ปลดล็อกคำสั่ง คสช. คืน ‘สภาที่ปรึกษา’ สร้างการมีส่วนร่วม ชายแดนใต้

‘จาตุรนต์’ เผย เสร็จสิ้นภารกิจ กมธ.วิสามัญยกเลิกคำสั่ง คสช. 14/2559 เสนอรัฐบาล ร่าง พ.ร.บ. ยุติคำสั่งดังกล่าว หลังปล่อยทหาร ฝ่ายความมั่นคง เป็นแกนจัดการ ตัดตอนกลไกมีส่วนร่วมประชาชน สร้างเงื่อนไข ปิดทาง สันติภาพ

วันนี้ (29 พ.ค. 67) จาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความ ระบุว่า ตลอด 3 เดือน ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2559 พ.ศ. …. ได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. ให้คำสั่ง คสช. นี้ยุติลง

โดยระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าว ทำให้ “สภาที่ปรึกษา” ซึ่งเป็นกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ของตัวเองอย่างสิ้นเชิง แต่เป็น 10 ปี ที่ปัญหาในชายแดนใต้ถูกจัดการโดยมีกองทัพเป็นแกน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเป็นที่เรียบแล้ว และมีข้อสังเกตไว้ในรายงาน เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ดังนี้

1. คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีดังนี้ “เหตุผล” โดยที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 เมษายน 2559 ที่ให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติมาตราต่าง ๆ แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัด ชายแดนภาคใต้ รวมถึงให้งดใช้บังคับทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี ในส่วนที่อ้างถึงสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้จัดตั้งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทน

ด้วยกลไกและอำนาจหน้าที่เช่นนี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทน และหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังมีบทบาทและอำนาจ หน้าที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังกำหนดบทบาทให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีอำนาจ เบ็ดเสร็จเหนือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และส่วนราชการพลเรือนอื่น ทั้งยังขยายบทบาท และอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้เป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งกระทบต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ เนื่องจากได้สร้างเงื่อนไขและข้อจำกัด การมีส่วนร่วมของประชาชน ลดทอนความไว้วางใจ ของประชาชนที่มีต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ และการพัฒนาพื้นที่และเป็นการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับ หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงไม่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาและไม่สอดคล้องตาม เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 เป็นเหตุสมควร ให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

2. นายกรัฐมนตรี ควรสนับสนุนให้ ศอ.บต. จัดโครงสร้างองค์กร มอบหมายผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้และเข้าใจกระบวนการ ทำงานของประชาชน และจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการทำงานของสภาที่ปรึกษา การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต้องคำนึงถึงความคล่องตัว ความเป็นอิสระ ทางความคิดและประสิทธิภาพการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้ความสำคัญต่อ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนสูงสุด และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการ ข้างต้นอย่างเพียงพอและเหมาะสม

3. ศอ.บต. ควรพิจารณาเสนอชื่อ สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชบัญญัติการบริหาร ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มาตรา 108 (4) โดยให้พิจารณาว่ายังขาดตัวแทนจากภาคส่วนใด ทั้งที่กำหนดไว้ในมาตรา 119 (1) – (14) และมิได้กำหนดไว้ ก็ให้พิจารณาแต่งตั้งจากตัวแทนของภาคส่วนที่ขาดนั้น เป็นลำดับแรกก่อนและให้คำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างหญิง ชาย และเยาวชน เพื่อให้สภาที่ปรึกษา การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบไปด้วยประชาชนทุกภาคส่วน

4. ศอ.บต. ควรพิจารณาเร่งรัดจัดทำระเบียบที่จำเป็นและสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัด ชายแดนภาคใต้ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคได้ พ.ศ. 2553 มาตรา 23 เพื่อให้เป็นมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่คำนึงถึงหลักการบริหาร ที่มีส่วนร่วมของประชาชน

5. นายกรัฐมนตรี ควรสนับสนุนให้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำหนดให้มีผู้แทนจากสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีส่วนร่วมเป็นองค์ประกอบของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคได้ในทุกระดับ และเป็นกลไกสำคัญในการรับฟังเสียงสะท้อน และปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) จากประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการ สร้างสันติภาพ

6. คณะรัฐมนตรี ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับทิศทางการแก้ไข ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการปรับปรุง แก้ไขและเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวควรมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • ให้มีระบบบริหารราชการที่ให้อำนาจประชาชนต่อการกำหนดและกำกับทิศทาง นโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

  • ให้มีสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนร่วมกับระบบสรรหา (เดิม)

  • ให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสัดส่วนของหญิงและชายอย่างเท่าเทียม และให้เพิ่มองค์ประกอบจากกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเยาวชน

  • ให้มีมาตรการ กลไก และแนวทางการเสริมสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นมาตราเฉพาะรองรับกระบวนการและผลลัพธ์ของการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้เมื่อฝ่ายเลขาธิการ จัดทำรายงานรายงานเสร็จแล้ว จะเสนอต่อประธานสภาฯ เพื่อนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active