แม้ศาลฯ มีมติยุบพรรคก้าวไกล ‘ปดิพัทธ์’-‘ณัฐพงศ์’ ย้ำนโยบายรัฐสภาโปร่งใสก็จะคงเดินหน้าต่อ จัด Hackathon ทิ้งทวนก่อนลาตำแหน่ง นำประชาชน คนไอทีกว่า 400 คน ระดมสมองข้ามคืน ประกาศนโยบาย Open Data-Cloud First
ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐสภา ได้เปิดโครงการสัมมนา “OPEN Parliament Hackathon 2024” ระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน เปิดพื้นที่ให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนมาร่วมออกแบบพัฒนาระบบข้อมูลของรัฐสภาด้วยแนวคิด “OpenData” เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลของรัฐสภาได้ง่ายยิ่งขึ้น นำไปสู่การมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
ปดิพัทธ์ กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสของรัฐสภา เนื่องจากภารกิจของรัฐสภามาจากเงินภาษีของประชาชน และต้องการสร้างระบบช่วย สส. และประชาชนทำความเข้าใจข้อมูลมหาศาลได้โดยง่าย โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาสรุปข้อมูลการประชุม, ใช้เทียบเคียงกฎหมายในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงการติดตามการนโยบายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ เพื่อปลดล็อกศักยภาพให้ สส. ทำงานได้คุ้มภาษีมากขึ้น
โดย ปดิพัทธ์ ย้ำว่า นโยบายสภาโปร่งใสไม่ใช่การขับเคลื่อนของตนเพียงคนเดียว แต่เป็นการผลักดันของข้าราชการภายในที่อยากเปลี่ยนแปลง รวมถึงพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่เห็นถึงประโยชน์ของนโยบายดังกล่าว ซึ่งไม่ว่าตนจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่ นโยบายนี้ก็จะเดินหน้าต่อไป
“การทำสภาฯ โปร่งใส่ไม่ได้เป็นนโยบายของผมคนเดียว แต่เป็นนโยบายของสภาฯ รับรองโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นไม่ว่าผมจะอยู่หรือไป แผนงานนี้ดำเนินต่อไปแน่นอน แต่อุปสรรคที่ทำให้ก่อนหน้านี้ไม่คืบหน้าเพราะระดับผู้นำไม่เห็นถึงความสำคัญมากพอ เพราะฉะนั้นผมก็หวังว่าหลักการที่ผมวางไว้ คนอื่นจะเล็งเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ”
ปดิพัทธ์ สันติภาดา
เปิดนโยบาย 9 เสา: รากฐานสู่สภาดิจิทัลโปร่งใส
ภายในงานมีการเปิดโครงการด้านไอทีของรัฐสภาตั้งแต่ปี 2568 ถึง 2570 เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการด้านไอทีได้รับทราบทิศทางการพัฒนาดิจิทัลของรัฐสภา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแบ่งกลุ่มระดมความคิดเพื่อออกแบบแพลตฟอร์มด้านข้อมูลเปิดของรัฐสภา ด้าน ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า จำนวนงบประมาณของโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ช่วงปี 2564 – 2567 ของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ สูงถึง 6.2 พันล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบกับงบฯ กรมอื่น ๆ อาจไม่มากนัก แต่นี่เป็นจำนวนที่สามารถเปลี่ยนโฉมรัฐสภาผ่านนวัตกรรมทางดิจิทัล และได้เปิดตัว ได้เปิดตัวนโยบายสภาโปร่งใสทั้ง 9 เสา ดังนี้
- Cloud First: เน้นการใช้บริการคลาวด์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในการทำงานของรัฐสภา
- Thai First: ให้ความสำคัญกับการใช้และพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทย
- Design System-4 All: ออกแบบระบบให้สามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกสำหรับทุกคน
- Open Data: เปิดเผยข้อมูลของรัฐสภาให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างโปร่งใส
- Open Source: ส่งเสริมการใช้และพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเปิดเผยโค้ดเพื่อความโปร่งใสและความร่วมมือ
- Agile Procurement: ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความยืดหยุ่นและรวดเร็วมากขึ้น
- Vertical Security: เน้นการรักษาความปลอดภัยข้อมูลในทุกระดับของระบบ
- People Centric: มุ่งเน้นการให้บริการและพัฒนาระบบโดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
- Paperless: ลดการใช้กระดาษโดยการเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลทั้งหมด
ณัฐพงศ์ เล่าเสริมว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะช่วยประหยัดเม็ดเงินภาษีมากขึ้นด้วย เช่น นโยบาย Cloud First หรือ Paperless ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องการจัดเก็บข้อมูลแบบเดิม รวมถึงการนำระบบเปิดเผยฐานข้อมูลมาใช้ จะช่วยทำให้สังคมเรียนรู้และทบทวนกับประวัติศาสตร์ได้มากขึ้น เพราะรัฐสภาเป็นไม่กี่หน่วยงานรัฐที่จัดเก็บข้อมูลทางนโยบาย กฎหมาย และเจตนารมณ์ของสังคมในแต่ละยุคสมัย เช่น เราสามารถทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของนโยบายสมรสเท่าเทียมได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการประมวลข้อมูลที่เคยจัดเก็บไว้ในรัฐสภาได้ เป็นต้น
ส่วนสำคัญของงานนี้คือการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายในสภา เพื่อลดการผูกขาดวิธีคิดและสัมปทานอยู่กับแต่หน่วยงานรัฐ ซึ่งแต่ละทีมที่มาร่วม Hackathon จะระดมสมอง ออกไอเดีย และผลิตเครื่องมือแบบคร่าว ๆ จากนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งภายนอกและภายในสภาเข้ามาประเมิน หากโครงการใดมีศักยภาพพัฒนาต่อได้ ก็จะนำไปสู่การทดลองและเขียนงบฯ โครงการของรัฐสภา ถือเป็นการพลิกบทบาทให้ประชาชนเป็นผู้นำ และภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนแทน
“ที่ผ่านมาประชาชนอาจรู้สึกกดทับจากผู้มีอำนาจ คณะรัฐประหาร ที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ขึ้นมา และในวันนี้พวกเขาอยากมาแสดงออกถึงความอัดอั้น ซึ่งไม่ได้มีแค่การเรียกร้องบนถนน แต่พวกเขายังเข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น”
ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ภายในงานมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 400 คน ช่วยกันระดมไอเดียกันข้ามคืนเพื่อเปลี่ยนโฉมสภา ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีสรุปการประชุมสภา, dashboard ติดตามการทำงานของ สส., ข้อมูลขาด ลา มาสาย, สถิติการลงมติของ สส., ระบบสะท้อนความพึงพอใจของประชาชนขณะอภิปราย, ระบบจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส, ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณที่ไม่ซ้ำซ้อน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของรัฐสภาได้สะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม พวกเขาเชื่อว่า ไม่ว่าคดียุบพรรคก้าวไกลจะมีบทสรุปอย่างไร นโยบายสภาโปร่งใสจะคงเดินหน้าต่อ ถ้าไม่ใช่ก้าวไกล คนอื่นก็ต้องมารับช่วงต่อแทน และที่มาร่วมงานก็เพราะอยากเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง