Thailand Web Stat

รัฐบาลเผยความสำเร็จนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 2 ใน 8 จังหวัด

โฆษกรัฐบาล ชี้ เป็นการพัฒนาบริการด้านการสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดในรอบ 23 ปี ย้ำ นายกฯ มุ่งขยายผล ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการฯ ต่อเนื่อง

วันนี้ (21 เม.ย. 2567) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงความสำเร็จ แบบรูปธรรมที่เกิดจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ของรัฐบาล สืบเนื่องจากความสำเร็จจาก 4 จังหวัดนำร่อง (เฟส 1) ขยายผล เป็น 8 จังหวัด (เฟส 2) ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่รัฐบาลภูมิใจ 

พร้อมระบุว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสมอว่าต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ต้องการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง มุ่งสั่งการ ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนในวันนี้ ถือเป็นอีกก้าวที่รัฐบาลเพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสม ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในบริการของรัฐและเอกชนที่เข้าร่วม 100% ด้วยนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่  

“การพัฒนาบริการทางสาธารณสุข และลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการฯ ได้อย่างครอบคลุม เป็นหนึ่งในความตั้งใจที่นายกรัฐมนตรีมีเสมอมา ซึ่งต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่พร้อมดำเนินการตามแนวทาง นโยบายของนายกรัฐมนตรี และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะขยายการให้บริการได้อย่างทั่วถึง ทั่วประเทศต่อไป”

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
title
ชัย วัชรงค์

ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยข้อมูล จากกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันความสำเร็จที่เกิดขึ้น จากบริการที่รัฐบาลมุ่งมั่นส่งต่อเพื่อประชาชนทุกคน ดังนี้ 

1) ระยะเวลาใช้บริการ ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง จาก 127 นาที/ครั้ง เหลือ 56 นาที/ครั้ง 

2) รับยาใกล้บ้าน ลดแออัด ลดรอคิว 

3) สามารถใช้บริการหน่วยบริการแบบคลินิกหน่วยบริการแบบคลินิกขยายตัวขึ้น 5 เท่าตัว ประชาชนเข้าถึงการบริการง่ายและสะดวกขึ้น 

4) การแพทย์เชิงป้องกัน ฉีดวัคซีน HPV ลดมะเร็งปากมดลูก (เด็กหญิง 11-20 ปี) เกิน 1 ล้านโดส 

5) จัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวช รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ครบตามเป้า 127 แห่ง และจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ครบ 76 จังหวัด 

6) จัดตั้งสถานชีวาภิบาล 137 แห่ง ใน 44 จังหวัด และจัดตั้งกุฎิชีวาภิบาลต้นแบบ 4 แห่ง 

7) จัดตั้ง รพ.นครพิงเชียงใหม่ ขนาด 120 เตียง เพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมือง 

8) เพิ่มอัตราการเกิดของเด็กอย่างมีคุณภาพ คลินิกส่งเสริมการมีบุตร 889 แห่ง คัดกรองโรคหายากในทารกแรกเกิด 1.2 แสนคน 

9) เพิ่มบรรจุพยาบาลวิชาชีพ 2 พัน 7 ร้อยอัตรา (เป้า 3 พัน 3 ร้อยอัตรา) — ส่งเสริมความก้าวหน้า พยาบาลชำนาญการพิเศษมากกว่า 9 พันอัตรา (เป้า 1 หมื่นอัตรา) และอบรมบุคคลากร care D+ Team แล้ว 1 หมื่นคน เพื่อสื่อสารกับผู้ป่วย 

10) โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ผ่านเกณฑ์ประเมิน รพ.อัจฉริยะ 

11) จัดตั้งชุมชนสุขภาพต้นแบบ Healthy city MODELs ครบทุกเขตสุขภาพ — จัดตั้งเครือข่ายราชทัณฑ์ปันสุขต้นแบบครบ 12 เขตสุขภาพ และจัดตั้งโครงการ Money safety ให้คำปรึกษาด้านการเงินบุคคลากรสาธารณสุข 

12) จัดตั้งทีม Sky Doctor เพิ่มความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวครบทุกเขตสุขภาพ 

สุดท้ายโฆษกรัฐบาลยังย้ำว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ถือเป็นการพัฒนาบริการด้านการสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดในรอบ 23 ปี ตั้งแต่โครงการเริ่มต้นเมื่อปี 2544 รัฐบาลใช้ทั้งเทคโนโลยี Digital เชื่อมโยง เพิ่มหน่วยบริการมากขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยการเพิ่มหน่วยบริการ ปฐมภูมิ ได้แก่  คลินิก ร้านยา ทำฟัน แลป และเพิ่มหน่วยบริการใกล้บ้าน ทำให้ประชาชนลดเวลาเดินทาง บริการสะดวกขึ้น ซึ่งจะส่งผลสำคัญในการลดความแออัด ที่โรงพยาบาล รวมทั้งลดภาระแพทย์ และพยาบาล ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายจากรัฐ แต่ได้รับบริการเพิ่มขึ้น ถือเป็นการจัดสรรบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active