สุทิน-ธนาธร-ศิธา ติง ‘ประยุทธ์’ บิดาเหลื่อมล้ำ เอื้อเศรษฐี-นายทุน?

เสนอทางออกต้องยอมเจ็บเผชิญหน้ากลุ่มผลประโยชน์ เกลี่ยทรัพยากร ถึงเวลาใช้ยาแรง “รัฐสวัสดิการ” ปกป้องประชาชน 99% ของประเทศ แนะ ประเดิมอุดหนุนเด็ก ทันทีงบฯปี 67

วันนี้ (25 มิ.ย. 65) เครือข่ายขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ We Fair จัดเวที 9 ทศวรรษประชาธิปไตย สู่อนาคตรัฐสวัสดิการไทยเท่าเทียมเสมอหน้า ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร โดยมีการนำเสนอตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน อย่างน้อย 7 เครือข่ายภาคประชาชนที่เป็นตัวแทนของข้อเรียกร้องสวัสดิการถ้วนหน้า ตั้งแต่ครรภ์มารดา – เชิงตะกอน ขณะที่ คณะก้าวหน้า และตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน เห็นตรงกันและมีข้อเสนอว่า รัฐสวัสดิการต้องทำทันทีรอไม่ได้ เหตุสังคมเหลื่อมล้ำสูง

สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่า เป็นไปได้ที่ไทยจะทำรัฐสวัสดิการ แต่ต้องมองที่ช่องทางการหารายได้ ซึ่งรัฐบาลนี้มีปัญหายังทำไม่ได้ อีกทั้ง​สังคมไทยถูกสถานการณ์ปิดล้อมหลายด้าน เช่น 1) มิติความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นเร็วมาก 2)เด็กเกิดน้อย รายได้ขั้นต่ำไม่เพิ่ม หุ่นยนต์ทำงานแทนคน ถึงเวลาที่ต้องมีหลักประกันรายได้ขั้นต่ำ

เศรษฐีไทย ปี 2554 มีรายได้ 3 แสนล้านบาท ปี 2562 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 แสนล้านบาท ภายในเวลา 5 ปี เกิดอะไรขึ้นยุคคุณประยุทธ์ผมไม่ได้โทษ แต่ผมอภิปรายในสภาฯว่า เขา คือ บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ”

สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

We are the 99% เผชิญหน้ากลุ่มผลประโยชน์นายทุน 1%

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อธิบายโดยให้จินตนาการถึงคน 67 ล้านคน โดยอ้างอิงโครงสร้างรายได้จาก สภาพัฒน์ฯ

  1. หัวแถว คือ 1% มีรายได้ 33,900 บาท ต่อเดือน
  2. กลางแถว คือ คนที่ 33.5 ล้าน รายได้ 6,531 บาท ต่อเดือน
  3. ปลายแถว คือ 1% สุดท้าย 670,000 คน รายได้ 1,759 บาท ต่อเดือน

สะท้อนให้เห็นถึงความยากในการสร้างคุณภาพครอบครัวที่ดี เพราะหากเราลองเอารายได้ 67 ล้านคนบวกกันและหารเฉลี่ย จะอยู่ที่ประมาณ 17,000 บาท หมายความว่า 0.1% รวยที่สุด มีช่องว่างที่ห่างกัน ชันและดิ่งมาก เพราะมีค่าเฉลี่ยต่างกันเกือบ 3 เท่า สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่มหาศาล ขณะที่คนที่เป็นมหาเศรษฐีทั่วโลกมีรายได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ที่ 2,668 คน และในจำนวนนี้เป็นคนไทย 28 คน

ธนาธร มองว่าจำเป็นที่ต้องสร้างรัฐสวัสดิการควบคู่ไปกับการสร้างงาน มิเช่นนั้น โอกาสจะแข่งขันในระดับโลกก็จะไม่มีคนหนุ่มสาวก็จะไม่มีแรงทำงาน คนสูงอายุก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ โดยย้ำว่า “รัฐสวัสดิการ ประชาธิปไตย คือเรื่องเดียวกัน” เพราะสัมพันธ์อยู่กับอำนาจ และการจัดสรรทรัพยากร

ต้องยอมเจ็บปวด และเผชิญหน้ากับกลุ่มผลประโยชน์ ถ้าไม่พร้อมเผชิญหน้าจะไม่สามารถจัดสรรงบประมาณ ถ้าไม่พร้อมจะอธิบายกับระบบราชการอย่างตรงไปตรงมา ไม่กล้าตัดงบประมาณที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็เป็นไปได้ยาก เราจึงต้องกล้าเผชิญหน้ากับ การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม..

