ใคร ๆ ก็เคยเป็นหนี้? แต่เรามีทางแก้ |”โค้ชหนุ่ม” Money Coach

“ใคร ๆ ก็เคยเป็นหนี้ ?” คุยกับ “โค้ชหนุ่ม” จักรพงษ์ เมษพันธุ์ วิทยากรด้านการเงินและการลงทุน เจ้าของเพจ Money Coach เปิดสถิติที่น่าสนใจของรัฐและประชาชนที่ต่างก็เป็นหนี้ ในยุคโควิด-19 พร้อมแชร์ประสบการณ์ล้างหนี้ครัวเรือน แบบฉบับโค้ชหนุ่ม ใน Active Talk (10 มี.ค. 2564)

อ่านตลาดให้ออก ตกงานก็มีรายได้

2-3 ปี ก่อนหน้านี้ เราอาจจะไม่กลัวเพราะไม่มีใครคิดว่าจะมีโควิด-19 ทุกคนใช้จ่ายเงินตามสบาย แต่เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น ยังไม่ถึงกับต้องตกงาน แต่ถ้าเงินหายไป 10% ชีวิตก็ลำบากแล้ว เพราะสโลแกนคนทำงาน คือ “เงินเดือนเอาไว้ใช้หนี้ โอทีเอาไว้รับประทาน” ฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีเงินพิเศษ ก็ตายก่อนเลย เพราะเงินที่รับประทานไม่มีแล้ว เงินเดือนเอาไว้ใช้หนี้ได้อย่างเดียว ผมจึงมองว่ามันอาจมาจากนิสัยที่เราใช้เงินไปเยอะด้วยส่วนหนึ่ง แต่ผมมองว่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 กับวิกฤตเศรษฐกิจ จากโควิด-19 มีความต่างกันที่โอกาส

เรามีโอกาสที่จะสร้างรายได้ใหม่ ๆ สร้างรายได้เพิ่ม สมมติคุณเก่งอะไรก็ได้สักเรื่องหนึ่ง คุณโชว์มันลงไปในโซเชียลมีเดีย คนเห็นตามกันมาเลย เพราะฉะนั้น มันเป็นยุคที่เราสามารถโชว์ของได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราโชว์ไม่ได้ มันกลายเป็นว่าของอยู่กับเรา เราก็ไม่มีโอกาสสร้างคุณค่า สร้างมูลค่าขึ้นมาเลย ผมจึงมองว่าวิกฤตครั้งนี้หนักก็จริง แต่มีโอกาสอยู่

ยุคนี้เป็นยุคของการขายความรู้ บางครั้งคนเราเวลาจะทำอะไร เราชอบมองเรื่องใกล้ตัว ว่าอันนี้พอทำได้ อันนี้ทำได้ก็ทำไปก่อน ซึ่งไม่ได้ผิด หากมันช่วยขับเคลื่อนรายได้ของเราไปได้ก่อนจะมากหรือน้อยว่ากันไป แต่ผมคิดว่าหากเราได้รายได้ดูแลตัวเองส่วนหนึ่ง อยากให้เรามีเวลานั่งคิดจริง ๆ จัง ๆ อยากให้คนที่มีปัญหาลองดึงต้นทุนชีวิตของตัวเองออกมา

ต้นทุนชีวิตของเรามันอาจจะเป็นความรู้ ประสบการณ์ งานอดิเรก เป็นสิ่งที่เราเคยทำ เป็นเครือข่ายคนรู้จัก เพราะหากเรามีเพื่อนคนรู้จักทำกิจการเราอาจจะเอาของเขามาทำการตลาด หรืองานอดิเรกของเรา สิ่งที่ทำแล้วมีความสุขแต่ไม่ได้สร้างรายได้ ก็เปลี่ยนมันให้เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขและสร้างรายได้ด้วย

อีกสิ่งสำคัญ คือ ลดรายจ่าย ลดการกินการใช้ และต้องเป็นการร่วมมือกันกับทั้งครอบครัว

ข้อเสนอ/นโยบาย เยียวยาระยะสั้น-ยาว

สิ่งที่รัฐควรจะช่วยคือปัจจัยพื้นฐาน เช่น ของกิน ของใช้ แต่ถ้าในระยะยาวจะต้องเป็นเรื่องของการมีงานทำ

อาจเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ส่งเสริมการจ้างงาน หากเอกชนจ้างงานจะได้รับเงินอุดหนุนสนับสนุนครึ่งหนึ่ง แต่อาจจะต้องเป็นงานที่ฝึกทักษะที่สามารถนำมาใช้ในระยะยาวได้ หรืออาจจะสนับสนุนให้เป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอการจ้างงานจากที่อื่น หากว่าเราเปลี่ยนจากคนที่เคยตกงาน กลายเป็นผู้ประกอบการ เขาจะมีการจ้างงานต่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย มีนโยบายช่วยเหลือด้านการเงิน หักลบกลบหนี้ ลองดูว่าคุณอยู่ในกลุ่มไหน ถ้าคุณเป็นคนมีหนี้ ยังผ่อนชำระหนี้ได้เป็นปกติ หรือเริ่มผิดนัดชำระบ้างแล้วแต่ยังไม่ถึง 3 เดือน กลุ่มนี้เรียกว่ายังไม่เป็นหนี้เสีย เข้าไปที่เว็บไซต์แล้วค้นหา “ทางด่วนแก้หนี้” เข้าไปเจรจาได้เลย จะลดการจ่าย จะจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย จะลดงวดค่าผ่อนชำระ “หนี้เป็นระบบคู่สัญญา คนที่คุณควรคุยมากที่สุดคือเจ้าหนี้คุณ” เขามีให้เลือก 8 รูปแบบ เช่น พักจ่าย คือหยุดจ่ายทั้งก้อนแต่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไปก่อน เปลี่ยนหนี้ไปเป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยต่ำลง หรือยืดหนี้

สอง เราผิดนัดชำระไปแล้วไม่จ่าย 3 เดือนแล้ว อันนี้คือ หนี้เสียแล้ว คุณต้องไป “คลินิกแก้หนี้” จะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้เรา เช่น หนี้ 1 แสนบาท ผ่อน 1,200 บาท ยาว 10 ปี ดอกเบี้ยที่เราเคยค้างอะไรทั้งหมดจะยกให้ หากว่าเราทำตามแผนการชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข สาม หากว่าคุณถึงขั้นฟ้อง บังคับคดีแล้ว ตรวจะอายัดเงิน เตรียมจะยึดทรัพย์แล้ว ให้ไปที่ “มหกรรมไกล่เกลี่ย” เขาจะเปิดให้คุยและมีมาตรการให้จ่าย เช่น 3 เดือน 3 ปี 5 ปี จบ เฉพาะเงินต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้