณภาพ

“เตรียมหูฟังพร้อมแล้วนะ หายใจเข้าลึก ๆ ฟัง…”

หากคุณเป็นคนที่ติดตาม ช่อง “LoongNgorkGigGog” ในสื่อออนไลน์ยอดนิยมอย่างติ๊กต็อก (Tiktok) อาจจะเรียกภาพที่เห็นนี้ว่า “ภาพที่มีเสียง” เพราะต้นเสียงมาจากติ๊กต็อกเกอร์ วัย 77 ปี ที่มียอดผู้ติดตาม มากกว่า 8 แสนคน ซึ่งในวันที่ 14 เมษายน นี้ ครบ 1 ปี ของช่องติ๊กต็อก ที่ช่วยเยียวยาให้คนนอนไม่หลับสามารถข่มตาลงได้

ไกรสร พรหมพิทักษ์ ผู้สูงอายุ เจ้าของช่อง LoongNgorkGigGog

ไกรสร พรหมพิทักษ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ลุงหงอก” คือชายวัย 77 ปี ผมสีดอกเลาทั่วศรีษะ ตามความหมายของชื่อที่ใช้เรียกตัวเอง ช่วง 5 ทุ่ม – ตี 1 ของทุกคืน เขาจะปรากฏตัวพร้อมด้วยขันสีทอง 1 ใบ กับไมโครโฟน เคาะให้เกิดเสียงเพื่อช่วยบำบัดอาการของผู้ที่มีปัญหานอนหลับยาก วิธีนี้บางคนอาจจะเรียกว่า ASMR (Autonomous sensory meridian response) แต่สำหรับลุงหงอก เขานิยามมันว่า “การลำเลียงโมเลกุลของเซลล์ในระดับดีเอ็นเอของเซลล์ประสาท ที่เขาว่า” ไม่ผิดหรอกครับ ลุงหงอกพยายามย้ำว่า “ที่เขาว่า” ให้เราฟัง

“ลุงไม่อยากให้ใครมาเชื่อ 100% อย่างเรื่องการเคาะขัน ลุงก็ศึกษาจากทฤษฎีของ เออร์เนสต์ รัทเธอร์ฟอร์ด (Ernest Rutherford) ว่ามีพลังงานในนิวเคลียส ลุงก็ใช้ศาสตร์พลังงานธรรมชาตินี่แหละเอามาปรับใช้เข้าไปบำบัดอย่างเป็นลำดับ ไม่สะเปะสะปะอย่างเทคนิคของฝรั่ง แต่สุดท้ายใครจะเชื่อไม่เชื่อลุงก็บอกให้หารสอง ซึ่งที่ทุกคนก็ขอบคุณลุงนะว่าช่วยให้เขานอนหลับได้”

ไกรสร พรหมพิทักษ์ 

ใช้ทักษะของคนวัยเก๋า สร้างตัวตนในโลกสมัยใหม่

ความคล่องแคล่ว และลีลาแพรวพราว ในการจัดรายการบนช่องติ๊กต็อก ส่วนสำคัญมากจากพื้นฐานด้านสื่อสารมวลชนตั้งแต่วัยหนุ่ม เป็นมาแล้วทั้งบรรณาธิการนิตยสารกรังด์ปรีซ์ เขียนนิตยสารช่างวันหยุด กระทั่งได้จัดรายการวิทยุ “พิทักษ์ยานยนต์”  และรายการช่างวันหยุด การจัดรายการวิทยุยานเกราะ AM 540 KHz ในรายการปรัชญาชีวิต ก่อนจะเกษียณตัวเองมาจัดรายการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ และเห็นถึงคุณค่าในตัวเองที่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับคนที่กำลังเดือดร้อน

“ลุงก็พยายามหาช่องทางใหม่ ๆ เพราะวิทยุคนไม่ค่อยฟังกันแล้ว เห็นวัยรุ่นเขาเล่นติ๊กต็อกกันก็เลยลองถ่าย จัดมุม ปรับแสง มีคนมาช่วยบ้าง ก็กลายเป็นอย่างทุกวันนี้ เรื่องเทคโนโลยีลุงว่ามันเรียนรู้กันได้ สำคัญคือจะทำยังไงให้เรายังต่อติดกับคนแก่และคนหนุ่มสาวได้มากกว่า เพราะทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับเหมือนกันนะว่าที่เด็กไม่ฟังผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่ดีพอแล้วหรือเปล่า อย่างลุงจะใช้สูตร 30-70 คือเราบอกสิ่งที่เราผ่านมา 30 ที่เหลืออีก 70 เราก็คุยด้วยภาษากับเขาเหมือนเพื่อนและให้เขาใช้ความคิดของตัวเอง อันนี้อาจจะเป็นเสน่ห์ของลุงก็ได้นะ”

ไกรสร พรหมพิทักษ์ 

ก้าวต่อไปหลังวัย 77 ปี ลุงหงอกยังไม่หยุดเติมความรู้ให้กับตัวเอง ที่สนใจเกี่ยวกับสุขภาพ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม  ส่วนในอนาคตยังมองปัญหาสังคมชายเป็นใหญ่ และความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาสำคัญที่ที่ต้องรณรงค์ และใช้พื้นที่ออนไลน์ สานต่อความตั้งใจในช่วงบั้นปลายของชีวิต

“อ้ายจง” มองปรากฏการณ์ “อินฟลูเอนเซอร์รุ่นเก๋า” ทางออกสังคมสูงวัยคุณภาพ

หากพูดถึงประเทศที่เผชิญสถานการณ์ผู้สูงอายุใกล้เคียงไทยมากที่สุด จีนมีประชากรสูงวัย 267 ล้านคน ซึ่งกำลังจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 300 ล้านคนในปี 2568 มีคุณย่าวัง อายุ 80 ปี สอนเคล็ดลับการใช้ชีวิตให้อ่อนกว่าวัย จนมีผู้ติดตามมากถึง 15 ล้านคน ที่ไม่ใช้ผู้ติดตามที่เป็นรุ่นใหม่ แต่ยังรวมถึงผู้สูงอายุ ที่รู้สึกว่าเคล็ดลับที่ได้จากคุณย่าวังมีความน่าเชื่อถือ และมีอิทธิพลไปถึงการแต่งกาย ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ดันให้ผู้สูงอายุกลายเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนในเวลานี้

ภากร กัทชลี ภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภากร กัทชลี ภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเพจอ้ายจง เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีน อธิบายว่า แนวคิดของจีน คือ เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงสังคมสูงวัยได้ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ และเพื่อสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เช่น นโยบาย Healthy China 2030 ตั้งเป้าให้คนจีน “อายุยืน” พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณสุขเต็มกำลังเพื่อรองรับนโยบายนี้ รวมถึงการร่วมมือกับภาคเอกชนจัดอบรมการใช้สื่อดิจิทัล และการค้าออนไลน์ ถึงในพื้นที่ชนบทห่างไกล จึงมีผู้สูงอายุจีนหันมาใช้สื่อโซเชียล ขายของออนไลน์ เช่น สินค้าการเกษตรมากขึ้น ขณะเดียวกัน สื่อในการนำเสนอประเด็นผู้สูงอายุต้นแบบ ที่เป็นแรงบันดาลใจ ยังกระตุ้นให้ผู้สูงอายุในจีนกล้าใช้สื่อโซเชียลมากขึ้น

“ในเรื่องการเจ็บป่วยเราปฏิเสธไม่ได้ จีนก็ผลักดันเป็นแผนดูแลระบบสาธารณสุข สาธารณูปโภค ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ในด้านส่งเสริมศักยภาพก็ต้องทำ เช่น การใช้เทคโนโลยี การเพิ่มอาชีพพาร์ทไทม์ในผู้สูงอายุ ยืดอายุใบอนุญาตขับขี่ รวมถึงในสื่อหลัก สื่อรองของจีน จะมีการประชาสัมพันธ์ให้เห็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่มีคุณภาพออกมาเรื่อย ๆ จึงเป็นเหมือนการปลูกฝังทำให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญตรงนี้”

ภากร กัทชลี

แม้หลายฝ่ายจะแสดงความกังวลที่ภายในปีนี้ไทยจะมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ เพราะนั่นอาจหมายถึงงบประมาณด้านสาธารณสุข และการขาดแคลนกำลังแรงงาน แต่ในทางกลับกัน ภากร เห็นว่า จีนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากมีแผนรองรับที่ดี สังคมสูงวัยอาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่โจทย์สำคัญคือจะทำให้เป็นสังคมที่ทุกช่วงวัยมีคุณภาพในแบบของตัวเองได้อย่างไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน