ชำแหละงบฯ 67 แก้ PM2.5 วอนรัฐบาล ห่วงปอดประชาชน

สส.เชียงใหม่ ก้าวไกล สับร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67 ไม่สอดคล้อง วาระชาติแก้ฝุ่น ไม่กระจายสู่ท้องถิ่น เหมือนไม่มีวิกฤต เสนอโมเดลสร้างตึก 5 ชั้น สะท้อนโครงสร้างแก้ฝุ่นทั้งระบบ

วันนี้ (4 ม.ค 67) วันที่ 2 ของการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยระบุว่า เอกสารงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลนั้นเปรียบเสมือนภารกิจพร้อมตัวเลขงบประมาณที่จะทำให้กับประชาชน เป็นหลักฐานที่จะพิสูจน์สิ่งที่ผู้บริหารประเทศ คณะรัฐมนตรีเคยแถลงให้คำสัญญาไว้ โดยเจาะลึกไปที่วาระแห่งชาติแก้ปัญหา PM2.5 ว่า จากงบประมาณทั้งหมด มองว่าตัวเลขไม่สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหา และไม่ได้ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้จากรัฐบาล

ภัทรพงษ์ ระบุว่า ปัญหาฝุ่นต้องแก้ทั้งโครงสร้างเปรียบเหมือนการสร้างตึก 5 ชั้น ที่เริ่มตั้งแต่การวางฐานรากด้วย “กฎหมาย” ซึ่งสามารถสร้างผ่านกลไกของรัฐสภาได้ แต่ในชั้นที่เหลือ ต้องอาศัยฝ่ายบริหาร จึงชวนตรวจสอบงบประมาณของรัฐบาลไปทีละชั้นว่าสิ่งที่รัฐบาลพูด มีอะไรอยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67 บ้าง และมีอะไรที่พูดไว้แล้วไม่ได้ทำ

ชั้นที่ 1 สาธารณสุข พบว่า งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 เพียงแค่ผิวเผิน คือ “ยุทธศาสตร์ แผนจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม” รวมงบประมาณ 293.3 ล้านบาท แต่ในรายละเอียดงบประมาณ จำนวน 292.1 ล้านบาท เพื่อยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาล Green & Clean ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 ส่วนอีก 2.6 ล้านบาท เป็นงบฯ ของกรมอนามัย ที่ตั้งเป้าหมายว่าปี 67 จะลดจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจลงร้อยละ 5 เมื่อไปดูรายละเอียดของงบฯ นี้ มีเพียง 2.8 ล้านบาทเท่านั้นที่เป็นการลดผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งเทียบเท่ากับโครงการเครื่องตรวจวัดระดับค่า PM2.5 เครื่องเดียวที่ จ.สระบุรี เท่านั้น รวมถึงเป้าหมายของโครงการ ระบุว่า คนไทยร้อยละ 85 จะต้องได้รับการปกป้องจากการรับและสัมผัส PM2.5

ภัทรพงษ์ ยังเปิดข้อมูล ผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งชายและหญิง พบว่า โรคอันดับที่ 2 คือ “มะเร็งปอด” ภาคเหนือมีผู้ป่วยสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น เช่นเดียวกับอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ขณะที่ประชากรที่สูบบุหรี่ในไทยน้อยที่สุดคือภาคเหนือ ดังนี้

  • ผู้ชายภาคเหนือ มีโอกาสเป็นมะเร็งปอด สูงกว่าภาคอื่น 1.4 เท่า

  • ผู้หญิงภาคเหนือ มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าภาคอื่น 1.7 เท่า 

ทั้งที่สูบบุหรี่ของภาคเหนือ มีน้อยกว่าภาคอื่นถึงร้อยละ 10 ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้กระทบเพียงเฉพาะภาคเหนือ โดยอัตราผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจปี 66 ทั่วประเทศอยู่ที่ 6.82 ล้านคน เฉพาะภาคเหนือ 5.5 ล้านคนต่อปี 

“ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเข้าใจตัวเลขเหล่านี้ก่อนที่จะจัดงบประมาณแก้ปัญหา ซึ่งการจัดงบฯ เท่านี้ รัฐบาลเข้าใจปัญหาของประชาชนบ้างหรือเปล่า เปลี่ยนจากการใส่ใจเรื่องปากท้อง มาดูแลปอดประชาชนบ้างได้ไหม”

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

ขณะที่ รัฐบาลมีมติจัดการแก้ปัญหาฝุ่น คือ ให้กระทรวงสาธารณสุข จัดทำห้องปลอดฝุ่น แต่ในงบฯ 67 ไม่มี หรือแม้แต่ในงบฯ 64, 65 ก็ไม่มีเช่นกัน และที่ผ่านมาใช้งบฯ ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากองค์การอนามัยโลก (WHO)  งบฯ จากประชาชน หรือท้องถิ่น ที่อาสาจัดทำแล้วเอาไปเข้ากับกรมอนามัย ซึ่งกรมอนามัยแจ้งว่า ปัจจุบันมีห้องปลอดฝุ่น 1,178 แห่ง แต่เมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์ก่อนการเข้าประชุมสภาฯ ในวันนี้ พบว่า มีห้องปลอดฝุ่นที่ จ.เชียงใหม่ 4 ห้อง อยู่ในอำเภอเมืองทั้งหมด จึงเสนอว่าควรนำงบฯ กระจายให้ท้องถิ่นดำเนินการ เพื่อกระจายห้องปลอดฝุ่นให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำเรื่องการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน

ส่วนสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้วอย่าง “เครือข่ายมลพิษออนไลน์” ที่ให้ประชาชนไปปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพผ่านไลน์ หรือหากรุนแรงให้นัดผ่าน Telemedicine ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่เห็นว่าติดขัดในหลายด้าน เช่น คนกลุ่มเปราะบางไม่สามารถเข้าถึงออนไลน์ได้ ดังนั้น จึงควรเสริมระบบการลงพื้นที่ โดย อสม. เข้าไปด้วย และจัดงบฯ ในการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน PM2.5 ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและอาสาสมัครด้วย

พร้อมตั้งคำถามไปยัง กระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับงบประมาณ เครื่องฟอกอากาศให้กับโรงเรียนด้วย

“ผมตกหล่นออะไรไปหรือเปล่า งบฯ ไปซ่อนอยู่ตรงไหน มันน่าอายมากนะครับ ที่โรงเรียนไม่สามารถเป็นสถานที่ปลอดภัยให้กับลูกหลานเราได้”

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

ชั้นที่ 2 ไฟเกษตร สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล บอกว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอดีตกรรมาธิการการแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างเป็นระบบ มีผลการศึกษา บอกว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการลดการเผา และเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรที่ชัดเจน ขณะที่งบฯ 67 ลดการเผา ด้วยการทำปุ๋ยหมักในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 15.12 ล้านบาท มีเป้าหมาย คือ ลดพื้นที่การเผาในพื้นที่การเกษตร 21,000 ไร่ ขณะที่เป้าหมายกระทรวงเกษตร คือ ลดพื้นที่การเผาลงร้อยละ 50 ข้อมูลจากจิสด้าในปี 66 การเผาไหม้ในพื้นที่มีทั้งหมด 237,867 ไร่ เท่ากับว่าการตั้งงบฯ 67 ตั้งไว้เพียงร้อยละ 10 จากเป้าหมาย

“นั่นหมายความว่าท่านตั้งเป้าลดการเผาไว้ที่ 100,000 ไร่ แต่จัดงบฯ ไว้แค่ 21,000 ไร่ ไม่เหมือนที่คุยกันไว้ ท่านรัฐมนตรีอาจจะพูดว่าเรามีโครงการส่งเสริมเกษตรกรไม่เผา 9.7 ล้านบาท มีโครงการเฝ้าระวังการเผาซากพืชอีก 7 ล้าน แต่ช้าก่อนทั้ง 2 โครงการนี้เหมือน งบฯ ปี 66 เลย 1 ใน 4 ของโครงการทั้งหมดก็เป็นการอบรมสัมมนา”

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

ต่อมาคือการทำ “ระบบติดตามย้อนกลับ” ที่เป็นมติคณะรัฐมนตรีว่าสินค้าการเกษตรมีที่มาจากการเผาหรือไม่ ในงบประมาณ 4.5 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเทียบเท่ากับโครงการกว๊านพะเยาหลาย ๆ โครงการ หรือเรื่องของผลการศึกษาเองก็ชัดเจนว่า ธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) ต้องมีมาตรการลดการเผาให้เกษตรกรที่ชัดเจน ด้วยงบฯ  442 ล้านบาทให้กับชาวไร่อ้อยไม่เผา แต่เมื่อไปดูรายละเอียด พบว่า เป็นการเอาเงินปัจจุบันไปจ่ายให้กับโครงการในอดีต คือ เกษตรกรที่เข้าร่วมเมื่อปี 63 และ 64 

ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรม มีเครื่องสางใบอ้อย ลดการผาอยู่ 2.6 ล้านบาท และมีเรื่องของการทำเชื้อเพลิงชีวมวล จากอ้อย 8.6 ล้านบาท ขนาดอ้อยมีงบฯ แก้ปัญหาแล้ว ในปี 66 ยังมีรายงานอยู่ว่ามีการลักลอบเผาอ้อยอยู่ราว 10 ล้านตัน

ภัทรพงษ์ เสนอว่า ต้องตั้งงบฯ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ จัดเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรลดการเผา การปลูกพืชทดแทนข้าวโพดอาหารสัตว์ในพื้นที่สูง ต้องส่งเสริมงบประมาณ และงบฯ การรับซื้อการเกษตร แก้ไขประกาศที่เป็นต้นตอของฝุ่น ส่งเสริมเกษตรกร งบประมาณเกษตรกรให้เข้าร่วมมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการเผาสินค้าทางการเกษตรมากขึ้น และส่งเสริมทรัพยากรให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจได้อย่างเหมาะสม

“ผมทราบมาวว่าท่านนายฯ ลงพื้นที่ไปมอบนโยบายให้กับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ในเรื่อง PM2.5 คำสั่งไปอย่างเดียวแต่งบฯไม่มีแบบนี้ วิกฤตแบบไหน ท่านจัดงบฯ แบบนี้ครับ”

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

ชั้นที่ 3 ไฟป่า พบว่า งบประมาณส่วนนี้สูงขึ้นแต่กลับไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งที่มีองค์ความรู้ มีข้อมูล เช่น ข้อมูลพฤติกรรมการเผาในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และในช่วง ม.ค.- พ.ค. ไฟเคลื่อนจากจุดไหนไปไหน ข้อมูลการเผาไหม้สะสมของพื้นที่ภาคเหนือ ว่าพื้นที่ไหนต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่ไม่มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและต่อเนื่อง และกังวลถึงงบฯ ในการจัดอุปกรณ์ป้องกันไฟป่า ทั้งของพื้นที่และอาสาสมัครที่ไม่มีความชัดเจน เช่น โดรนตรวจจับความร้อน เพื่อให้สามารถเข้าดับไฟได้ตรงจุด มีต้องควานหาควัน จากงบประมาณ 80.7 ล้านบาท ในการจัดทำจุดเฝ้าระวังไฟป่า 1,000 จุด ในพื้นที่กรมอุทยาน พบว่า ไม่มีความชัดเจนว่างบฯ 80,000 บาทต่อจุด จะเกิดขึ้นในรูปแบบไหน และงบฯ ยังกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ไม่ถูกกระจายไปถึงคนที่รู้ปัญหาดีที่สุดอย่างท้องถิ่น เนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นของบฯ ไป 1,709 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดการป้องกันและเฝ้าระวังไฟป่าให้กับท้องถิ่น  2,368 แห่ง แต่ได้กลับไปจริงเพียง 50 ล้านบาท ทั้งที่มีปัญหาจำนวนเจ้าหน้าที่กรมอุทยานไม่เพียงพ่อรับมือปัญหาไฟป่า และทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เร็วเท่าชาวบ้าน อยากให้รัฐมนตรีตอบคำถามว่าทำไมจึงไม่จัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้กับท้องถิ่น 

“งบประมาณห้องปลอดฝุ่น ให้ท้องถิ่นก็ไม่มีงบฯ จัดการไฟป่าก็ไม่ให้ และเราทราบอยู่แล้วว่าในพื้นที่ใช้งบประมาณแก้ปัญหาเท่าไหร่ หรือจะปล่อยให้นักการเมืองท้องถิ่นควักกระเป๋าตัวเอง จัดทอดผ้าป่า ขายบัตรรำวง เอาเงินมาดับไฟป่าให้หรือ” 

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

ชั้นที่ 4 การพยากรณ์และการแจ้งเตือน ประเด็นนี้ พบว่า การพยากรณ์ PM2.5 จำเป็นต้องมี “เครื่องวัดค่าชั้นบรรยากาศใกล้ผิวโลก” หรือ The planetary boundary layer (PBL) คือชั้นที่ PM2.5 ไม่สามารถทะลุผ่านออกไปได้ เมื่อค่าต่ำลงทำให้เกิดความหนาแน่นของ PM2.5 เพิ่มขึ้น ซึ่งได้เห็นงบประมาณเรื่องนี้ในงบฯ ปี 67 แต่ที่กังวลคือ 19 ล้านบาท ทำที่กรุงเทพฯ ที่เดียว และโครงการนี้ผูกพันงบประมาณปี 66 – 67- 68 งบประมาณ 127 ล้านบาท จะได้เพียง 3 ที่ คือ จ.สงขลา, เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ เท่านั้น กับงบประมาณจำนวนมากขนาดนี้ ขอให้ รมว.กระทรวงดิจิทัล ชี้แจงในส่วนนี้ 

ในส่วนของการแจ้งเตือน งบฯ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เรื่องการแจ้งเตือนผ่านสัญญาณโทรศัพท์ ขอเสนอให้ กสทช.ใช้งบประมาณ USA จัดทำในส่วนนี้ รวมทั้งแอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT ทุกวันนี้ยังไม่เคยเตือนอะไรเลย เสนอว่า ให้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมมาประเมินปริมาณใบไม้ร่วง เพื่อประเมินเชื้อเพลิง ใบไม้แห้งในพื้นที่ป่า เพื่อให้สามารถจัดทำแนวกันไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ สูงสุด และประหยัดงบประมาณ

รวมทั้งการตัดไฟต้นลม คือการมีตัวตรวจจับค่า PM2.5 ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ก๊าซโอโซน เมื่อเกินมาตรฐาน จะแจ้งไปยังคนดับไฟในท้องถิ่น เป็นการตอบคำถามด้วยว่าทำไมจำเป็นต้องกระจายงบประมาณให้กับท้องถิ่น

“ผมขอฝากคำถาม เรื่องการแจ้งเตือนผมยังไม่เห็น ปีนี้ท่านจะทำการแจ้งเตือน PM2.5 อย่างไร เกณฑ์คุณภาพอากาศจะตั้งไว้ที่เท่าไหร่ Cell Broadcast ปีนี้ยังใช้ไม่ได้ แต่เราสามารถใช้ Location Based SMS ได้หรือไม่”

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

สำหรับ ชั้นที่ 5 ศูนย์บัญชาการ  ภัทรพงษ์ หยิบยกเรื่อง ปัญหาไฟป่าข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาฝุ่น PM2.5 ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ตั้งเป้าลดความเสี่ยง และผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 797.54 ล้านบาท ที่ไม่มีรายละเอียดการดำเนินการ ปรากฎเพียงตัวชี้วัด 2 เรื่อง คือ ข้อเสนอของไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ร้อยละ 80 และการจัดการประชุมหรือการสัมมนาหารือในประเทศไทย สามารถยกระดับให้เทียบเท่าระดับสากลได้ ร้อยละ 70

“ขอถามกระทรวงการต่างประเทศตรงนี้ ว่าโครงการนี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง มีความเกี่ยวข้องกับฝุ่นพิษข้ามพรมแดนหรือเปล่า เพราะถ้ามันเกี่ยวข้องผมขอให้เปลี่ยนตัวชี้วัดให้สัมฤทธิ์ด้วย”

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

ภัทรพงษ์ ยังระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุม ครม. ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศ เจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ตามกลยุทธ์ฟ้าใส หรือ CLEAR Sky Strategy ซึ่งมีตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ยังไม่เคยเห็นผลความคืบหน้า เสนอว่า เปลี่ยนความหมายยุทธศาสตร์เดิมเป็น ดังนี้

  • C : Commitment สร้างความมุ่งมั่นร่วมอาเซียน เจรจาตั้งเป้าหมายจำนวนจุดความร้อนและจุดเผาไหม้ใหชัดเจน

  • L : Leverage ใช้ข้อตกลงอาเซียนในเรื่องหมอกควันข้มแดน และข้อตกลง ATIGA ในการต่อรองแก้ไขประกาศการนำเข้าข้าวโพด
    อาหารสัตว์ กำหนดมาตรฐานหนังสือรับรองสินค้าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้ชัดเจน

  • A : Air Quality Network ระบบติดตามเฝ้าระวัง ครอบคลุมเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดการลุกลามของไฟป่า


  • R : Response ฝึกอบรมทีมดับไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้านและสนับสนุนงบฯ ป้องกันช่วยลดการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน

“ขอถามกระทรวงการต่างประเทศเพิ่มเติมครับ งบประมาณ 30 ล้านที่จัดให้กับมิตรประเทศที่ประสบภัยพิบัติ ท่านจะจัดงบประมาณส่วนนี้กับฝุ่นพิษข้ามแดนอย่างไร หรือไม่ เพราะถ้าไม่ผมขอทราบ เพราะท่านมีงบประมาณที่พร้อมที่จะจัดตรงนี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านหรือเปล่า”

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์
ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล

สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถามว่า จากที่ได้กล่าวถึงตึก 5 ชั้น มองเห็นอะไรในงบประมาณปี 67 เห็นชั้นที่ 1 กระทรวงสาธารณสุขที่จัดงบฯ มาโดยที่ไม่สะท้อนถึงปัญหา ชั้นที่ 2 ไฟเกษตร ที่พูดอย่างเดียวไม่มีเงิน ชั้นที่ 3 ไฟป่า ที่งบฯ กระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ไม่กระจายสู่ท้องถิ่น ชั้นที่ 4 งบฯ ในการแจ้งเตือนและพยากรณ์ที่ทำให้วิ่งตามเทคโนโลยีต่างประเทศไม่ทัน และติดขัดในภาคปฏิบัติ สุดท้าย ชั้นที่ 5 นอกจากไม่กระจายอำนาจ งบฯ แก้ปัญหาฝุ่นก็ยังคลุมเครือ โดยหวังว่ารัฐบาลจะนำสิ่งที่อภิปรายไปพิจารณาแก้ไข เพราะหากจัดงบฯ แบบนี้ ทางเดียวที่จะรอดคือ อาจต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active