เสนอเรื่องแรกทำได้ทันที ใช้งบฯน้อยได้ผลมาก คือ เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 1,000 บาท ทำได้ทันทีในงบประมาณ ปี 67″

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

สอดคล้องกับ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย มองว่า รัฐสวัสดิการไทยเป็นไปได้ และเป็นเรื่องของคน 99% เพราะความเหลื่อมล้ำไทยติดอันดับโลก แสดงว่า 1% แข่งกันบ้าหอบฟาง โดยหากนายทุนยังต้องการกอบโกยแบบนี้ประเทศอยู่ไม่ได้

We are the 99% พวกเราคือ 99% ของประเทศ และ สิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง คือ 1% จากพัฒนาการทางการเมืองที่โตมา ทำให้ 1% ชนะได้ ​ ศิธา เล่าว่า ก่อนหน้านี้ นักการเมืองทุจริต พอกฎหมายเข้มขึ้นก็ปรับเปลี่ยนเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย บางคนตอบแทนเป็นเงินทอนให้พรรคการเมือง ปัจจุบันมี นักการเมืองเอื้อทำให้กลุ่มคน 1% รวยขึ้น 3 เท่า ภายใน 10 ปี ขณะที่ประชาชนยังเดือดร้อนเท่าเดิม เราติดกับดักการขึ้นค่าแรงทำให้คนจน หมายความว่า เราได้เงินเดือนเพิ่ม และเสียเงินมากกว่าเดิม เป็นหนี้สัดส่วนเท่าเดิม แต่หนี้สูงเพราะสินค้าแพง ข้าวของเพิ่ม แต่นายทุนได้เท่าเดิม 1% กำลังเติบโตมากกว่า 3 เท่าในอีกหลายปี ขณะที่ รัฐสวัสดิการ คือทำให้คนต่ำสุดลืมตาอ้าปากและอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เราต้องใช้ยาแรง โดย ​ศิธา เห็นด้วยกับ การเก็บภาษีมั่งคั่ง ​ทำขั้นบันไดภาษีที่ชัดเจน

“พวกเรา คือ 99% ของประเทศ และสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง คือ 1% พัฒนาการทางการเมืองที่โตมาด้วยการแปรอำนาจ และนโยบายเป็นเครื่องมือเอื้อทุน ทำให้ 1% ชนะได้ รวยขึ้น 3 เท่า ภายใน 10 ปี ขณะที่ประชาชนยังเดือดร้อนเท่าเดิม.. รัฐสวัสดิการ ทำให้คนต่ำสุด ลืมตาอ้าปากได้ และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้”

นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย

เจตจำนง และ ข้อเสนอเชิงนโยบายพรรคฝ่ายค้าน

สุทิน ระบุว่า น่าใจหาย เพราะทุกด้านมีปัญหาเหลื่อมล้ำ และมีแนวโน้มที่ทรัพยากรไหลไปอยู่ในกลุ่มทุนทั้งหมด มีการควบรวม และมีอำนาจเหนือตลาด วิธีเดียว คือ รัฐต้องมาปกป้องคนที่อ่อนแอ ถึงจุดที่จะต้องทำรัฐสวัสดิการ ปล่อยไปก็จน และตาย ขณะเดียวกันก็ต้องมีฐานข้อมูลที่ชัดเจน เป็นพื้นฐานไปสู่การมีรัฐสวัสดิการที่ดี เสนอการจัดสวัสดิการให้คน 2 กลุ่มเร่งด่วนคือ กลุ่มคนจนฉับพลัน และจนเรื้อรัง โดยเสนอให้มีการจัดทำนโยบายแจกเงินให้เปล่า เป็นหลักประกันในชีวิต (Universal Basic Income : UBI) ให้ประชาชนทุกคน โดยอิงเส้นความยากจน 2,700 บาท/เดือน ถ้วนหน้า แนะผลักดันการออกประชามติ “รัฐสวัสดิการ” เตรียมเสนอความต้องการประชาชนเข้าสู่สภาฯ

อีกรูปแบบ คือ “เงินโอนคนขยัน” โดยนำข้อมูลประชากรวัยแรงงาน 37 ล้านชีวิต อยู่ในระบบ และนอกระบบ มาดูและช่วยคนมีรายได้ต่ำกว่า 2,700 บาททั้งหมด รัฐบาลต้องเติมเงินให้คนกลุ่มนี้ (ใต้เส้นความยากจน 4.8 ล้านคน และกำลังจะตกลงมาเส้นความยากจน 5.1 ล้านคน รวม 17 ล้านคน ดันให้ถึงเส้นค่าแรงขั้นต่ำ) ดึงคนจนเข้าสู่ระบบทั้งหมด พอขยันมีรายได้สูงขึ้น พอเลยเส้นความยากจน พอช่วยคนกลุ่มนี้จบ จึงขยับไปสู่ UBI หรือ บำนาญประชาชน 3,000 บาท เป็นต้น

ธนาธร ย้ำ ต้องพูดความจริง ทั้งเรื่องระบบราชการ ที่มีสวัสดิการเติบโตต่อเนื่อง 1,000 บาทเด็กถ้วนหน้าใช้เงินน้อยและทำได้ทันที เป็นประโยชน์มากที่สุด และอยู่ในงบประมาณ ปี 2567 ได้ทันที แม้หลายเรื่อง เช่น สวัสดิการราชการ จะไม่ได้รับความนิยมในทางการเมือง แต่เพื่อทำให้เป็นเรื่องสามัญก็จำเป็นต้องพูดให้สังคมรับรู้ต่อเนื่อง ศิธา ชี้ว่า สำหรับกลุ่ม 99% โอกาสชนะอย่างเดียวคือการเลือกตั้งฝั่งประชาธิปไตย

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน