จัดเต็ม งบฯ 66 ‘พริษฐ์’ ชี้ รัฐจัดสรรไม่ตอบโจทย์ประเทศ

‘ก้าวไกล’ ชำแหละงบฯ ก่อนเปิดแผนอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 66‘ไอติม’หวังใช้เครื่องมือตรวจสอบ ดึงการมีส่วนร่วม‘ศิริกัญญา’ ชี้ เกิดโครงการเบี้ยหัวแตกเพียบ

วันนี้ (28 พ.ค. 2565) ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จัดกิจกรรม “Hackathon งบ 66 : ร่วมออกแบบ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่เราอยากเห็น” ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และให้ประชาชนได้ร่วมออกแบบงบประมาณฉบับพรรคก้าวไกล โดยผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม กล่าวว่า เอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นหนึ่งในสิ่งที่บ่งบอกโครงสร้างของประเทศด้านการจัดสรรเงิน ว่าหลังจากรัฐบาลเก็บภาษีจากประชาชนแล้ว ได้นำไปใช้จ่ายหรือลงทุนกับอะไร และประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญ 2 โจทย์สำคัญที่งบฯ ปี 66 ต้องตอบโจทย์ให้ได้ ได้แก่ โจทย์เฉพาะหน้า เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และ โจทย์แห่งยุคสมัย คือความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมทั้งของไทยและของโลก เช่น สังคมสูงวัย ภาวะโลกรวน และผลกระทบของเทคโนโลยีต่อความเหลื่อมล้ำ

เขากล่าวถึงงบฯ ที่มีปัญหา 3 ส่วน คือ 1) ขนาดงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท ที่สูงขึ้นจากปีที่แล้วแค่ 2.7% และต่ำกว่างบฯ ปี 2563 หรือช่วงก่อนวิกฤต เพียงพอหรือไม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะฝืดเคืองและบรรเทาปัญหาของประชาชน ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเลือกเพิ่มวงเงินงบประมาณ

2) การจัดลำดับความสำคัญของภารกิจ ซึ่งสังเกตได้ว่าอาจมีการจัดลำดับความสำคัญที่ยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งโจทย์เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องการเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ เพื่อมาเสริมการส่งออกหรือการท่องเที่ยวที่ถูกกระทบจากโควิด แต่งบฯ ลงทุนปี 2566 เพื่อพัฒนาประเทศกลับลดลง 10% และส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการสร้างถนนมากกว่าสร้างอุตสาหกรรมใหม่ หรือ โจทย์เรื่องสวัสดิการ ที่ยังไม่มีการตั้งงบเพื่อยกระดับเบี้ยผู้สูงอายุอย่างถาวร เพื่อจัดสรรเบี้ยเด็กแรกเกิดอย่างถ้วนหน้า หรือ เพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ที่สูญเสียไปของนักเรียนจากช่วงโควิด และ 3) หน่วยงานเหมาะสมกับการขับเคลื่อนภารกิจหรือไม่ เช่น โจทย์ความมั่นคง ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้นกว่าแค่การทหารที่เราอาจคุ้นเคยในอดีต เช่น ภาวะโลกรวน แต่ถ้าดูการจัดสรรงบประมาณตามภารกิจความมั่นคง จะเห็นว่ารัฐบาลอาจยังตีความความมั่นคงในรูปแบบเดิม

“งบฯ กระทรวงกลาโหมปีนี้ลดลงจริงในภาพรวม แต่งบฯ บุคลากรกลาโหมเพิ่มขึ้น 2,400 ล้านบาท ขณะที่งบที่ถูกจัดสรรในแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อรับมือผลกระทบจากภาวะโลกรวน มีเพียง 1,574 ล้านบาท”

พริษฐ์ กล่าวด้วยว่า เป้าหมายของพรรคก้าวไกลในปีนี้ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนมีการเลือกตั้งในปีหน้า นอกจากเราจะ “ตั้งคำถามกับรัฐบาล” เพื่อตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น เรายังต้องการสื่อสารและ “ตั้งความหวังกับประชาชน” เพื่อฉายภาพให้เห็นชัดว่าถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะจัดสรรงบประมาณแบบไหน ซึ่งกว่าจะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องมี 2 องค์ประกอบ หนึ่งคือเครื่องมือวิเคราะห์งบที่ดี เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ และ สองคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นเหตุผลในการจัดกิจกรรมวันนี้ เพื่อนำไปสู่งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้นว่านโยบายเราทำได้จริง และอยู่บนพื้นฐานของตัวเลขที่ถูกคิดมาอย่างรอบคอบ โดยตัวชี้วัดความสำเร็จของการจัดสรรงบประมาณที่เราอยากเห็น คือเมื่อประชาชนทั่วประเทศ ไม่รู้สึกเสียดาย แต่รู้สึกภูมิใจที่ได้จ่ายภาษี

