Thai PBS เสนอแนวคิดสร้างแพลตฟอร์ม Policy Watch พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็นของผู้ชม นักวิชาการ และนักสื่อสารนโยบาย หวังแพลตฟอร์มมีชีวิต ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ย้ำให้การสื่อสารต้องยึดโยงกับประชาชน
วันนี้ (15 ธ.ค. 2566) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “Open House” เปิดบ้านไทยพีบีเอส พร้อมเปิดตัวแฟลตฟอร์มใหม่ Policy Watch ร่วมจับตาอนาคตประเทศไทย เปรียบเป็นคู่มือของประชาชนได้รับรู้ความคืบหน้านโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติ พร้อมชักชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบนโยบายที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยแพลตฟอร์ม Policy Watch ยังเปิดตัวในระยะเริ่มต้น ทดลองให้ภาคประชาชนเสนอแนะความต้องการที่อยากให้พัฒนาต่อไป
ชุตินธรา วัฒนกุล บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ ไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า จุดแรกเริ่มของแพลตฟอร์ม Policy Watch ตั้งต้นจากคำถามภายในทีมข่าวถึงความเป็นไปได้ของนโยบาย และประชาชนจะสามารถมีเครื่องมือใดบ้างเพื่อติดตามความสำเร็จของนโยบาย จึงได้เริ่มร่วมมือกับอีกหลายหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกไทยพีบีเอส เพื่อสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา หวังนำข้อมูล ความเห็น สถิติ บทวิเคราะห์รวบรวมเพื่อวัดผลความสำเร็จของนโยบาย และให้ประชาชนสามารถติดตามได้โดยเข้าใจง่าย
“อยากให้เรื่องเล็ก ๆ ของประชาชนที่รัฐบาลอาจไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ดูมองเห็นและถูกผลักดันต่อ เชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้จะสมบูรณ์ได้จากการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเราอาจจะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสื่อสังคมมาช่วยรับฟังความเห็น และหวังว่าวงเสวนาในวันนี้จะได้แนวคิดไปพัฒนาต่อ”
ชุตินธรา ย้ำว่าแพลตฟอร์ม Policy Watch จะมีส่วนสำคัญในการ “อธิบาย” นโยบายให้สังคมเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ชี้ว่า ข่าวและปรากฏการณ์ที่รายงานเป็นปกติในสังคมนั้นล้วนพัวพันกับนโยบายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคอร์รัปชัน เศรษฐกิจ ประเด็นทางสังคมโพลิซี วอช ช่วยในการอธิบายนโยบาย ข่าวส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นพัวพันกับเรื่องนโยบายหมด ไม่ว่าจะเป็นคอร์รัปชัน เศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ แต่การรายงานข่าวยังขาดการเชื่อมโยงไปถึงนโยบายที่จะเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา นี่จึงเป็นเป้าหมายที่ไทยพีบีเอสอยากให้แพลตฟอร์มนี้สามารถ “อธิบาย” ปรากฏการณ์ทางสังคมไปพร้อมกับชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง
สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) ร่วมฉายภาพบทบาทของ Policy Watch ให้ชัดขึ้นว่า แพลตฟอร์มนี้ไม่เพียงแต่ช่วยตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและความคืบหน้าของนโยบาย แต่ยังช่วยให้รัฐบาล (โดยเฉพาะรัฐบาลผสมที่มีความหลากหลายของกลุ่มการเมือง) สามารถมีเครื่องมือสะท้อนกระทำงานของตัวเองได้และนำไปสู่การพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น
“ไทยพีบีเอสมีทรัพยากร แต่โจทย์สำคัญคือ จะทำยังไงให้ทรัพยากรนั้นเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ถกเถียงในประเด็นนโยบายทั้ง 8 หมวด ซึ่งจะทำให้แต่ละนโยบายนั้นมีชีวิต ไม่ใช่แค่สั่งการและวัดผล แต่การมีส่วนร่วมของผู้คนจะช่วยให้นโยบายขับเคลื่อนไปอย่างธรรมชาติ และมีชีวิต (Organic & Lively)”
รศ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนว่าการทำงานเชิงรุกของไทยพีบีเอส อย่างการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อติดตามนโยบาย จะช่วยลดช่องว่างระหว่างคนไทยให้ใกล้ชิดนโยบายมากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งมองว่า ยังคาดหวังให้แพลตฟอร์มนี้เป็นเสมือน “คลังข้อมูลขนาดใหญ่” มากกว่าเป็นเฉพาะบทวิเคราะห์ที่มันเจือจางความเข้มข้นของข้อมูลลง อย่างไรตามสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนั้นดี แต่ต้องช่วยกันจับตามองต่อไป โดยเฉพาะการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up และ Wevis ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะผู้ที่เคยทำแพลตฟอร์มเพื่อติดตามคำสัญญาของรัฐบาล ตนมองว่า อยากให้สื่อเป็นมากกว่า “ผู้รายงาน” แต่สื่อควรเป็น “ผู้ตั้งคำถามต่อนโยบาย” ดีหรือไม่-คุ้มค่าหรือไม่ เหล่านี้คือหน้าที่สำคัญของสื่อสาธารณะควรทำได้ หวังเห็นการทำงานของ Policy Watch ยกระดับไปสู่การมีส่วนร่วมในชั้นกรรมาธิการของรัฐสภา ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าใจในกระบวนการเสนอนโยบาย หรือเสนอร่างกฎหมาย เพราะนโยบายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงแค่รอคำสั่งจากภาครัฐ
นอกจากนี้ ธนิสรา ค้นพบว่า การกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จนโยบายนั้นไม่เหมือนกันไปทุกประเด็น และมันสามารถถูกกำหนดโดยคนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการ หรือภาคสังคม หน้าที่ของแพลตฟอร์มนี้คือต้องชวนสังคมตั้งคำถามว่าตัวชี้วัดเหล่านี้นั้นเหมาะสมหรือยัง ปรับปรุงได้อีกหรือไม่? อย่างไร? เสริมว่าถ้ามีรายชื่อของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละนโยบายจะดีมาก เพราะเมื่อนโยบายคืบหน้า จะได้นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมติดตามนโยบายด้วย ให้ความคืบหน้าของนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง
สุภอรรถ โบสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ HAND Social Enterprise ให้ความเห็นต่อนโยบายภาคสังคม ตนมองว่านโยบายเหล่านี้ควรมีโอกาสได้หยิบมาพูดถึงให้มาก นำเสนอบทวิเคราะห์ต่าง ๆ และเปิดกว้างให้เครือข่ายมาร่วมผลักดัน ส่วนตัวได้เข้ามามีส่วนร่วม พบว่านโยบายมีเจตนาดี แต่เมื่อดำเนินการกลับถูกบิดเบือนไป ซึ่งข้อนี้ Policy Watch ได้มีการติดตามไทม์ไลน์ และประเมินผล ตลอดจนบทวิเคราะห์ ที่ช่วยให้เห็นพัฒนาการของนโยบายทุกตัว
ผู้ร่วมวงเสวนาบางส่วนสะท้อนว่า เห็นด้วยในประเด็นที่แพลตฟอร์มนี้ต้องมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้หน่วยงานอื่นในไทยพีบีเอสนำข้อมูลในแพลตฟอร์มไปต่อยอด หรือรายงานข่าวในเชิงติดตามนโยบายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการวัดผลความสำเร็จของนโยบายนั้น แม้ว่ารัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดตัวชี้วัดก็ตาม แพลตฟอร์มนี้ก็ควรเปิดพื้นที่ให้คนได้วิเคราะห์ถกเถียงถึงความสมเหตุสมผลด้วยเช่นกัน เพื่อให้นโยบายสามารถสร้างประโยชน์ได้ยึดโยงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
หลังจากนั้น กิจกรรมได้เปิดรับความคิดเห็นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เสนอข้อคิดเห็นที่อยากเห็น-อยากให้พัฒนาเพิ่มเติม โดยมีข้อกังวลที่ต้องการให้เฝ้าระวังหรือปรับแก้ให้รัดกุมมากขึ้น เช่น เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล การแทรกแซงและบิดเบือนข้อมูล ความไม่เป็นกลางในการนำเสนอ ตลอดจนการอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมก็ได้เสนอทางออกว่า หากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมอัพเดตข้อมูล เปิดให้มีการให้ข้อมูล 2 ทาง ตลอดจนมีการจัดทำผังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของนโยบาย ก็จะทำให้มิติในการรายงานนโยบายมีความรอบด้าน รัดกุม และเป็นประโยชน์ต่อการติดตามมากยิ่งขึ้น