“พีเน็ต” เผยเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบซื้อเสียง-บัตรเสียพุ่ง

สะท้อนประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้งของ กกต. แนะจัดอบรมกรรมการประจำหน่วยสม่ำเสมอ ควรจัดเลือกตั้งล่วงหน้า เพิ่มจำนวนผู้ใช้สิทธิ

วันนี้ (24 พ.ค. 2565)  ลัดดาวัลย์  ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือ P-NET กล่าวว่า ได้ร่วมกับสภาองค์กรชุมชน จัดกิจกรรมเพื่อให้การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และสมาชิกสภา กทม. เป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม ด้วยการจัดรายการหักมุมการเมืองอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ผ่านเฟซบุ๊ก ของมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายฯ 

นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ถึงความสำคัญของนโยบายการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ร่วม กับเครือข่ายต่างๆ และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ซึ่งผลการจัดกิจกรรมได้มีส่วนช่วยทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับความสนใจการนำเสนอนโยบาย ผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างมีนัยยะสำคัญกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจึงยังเป็นภารกิจที่สำคัญในการติดตามการนำนโยบายหาเสียงมาสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงของผู้ว่า กทม. 

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิองค์กรกลางฯ พบว่า การซื้อสิทธิขายเสียงก็ยังเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน ที่ยังมีการแจกจ่ายเงินในอัตรา 200-300 บาทและในช่วงใกล้เลือกตั้ง มีการแข่งขันการจ่ายเงินถึง 500 บาท แม้จะยังเป็นข้อวิตกว่า การแจกเงินดังกล่าว จะมีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน

ลัดดาวัลย์  ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ลงพื้นที่สำรวจหน่วยเลือกตั้งย่านคลองเตย พระโขนง ทองหล่อ เอกมัย

ในวันเลือกตั้ง  มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงร้อยละ 60.73 ซึ่งน้อยกว่าที่ กกต.คาดไว้ว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิถึงร้อยละ 70 และมีบัตรเสีย จำนวนถึง 40,017 บัตร หรือคิดเป็นร้อยละ 1.50 ซึ่งชี้วัดถึงประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ขณะที่ในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง มีอาสาสมัครจากหลากหลายเครือข่ายช่วยกันสอดส่องสังเกตการเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก  ทั้งคนที่มาลงคะแนนก็เต็มที่ไม่แพ้กัน ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ คนพิการ แม้แต่ให้รถฉุกเฉินช่วยมาส่งในหน่วยเลือกตั้งก็ยังมี 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่พบคือ กรรมการประจำหน่วย (กปน.) ยังคงไม่เป็นมืออาชีพ  แม้ กกต.จะมีประสบการณ์การเลือกตั้งมาหลายสิบปี แต่ กปน. ยังคงผิดพลาด แม้อาจจะดูเล็กน้อย เช่น นับแต่เปิดหน่วย ภายหลังการยื่นบัตรแสดงตน กปน.ส่วนใหญ่ไม่บอกให้ผู้มาใช้สิทธิถอดแมสดูหน้า ก่อนรับบัตรเลือกตั้ง จนมีข้อสังเกตจากอาสาสมัครที่หน่วยเลือกตั้งที่คลองเตยว่าพบเห็นมีผู้ใช้บัตรประชาชนผู้อื่นมาลงคะแนนเสียงแทน หรือในช่วงปิดหีบหลายหน่วยไม่ใช้กระดาษปิดหน้ากล่องตรงช่องหย่อนบัตรเมื่อประกาศยุติการลงคะแนนแล้ว ในช่วงการขานคะแนน มีเสียงนับคะแนนดังสับสนระหว่างคะแนนผู้ว่าฯ กับคะแนน สก. ขณะที่ในหน่วยมีเพียงไฟสลัวที่ผู้สังเกตการณ์แทบจะมองไม่เห็นกระดานนับคะแนน 

ขณะที่บัตรเสียมีจำนวนมากเพราะผู้ใช้สิทธิสับสนระหว่างหมายเลข ผู้สมัครผู้ว่าฯ กับ ส.ก.เพราะในบัตรเลือกตั้งไม่มี ชื่อผู้สมัคร ไม่มี สังกัดกลุ่ม พรรค มีแต่หมายเลขโดด ๆ ที่แตกต่างกันระหว่างผู้สมัครผู้ว่า ฯ กับผู้สมัคร สก. ทั้งที่มาจากทีมเดียวกัน ขณะที่ กปน. หรือ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วย เสียสิทธิ์ลงคะแนน เพราะไม่มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนได้รับมอบหมาย ฯลฯ

ประเด็นปัญหาต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่อง ในการเลือกตั้งหลายครั้ง จึงเกิดข้อสงสัยว่า กกต. จะสามารถจัดการเลือกตั้ง ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันได้จริงหรือไม่และคงไม่ต้องพูดถึงปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง ที่ดูเหมือน กกต. จะไม่ทำงานแก้ปัญหานี้แล้ว ขณะที่ กกต.ให้ความใส่ใจกับการใช้ปากกาลงคะแนนว่าควรเป็นสีอะไร ซึ่งเรื่องนี้ กกต.น่าจะทราบดีว่าการวินิจฉัยบัตรดี บัตรเสียต้องมีกฎระเบียบกำหนดไว้ชัดเจน มิใช่ตามอำเภอใจเพราะคะแนนเสียงแต่ละคะแนน มีค่าความหมาย และเป็นการแสดงออกของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ใช้สิทธิ์อย่างมีศักดิ์ศรี ในฐานะเจ้าของอธิปไตย การจะมาขีดฆ่าคุณค่านั้นต้องชอบด้วยกฎหมายมิใช่อำเภอใจ

สุดท้ายนี้ มูลนิธิองค์กรกลางฯ มีข้อเสนอแนะว่า เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน น่าจะมีการจัดอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ หรือการจัดทำรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ การจัดการในหน่วยเลือกตั้ง เพื่อคอยทำหน้าที่กำกับให้คำแนะนำแก่กรรมการประจำหน่วย เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน และได้รับความน่าเชื่อถือ 

นอกจากนี้การให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ก็จะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกทำให้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการลดจำนวนบัตรเสีย  การกำหนดให้บัตรเลือกตั้ง มีชื่อพรรคหรือ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้สิทธิ์ ได้สามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกได้อย่างไม่ผิดพลาด 

อีกทั้งกกต.ควรสนับสนุนให้มีอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งประจำหน่วย และส่งเสริมให้ผู้สมัครทุกคนส่งตัวแทนผู้สมัครไปสังเกตการณ์ โดยงบส่วนนี้ไม่ต้องนำมารวมเป็นค่าหาเสียง เพื่อเป็นการป้องปรามการทุจริตในหน่วยเลือกตั้ง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS