‘วิโรจน์’ โชว์วิสัยทัศน์เน้นปรับการจัดเก็บภาษี ชดเชยรายได้ พร้อมแก้กติกา สร้างสวัสดิภาพคนเมือง ‘ศิธา’ จัดงบฯ และนโยบาย ดูแลคนที่มีอัตลักษณ์แตกต่าง ‘สกลธี’ ผุดไอเดียจ้างคนพิการด้วยงบฯ พิเศษ ‘สุชัชวีร์’ เน้นการเข้าถึงการศึกษา สุขภาพ คนพิการ
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2565 มหกรรม “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65” ณ คอนเวนชัน ฮอลล์ ไทยพีบีเอส ได้จัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ ของผู้สมัครชิงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งได้ร่วมกันตอบคำถามที่มาจาก เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ใน 6 คำถาม เริ่มจากคำถามแรกในประเด็น “เมืองน่าอยู่”
มานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือ ซาบะ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ ในฐานะเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ตั้งคำถามเรื่อง “เมืองน่าอยู่” ว่า กทม. มีความแตกต่างด้านกายภาพของมนุษย์ มีความไม่เท่าเทียมทางกายภาพสูง ทั้ง ทางเท้า ป้ายรถเมล์ หรือรถไฟฟ้ามีลิฟต์อยู่ตัวเดียว ผู้สมัครแต่ละคนมี Mindset หรือวิธีคิด ต่อความหลากหลายของประชากรกรุงเทพฯ อย่างไร และในอีกสี่ปีข้างหน้าจะแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมืองนี้ไม่ได้ขาดภาคีเครือข่าย แต่ปัญหาต้นตอคือขาดงบประมาณ เราเจอคนตัวใหญ่ VIP ที่หลบเลี่ยงภาษีทั้งภาษีที่ดิน ภาษีป้าย หากเราเติมเต็มสิ่งเหล่านี้เราก็จะมีรายได้เพียงพอที่ปรับปรุงสวัสดิภาพของทุกคน เช่น รถเมล์ชานต่ำที่ใช้งบฯ 700 ล้านบาท วัคซีนปอดอักเสบ 400 ล้านบาท อุดหนุนผู้สูงอายุ-เด็กเล็ก-คนพิการใช้งบฯ รวม 8,000 ล้านบาท
สิ่งสำคัญคือแก้กติกาให้เป็นธรรม เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของทุกคน รวมทั้งการแก้ไขกติกาให้เป็นธรรม อุดหนุนปรับสวัสดิภาพ เช่น มีออดิโอซายน์ให้ผู้พิการทางสายตา แก้ไขข้อบัญญัติอาคารสูงที่สร้างก่อนปี 2548 ให้เสียภาษีถูกลงหากทำสาธารณูปโภคให้สังคมเช่นมีพ็อคเก็ตพาร์ค ซึ่งที่ต้องทำคือการแก้กติกาที่ไม่ใช่แค่ภารกิจของผู้ว่าฯ กทม. แต่รวมถึงสภา กทม. ที่มี ส.ก. จากพรรคก้าวไกลด้วย
น.ต. ศิธา ทิวารี ผู้สมัคร จากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ความไม่เท่าเทียมไม่ได้เน้นแค่ผู้พิการ แต่ยังรวมถึงคนที่มีอัตลักษณ์แตกต่าง ที่จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยจะต้องมีการกำหนดนโยบายและงบประมาณ ให้คนกลุ่มนี้ ให้เข้าถึงบริการต่าง ๆ เพราะเงินภาษีต้องใช้กับทุกคนไม่ได้บอกว่าต้องใช้กับคนเพศอะไร พิการหรือไม่พิการ สำหรับเรื่องของผู้หญิงมีภาคประชาชนปักหมุดจุดเสี่ยงแต่ภาครัฐไม่เคยเข้าไปดูทั้งที่สามารถแก้ไขด้วยเงินจุดละไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท รวมทั้งต้องกลับมาดู LGBQT+ ในเรื่องสวัสดิการของคนกลุ่มนี้ โดยสรุปคือจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สกลธี ภัททิยกุล สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่า เมืองคือคน คนคือเมือง ดังนั้น นโยบายต้องตอบโจทย์คนทุกช่วงวัยตั้งแต่เกิด มีศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนที่คนพิการจะต้องเข้าถึงได้ หรือช่วงวัยทำงานต้องการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ Co-working space ระบบสาธารณสุขที่จะต้องพัฒนาให้เข้าถึง หรือมีโครงสร้างการจ้างงานคนพิการ ให้เขาเข้าถึงการศึกษา ฝึกอาชีพ มีโอกาสจ้างงานทำเป็นกระบวนการ เพราะคนพิการไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือเป็นเงิน ต้องอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีการจ้างงานคนพิการที่ไม่จำกัดวุฒิ โดยใช้งบฯ พิเศษ อีกด้านหนึ่งจะจัดทำอารยสถาปัตย์ทำให้เป็น Universal Design คนทุกเพศทุกวัยใช้ได้ ทางต่างระดับต้องทำให้เป็นระดับเดียวกัน ขนส่งสาธารณะเป็นมิตรกับคนพิการ ทุกเพศทุกวัย ต้องเอาหัวใจของทุกเพศทุกวัยมาใส่ในงบประมาณ กทม.
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดคือ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” คือต้องเข้าใจว่าผู้พิการไม่ต้องการอะไรมากกว่าคนอื่น โดยเมืองนี้ต้องดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้หญิง เรื่องการเข้าถึงทางกายภาพของผู้พิการที่ผ่านมาพยายามผลักดันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งในฐานะวิศวกรเขามีมาตรฐานโลกว่าต้องทำอย่างไรให้คนเข้าถึงได้ แต่ที่ผ่านมาก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะนำความรู้ความเข้าใจมาทำให้ฟุตปาท กทม. มีมาตรฐานสากล ในส่วนของ “การเข้าถึง” ผู้พิการต้องได้รับการดูแลเรียนรู้มีโอกาสการศึกษาไม่น้อยกว่าคนอื่น ไปจนถึงเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลที่พยายามยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และ โรงพยาบาล 11 แห่ง ที่จะดูแลผู้พิการและสูงอายุได้ทั้งหมด
มานิตย์ กล่าวว่า ทำงานเรื่องนี้มายาวนานกว่า 30 ปีตั้งแต่ก่อน การสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส วันนี้รู้สึกดีใจที่ประชาสังคมมีความเข้มแข็ง และพูดกันเรื่องนี้หนักมาก มีการทำงานเข้มข้น เราอยากบอกผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปว่า ภาคประชาชนยินดีร่วมทำงานกับผู้ว่าฯ กทม. ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อยากให้ผู้สมัคร แต่ละคนรับปากว่าเราจะทำงานร่วมกัน