ทวงสัญญารัฐบาล เร่งผลักดันร่างกม.คุ้มครองชาติพันธุ์ ผวจ.พังงา ยัน บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สร้างรูปธรรมพื้นที่ต้นแบบคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเล ชุมชนทับตะวัน-บ้านไร่ สร้างความเข้มแข็งชุมชนชาติพันธุ์มีส่วนร่วมการพัฒนาด้านต่าง ๆ
วันนี้ (26 พ.ย.65) ในงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 12 “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กับความยั่งยืนในการพัฒนา (SDG) ที่จัดขึ้น ณ ชุมชนชาวเลทับตะวัน-บนไร่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยเครือข่ายชาวเลอันดามัน (มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย) มูลนิธิชุมชนไท ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน ) และภาคีเครือข่าย
โดยไฮไลต์สำคัญของการจัดกิจกรรมในวันนี้ เนื่อง หาญทะเล ผู้นำจิตวิญญานชาวเล ได้ทำพิธีบอกกล่าวศาลพ่อตาสามพัน ซึ่งเป็นบรรพชนสูงสุดที่ชาวเลมอแกลนให้ความเคารพ จากนั้นบูชาเสาจิตวิญญาณโดยการตั้งหมากพลู เครื่องเซ่นที่โคนเสาหน่ามะ แล้วนำกัลปังหาปักที่เสาหมุด โดยตามความเชื่อ กัลปังหาเป็นสิ่งที่จะคุ้มครองสิ่งชั่วร้าย ชาวเลได้นำ ข้าว แร่ดีบุก หอย ต้นไม้ ดอกไม้ วางลง เพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ชาวเลอยากให้มีตลอดไป
จากนั้น เอกรัตน์ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา, ศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม, นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน, เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ, ตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ ลาภ หาญทะเล ตัวแทนเครือข่ายชาวเล ร่วมกันปักหมุด ลงนามประกาศสถาปนาพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเลแห่งแรกชุมชนทับตะวัน-บนไร่ หน้าศูนย์วัฒนธรรมบ้านทับตะวัน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา สะท้อนความร่วมมือของการผลักดันการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและการเป็นหุ้นส่วนของการร่วมพัฒนาประเทศของชาวเล
อรวรรณ หาญทะเล เป็นตัวแทนชุมชนชาวเลบ้านทับตะวัน– บนไร่ อ่านประกาศสถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลทับตะวัน-บนไร่ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 14 ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของชาวเล ว่า ในฐานะชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิม ผู้ร่วมสร้างแผ่นดินสยาม และมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นจะร่วมเป็นหุ้นส่วนพัฒนาประเทศไทย ขอประกาศแสดงตนในฐานะชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 70 ที่รัฐพึงต้องส่งเสริมและให้ความคุ้มครองให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจอย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน และในฐานะชาวเล พวกเราชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ ยังได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิต ภายใต้แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553
พวกเรามีความพร้อมและยึดมั่นในหลัก 3 ประการของเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ความภาคภูมิใจใน อัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์และเชื่อมั่นในวิถีวัฒนธรรมมอแกลน ตามหลัก “สิทธิทางวัฒนธรรม” ยืนยัน “ความเป็นชุมชนดั้งเดิม” ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินบรรพบุรุษชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ มาอย่างต่อเนื่อง ตามหลัก “สิทธิชุมชนท้องถิ่น” และยึดหลักการบริหารจัดการพื้นที่แบบมีส่วนร่วมเพื่อประโยชน์ใช้และรักษาทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน
“พวกเราขอประกาศยืนยันกับบรรพบุรุษและผู้มีเกียรติทุกท่าน ณ ที่นี่ว่า พื้นที่แห่งนี้ เป็นดินแดนแห่งจิตวิญญาณของชุมชนชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ ที่บรรพบุรุษของเราได้ร่วมกันปกป้องดูแลรักษามาเป็นเวลาช้านาน กว่า 13 ชั่วอายุคน เราขอยืนยันว่าจะสืบทอดมรดกวัฒนธรรม ‘ความเป็นมอแกลน’ และรักษาแผ่นดินมาตุภูมิแห่งนี้ไว้เป็นสมบัติของลูกหลานชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ สืบไป”
อรวรรณ หาญทะเล ตัวแทนชุมชนชาวเลทับตะวัน-บนไร่
ในคำประกาศ ยังระบุว่า ชาวชุมชนมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ ได้แสดงให้เห็นว่า ดินแดนที่ร่วมกันปกป้องแห่งนี้ เป็นดินแดน “ศักดิ์สิทธิ์” ที่ทำให้พวกเรามี “ศักดิ์ศรี” ใน “ความเป็นมอแกลน” มี “ศักยภาพ” เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงขอประกาศให้ชุมชนชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่ เป็น “เขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 14” ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และขอให้สักขีพยานที่อยู่พร้อมกัน ณ ที่นี้ร่วมลงนามรับรองคำประกาศนี้ เพื่อเป็นประจักษ์พยานที่จะคุ้มครองสิทธิของชุมชนชาวมอแกลนบ้านทับตะวัน – บนไร่สืบไป
สร้างรูปธรรมพื้นที่ต้นแบบคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเล
เอกรัตน์ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้ มี 2 ระดับ คือระดับชาติและระดับพื้นที่ โดนระดับชาติเป็นไปตามไปตามมติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 แนวนโยบายคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล ซึ่งระดับพื้นที่ต้องบูรณาการร่วมกัน
“เพราะว่าเรื่องการดูแลกลุ่มชาติพันธุ์มีความเกี่ยวโยงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย เรื่องที่ทำกิน พื้นที่จิตวิญญาน วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ โดยระดับจังหวัดเรามีวัฒนธรรมจังหวัด ทสจ. ทรัพยากรทะเลชายฝั่งพมจ. อปท. ตรงนี้ต้องมีการประชุมกัน ซึ่งได้จัดการประชุมกันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ต้องดูแลทุกเรื่องต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ต้องคอยติดตาม และลงมาให้กำลังใจบ่อย ๆ มีการส่งตรวจการบ้านความคืบหน้ากันเรื่อย ๆ“
เอกรัตน์ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา
ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพื้นที่มีความพร้อมในการจัดทำโครงการในลักษณะนี้เป็นยุทธศาสตร์จังหวัดก็สามารถนำเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัดได้เลย โดยสามารถอนุมัติงบประมาณมาดำเนินการได้ ซึ่งพื้นที่ทับตะวันถือเป็นพื้นที่นำร่อง หากพื้นที่อื่น ๆ เช่นชาวเลชุมชนพระทอง ชาวเลเกาะสุรินทร์มีความพร้อม ก็สามารถดำเนินการผลักดันต่อไปได้
ทวงสัญญารัฐบาล เร่งผลักดันร่างกม.คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ชุมชนชาวเลมีเครือข่ายที่กว้างขวาง และองค์กรเราเป็นสายวิชาการที่พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชนและการนิยามความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนที่เกิดคุณค่าและความรู้ โดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทำวิจัยด้านภาษาของมอแกลน รวมถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเล ชาวเลเข้าใจ รู้คุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเอง ทั้งนี้ ปัญหาต่าง ๆ ของชาวเลถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่ รวมถึงการถูกลิดรอนสิทธิ ดังนั้นสิ่งสำคัญควรตั้งคำถามไปยังระดับนโยบายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและตรงจุดที่สุด โดยการไม่ออกนโยบายมากดทับชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์อีก
เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอให้มีการเชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กระทรวงท่องเที่ยว สมาคมท่องเที่ยว ซึ่งในนโยบายระดับโลกได้วางไว้เกี่ยวกับเรื่อง ธุรกิจกับสิทธิมนุษชน เพื่อให้เกิดการเจรจาและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่หลายฝ่ายร่วมกันผลักดันและรัฐบาลควรเร่งผลักดันกลไกดังกล่าว ที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางการแก้ปัญหา และสิทธิของกลุ่มชาติพันธ์ุ ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และความเสมอภาคไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ชุมชนชาวเลทับตะวัน-บนไร่ เป็นชุมชนที่มีความพร้อมของการเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมมากแห่งหนึ่ง แม้จะมีปัญหาความท้าทายข้อจำกัดโดยเฉพาะเรื่องปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย แต่พวกเขาพยายามต่อสู้ ดึงศักยภาพความเข้มแข็งของเครือข่ายเจรจาต่อรองให้เกิดการประนีประนอมในพื้นที่ และยกศักยภาพของวิถีชีวิตวัฒนธรรม บนหลักภูมินิเวศ ของการใช้ชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติดูแลจัดการอย่างยั่งยืน สร้างเศรษฐกิจชุมชน ทำกองทุนคลังอาหารเพื่อรับมือภัยพิบัติวิกฤตต่าง ๆ แต่พวกเขาจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น หากได้รับการหนุนเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ภายใต้พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม และไม่ใช่แค่การประกาศจะต้องมีการติดตามความคืบหน้า หรือการส่งการบ้านการดำเนินงานตรงนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังเห็นว่า กลไกสำคัญที่หนุนเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการคุ้มครองทางวิถีวัฒนธรรมและการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ คือรัฐบาลต้องเร่งผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
“ยังคงคาดหวังกับห้วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้ประกาศยุทศาสตร์และนโยบายที่จะส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้ ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นเหมือนเครดิตและคำสัญญาที่รัฐบาลจะดำเนินการ ซึ่งหวังว่าการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ เพื่อจะเป็นของขวัญให้กับประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีอยู่กว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศ“