ประชุมร่วม ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ ยังไม่สรุป ส่งชื่อ ‘พิธา’ ซ้ำหรือไม่

สะพัด! ขั้วตรงข้ามเสนอแคนดิเดตนายกฯ แข่ง ‘นักรัฐศาสตร์’ ชี้ เป็นไปได้ ก้าวไกลถูกผลักเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ จับตากลยุทธ์ก้าวไกล เปิดเกมยื่นแก้ ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ

“ยอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้” วลีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ที่กล่าวหลังผ่านการโหวตในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ด้วยคะแนน 324 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 375 เสียง ที่ลดลงจากเดิมที่ 376 เสียง เพราะ เรณู ตังคจิวางกูร ส.ว. ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก่อนโหวตนายกฯ เพียงวันเดียว

ส่วนท่าทีของ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล บอกว่า จะหารือร่วมกับพรรคเพื่อไทย โดยย้ำว่า ความตั้งใจในการพูดคุยจะยังคงเป็นความพยายามร่วมกันเพื่อหาเสียงสนับสนุนเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการโหวตครั้งต่อไป โดยจะทำคู่ขนานกับการยื่นแก้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ม.272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. โหวตนายกฯ โดยล่าสุด ที่ประชุมร่วมพรรคก้าวไกล – เพื่อไทย ยังไม่สรุปเสนอชื่อ พิธา ซ้ำหรือไม่

ก้าวไกล-เพื่อไทย ยังไม่ได้ข้อสรุปเสนอชื่อนายกฯ โหวตรอบ 2

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 18.00 น. ที่โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ แกนนำพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค, พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ และ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ขณะที่พรรคเพื่อไทยประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และ ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ได้นัดหารือกันหลังการโหวตชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกลไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที 

สำหรับบรรยากาศที่ประชุมวันนี้เป็นไปได้ด้วยดี โดยได้ประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในการโหวตเลือกนายกฯครั้งที่ 2 วันที่ 19 ก.ค. นี้ โดยมองว่า ในที่ประชุมรัฐสภาฯ จะมีการทักท้วงเกี่ยวกับการเสนอญัตติเดิมซ้ำในสมัยประชุมได้หรือไม่ 

รวมถึงประเมินว่า ฝ่ายรัฐบาลเดิมอาจเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้ามาแข่งด้วย ซึ่งวงหารือยังไม่ได้ลงรายละเอียด เพียงแต่อยากประเมินสถานการณ์ให้แต่ละฝ่ายไปหาทางรับมือประเด็นนี้ไว้ล่วงหน้า 

ส่วนเรื่องที่พรรคก้าวไกลยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 272 นั้น พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นไปได้ยาก เพราะญัตติดังกล่าวต้องอาศัยเสียง ส.ว. ถึง 84 เสียง มองว่า เวลานี้ควรมุ่งหน้าเรื่องจัดตั้งรัฐบาลกันก่อน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทาง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะนัดหารือกันอีกครั้งในวันที่ 18 ก.ค. นี้ เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา และจะมีการแถลงข่าวให้ทราบอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่สรุปว่ายังเสนอชื่อนายพิธาให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้เป็นนายกฯ อีกครั้งหรือไม่ และยังไม่มีการหารือรายชื่อนายกฯ รอบ 2 ว่าจะเป็นในรูปแบบใด เพราะต้องรอความเห็นจากที่ประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลก่อน ส่วนการโหวตนายกฯ ครั้งที่สอง พรรคก้าวไกลจะรวบรวมเสียง ส.ว. หรือไม่นั้น ที่ประชุมก็มีการพูดคุยกัน แต่ก็ต้องมาหารือกันอีกครั้งในที่ประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล

สะพัด! ขั้วตรงข้ามเสนอชื่อแข่ง ‘นพ.ชลน่าน’ กังวล อาจรวมเสียง ส.ว. ถึง 375 เสียงได้

แต่อีกด้านหนึ่งก็มีกระแสข่าวว่า จะมีพรรคอื่นจากอีกขั้วส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแข่งในการโหวตครั้งต่อไป สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ ของ ธนกร  วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึง กรณีที่นายชัยธวัช อ้างว่าขั้วอำนาจเก่าพยายามกดดัน ส.ว. ไม่ให้โหวตเลือกนายพิธา เป็นนายกฯ เพื่อหวังพลิกขั้วรัฐบาล โดยมองว่าควรจะยอมรับระบอบประชาธิปไตย

เนื่องจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เมื่อแพ้โหวตแล้วกลับมาโจมตีพาดพิง อ้างว่ามีอำนาจเก่ากดดัน ส.ว. ไม่ให้โหวตสนับสนุน จึงควรมีวุฒิภาวะมากกว่านี้ ไม่ใช่แพ้แล้วพาล ควรมองตัวเองว่า มีคุณสมบัติครบหรือไม่ และที่สำคัญประเด็นการแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ที่ทุกฝ่ายไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว จึงไม่ควรอ้างและกล่าวหาว่าสาเหตุที่แพ้โหวตมาจากขั้วอำนาจเก่า พร้อมย้ำว่า “หากรอบแรกไม่ผ่าน รอบต่อไปก็ควรเป็นความชอบธรรมที่จะให้พรรคอันดับ 2 เสนอแคนดิเดตนายกฯ ตามกระบวนการ เพราะยื้อต่อไปก็ไม่เห็นชัยชนะ…”

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ที่ทำการพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสการเสนอชื่อ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ แข่งชิงนายกฯ รอบ 2 ระบุว่า เป็นความกังวลใจ ถ้าจะแข่งขันแล้ว 188 เสียง เมื่อรวมกับเสียงของ ส.ว. อีก 250 เสียง ก็ถึง 375 เสียง

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะผลักดันนายพิธา ต่อหรือไม่ นพ.ชลน่าน ระบุว่า พรรคเพื่อไทยยังเคารพสิทธิของก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับหนึ่ง จะดันหรือไม่ดันอยู่ที่การเสนอกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ส่วนเสียง ส.ว. ที่หากเสนอชื่อนายพิธา ต่อ ก็จะได้มายากนั้น ก็มองว่า ไม่มีอะไรง่าย โดยเฉพาะการเมืองที่ไม่ปกติ

หวังได้แค่ไหนกับ “งดออกเสียง” ทั้ง 199 เสียง จาก ส.ส. – ส.ว.

สถานการณ์เช่นนี้ นักรัฐศาสตร์ อย่าง รศ.ยุทธพร อิสรชัย ประเมินว่า สิ่งที่ยังพอเป็นความหวังได้ คือ เสียงจาก ส.ว. และ ส.ว. ที่ “งดออกเสียง” จาก ส.ส. 40 เสียง และ ส.ว. 159 เสียง แต่ ส.ว. มีแบบแผนการลงคะแนนที่ค่อนข้างเป็นเอกภาพ มีแรงกดดันสูง อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่า

ขณะที่ การหารือกับ ส.ส. อย่าง ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา ก็ยังไม่มีอะไรการันตีว่า จะได้เสียงมาสนับสนุนเพิ่ม ยุทธศาสตร์ทางหนึ่งที่ทำได้ คือ การไปคุยกับ ส.ว. ที่ขาดประชุมอีก 44 คน รวมถึงการเมืองนอกสภาฯ ขณะที่ข้อถกเถียงหลักเรื่อง ม.112 ก็จำเป็นต้องสร้างสมดุลให้ได้เพื่อเรียกเสียง ส.ว. กลับมา

เวลานี้ พรรคก้าวไกล จึงมีหลายด่าน ทั้งเกมการเมืองในสภาฯ การตีความของบรรดา ส.ส. ส.ว. รวมถึงท่าทีจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และองค์กรตุลาการ อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่นักรัฐศาสตร์ได้ประเมินฉากทัศน์การเมืองไทยไว้ 4 รูปแบบ คือ

  1. “พิธา” ถูกเสนอชื่อซ้ำ และเป็นนายกฯ จากการรวมเสียงใหม่ (แต่การเสนอชื่อซ้ำหลายครั้ง อาจไม่ส่งผลดีต่อพรรคก้าวไกล)
  2. ปรับสมการใหม่ ให้ “เพื่อไทย” เป็นแกนนำ กับ 8 พรรคร่วมรัฐบาล
  3. “เพื่อไทย” จับมือข้ามขั้ว ผลักให้ “ก้าวไกล” เป็นฝ่ายค้าน
  4. รัฐบาลเสียงข้างน้อย จัดตั้งรัฐบาล

ไม่ว่าเส้นทางไหน อาจส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยทั้งสิ้น โดยเฉพาะมวลชนก้าวไกล หรือ ด้อมส้ม ที่กระจายอยู่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active