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เผย 5 ส่วนงบฯ ที่ทำให้ใช้ได้จริงยิ่งน้อยเมื่อเทียบกับวิกฤตประเทศ

ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ 3.185 ล้านล้านบาท นั้น ถือว่าไม่เยอะเมื่อเทียบกับปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ทั้งยังเป็นการจัดสรรงบฯ ที่น้อยกว่าตอนเกิดวิกฤตโควิด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่างบฯ โดยรวมเหลือน้อยและที่ใช้ได้จริงนั้นก็ยิ่งน้อยมากเพราะมีภาระงบประมาณที่ตัดได้ยาก หรือต้องทำตามกฎหมายในแต่ละปี พบว่าส่วนใหญ่ที่สุด 40 เปอร์เซ็นต์ถูกใช้จ่ายไปกับค่าใช้จ่ายของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการข้าราชการที่มีแนวโน้มว่าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในส่วนของสวัสดิการข้าราชการ

ส่วนที่ 2 ที่ตัดไม่ได้ คือ งบชำระหนี้และดอกเบี้ย ที่ในอนาคตจะสูงขึ้นเพราะหลายประเทศทั่วโลกปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ซึ่งจะกระทบอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลไทยกู้ยืมมาด้วยเช่นกัน ส่วนที่ 3 คือเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเป้าว่า 25 เปอร์เซ็นต์เป็นขั้นต่ำที่จะแบ่งรายได้ให้กับท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงมีภารกิจหลายเรื่องที่ท้องถิ่นไม่ได้คิดหรือมีอิสระทางการเงิน แต่เป็นเพียงแค่ท่อผ่านงบประมาณ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้รัฐบาลฉลาดแกมโกงเอาไปเป็นรายได้ให้ซึ่งเหมือนจะทำให้ถึงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการโครงสร้างที่ผิดและบิดเบี้ยวมาก ส่วนที่ 4 คือในส่วนของสวัสดิการที่รัฐบาลต้องจัดสรรตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม ซึ่งส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุประชากรในวันที่เราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว และสุดท้าย ส่วนที่ 5 คือ ภาระผูกพัน ซึ่งเป็นหนี้เดิมที่มาจากรัฐบาลได้เคยตั้งโครงการไว้ และจะรวมกับก้อนใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นมาในปีนี้ด้วย

“เมื่อดูรายจ่ายทั้ง 5 ส่วนนี้ ทำให้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ 3.185 ล้านล้านบาทนั้น ใช้ได้จริงแค่ 9.3 แสนล้านบาทเท่านั้น และพื้นที่ทางการคลังของรัฐบาลตรงนี้ยังต้องเอาไปใช้กับโครงการใหญ่ ๆ ที่จะเริ่มโครงการในปีนี้อีก เช่น ถนน 5.4 หมื่นล้าน, น้ำ 3.6 หมื่นล้าน, ใช้หนี้อื่นๆ 6 หมื่นล้าน และอาวุธ 1.6 หมื่นล้าน ซึ่งหมายความว่างบประมาณที่รัฐบาลเหลือใช้จริงๆ ที่จะเอามาคิดโครงการต่างๆ มีไม่ไม่ถึง 1ใน 3 ของงบประมาณประเทศปีนี้ ทั้งๆ ที่ปัญหาของประเทศมีอยู่อย่างมากมาย และเงินก้อนนี้ก็ต้องแบ่งกันใช้ 362 หน่วยราชการ 30 กองทุนหมุนเวียน 37 องค์การมหาชน และ 25 รัฐวิสาหกิจ ซึ่งรวมแล้วกว่า 400 หน่วยงาน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีแต่โครงการที่เป็นเบี้ยหัวแตกเต็มไปหมด จะไม่สามารถตอบโจทย์ใหญ่ๆ ของประเทศได้ แต่จะมีแต่โครงการอบรมสัมมนา ดูงาน ที่ประเมินผลไม่ได้เต็มไปหมด”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active