บรรจุในแผนแม่บทพัฒนาคลองแม่ข่าเชียงใหม่ หลายหน่วยงานเดินหน้า หางบฯ – ปลดล็อกกฎหมายใช้ประโยชน์ที่ดิน
“คลองแม่ข่าไม่ได้ถูกลืม แต่การพัฒนาที่ผ่านมาอาจไม่ได้มีพื้นที่พูดคุยกันมากนัก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน”
นี่เป็นประเด็นเริ่มต้นที่วิทยากรหยิบยกขึ้นมาใน เวทีสาธารณะคลองแม่ข่า “โอกาสอนาคตเมืองเชียงใหม่เพื่อทุกคน” ซึ่งเป็นเวทีภาคบ่ายต่อเนื่อง เพื่อรับฟังข้อมูลและโอกาสในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองแม่ข่าจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และวิชาการ ในระดับพื้นที่
“บ้านต้องเป็นมากกว่าที่อยู่ ต้องเป็นที่ทำมาหากินได้ พึ่งพิงกันด้วย” นี่คือเสียงสะท้อนจาก พรรณงาม สมณา หรือ “ป้าปัง” ตัวแทนชุมชนริมคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา เธอบอกว่าชุมชนมีวัฒนธรรม อาชีพ มีผู้สูงอายุ การสร้างบ้านจึงไม่ใช่แค่การทำบ้านให้คนกลับมานอนเท่านั้น จะทำอะไรให้ถามชุมชนก่อน และภาครัฐต้องจริงจัง ยืดหยุ่นทางกฎหมาย
ไพรัช โตวิวัฒน์ ตัวแทนจากภาคธุรกิจ และประธานมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ เห็นด้วยว่าการพัฒนาคลองแม่ข่าครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เห็นได้จากประสบการณ์ถนนคนเดิน จากเมืองเชียงใหม่ที่เคยเงียบ คนย้ายออก ที่ว่างเต็มไปหมด พอเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 3 ปีแรก พบว่าถนนคนเดินให้เงิน 3 พันล้านต่อปี
“มันกำลังจะเกิดขึ้นที่คลองแม่ข่า ถ้าเกาะกระแสทัน เม็ดเงินจะเข้ามา แทนที่เราจะย้ายคนออก เราสร้างงานขึ้นมา สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแห่งใหม่”
รศ.ชูโชค อายุพงศ์ นักวิชาการจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษาผู้ว่าราชการเชียงใหม่ เห็นด้วยว่านี่คือโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ชุมชนอย่าพลาดโอกาส การพัฒนาคลองแม่ข่าทำมาอย่างต่อเนื่อง หลายเรื่องดำเนินการแล้วสำเร็จระดับหนึ่ง และ “ชุมชนมีสุข” เป็นเป้าหมายสุดท้ายระบุอยู่ในแผนแม่บท และจะยกไว้ในแผนฉบับใหม่อยู่แล้ว ทำ 3 เรื่องควบคู่กันไป เรื่องต้นทุนน้ำ 3-4 ปีสำเร็จแน่นอน การจัดการน้ำเสียคาดใช้เวลาหลายปี และสุดท้ายปรับปรุงคลองภูมิทัศน์ซึ่งพ่วงเรื่องที่อยู่อาศัยข้างคลองไปด้วย
“รัฐบาลและภาครัฐทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ คุยเสร็จขึ้นหิ้งหรือป่าวไม่แน่นอน เรื่องงบไม่ใช่ปัญหา ทำแผนผ่านการมีส่วนร่วมให้ชัดเจน ทุกส่วนจะขยับร่วมกัน”
ด้าน สมสุข บุญญะบัญชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่มีรายได้น้อย สะท้อนว่า หากคลองแม่ข่าจะเป็นหน้าบ้าน เป็นที่อวดชื่นชมของคนเชียงใหม่ได้ การพัฒนาจะไปไม่สุดถ้าไม่แก้ที่อยู่อาศัย เพราะชาวบ้านเป็นคนดูแล รักษาคลอง ผู้คนคือจิตวิญญาณที่สร้างการเปลี่ยนแปลง
“ปัญหาซับซ้อนแก้ได้ จัดการที่ดินที่ทับซ้อนกันอยู่ สร้างเศรษฐกิจภาคบริการ จัดรูปแบบที่อยู่อาศัย ให้ชุมชนมีส่วนร่วมวางแผนในกระบวนการ การจัดการน้ำ คลอง โบราณสถาน การวางแผนเศรษฐกิจชุมชนเมืองในอนาคต”
สอดคล้องกับ รศ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รอง ผอ.ฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่เห็นว่า ควรมีการบริหารสิทธิ หน้าที่ ชุมชนไหนมีความพร้อมรวมตัวกันยืนยันเงื่อนไข ตามกรอบการเคหะฯ ไม่ต้องรอเคลื่อนทั้งขบวน ใช้งบฯ ของภาครัฐเข้ามาช่วยได้
“จะอยู่เท่าไหร่ ย้ายเท่าไหร่ บนเงื่อนไขที่คุณแฮปปี้ แม่ข่าเป็นขอบ ทุกคนเราอยู่ตรงนั้น ต้องดูแลสายน้ำ เรามีแผนแม่บทที่พาขับเคลื่อนได้ วันนี้เราเป็นแกนกลาง เห็นกลไกที่จะไปต่อ”
ก้าวต่อไปจากนี้ ใครทำอะไร?
จิโรจน์ โรจนเสาวภาคย์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ระบุว่าทางเทศบาลยินดีให้ความร่วมมือทุกเรื่อง จากนี้ให้ชุมชนกำหนดปัจจัยที่ต้องแก้มา เตรียมหาที่ดินรองรับที่พักชั่วคราว ประสานการเคหะรับเรื่องให้ก่อสร้างอาคาร กำหนดครัวเรือนที่จะย้าย
“นัดประชุมทำได้ก็ทำเลยเป็นตัวอย่าง ชุมชนไหนทำได้ทำไม่ได้ ต้องปรับแต่ถ้าไม่ได้เราก็ฝืนกฎหมายไม่ได้ เทศบาลมีแนวคิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมทุกเรื่อง”
ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร คณะทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองแม่ข่า บอกว่าจะเคลื่อนโครงการนำร่อง เริ่มจากชุมชนมีความพร้อม ทดลอง 2-3 จุด คุยกับหลายหน่วยงานมาแล้ว เห็นตรงกัน ทำให้ชุมชนเห็นโอกาส แต่ต้องฟังเสียงชุมชนก่อนโดยเราไม่สามารถเลือกแทนชุมชนได้ โดยช่วงที่ปรับชุมชน ต้องหาที่อยู่รองรับชั่วคราว เพื่อลดภาระบ้านเช่าของสมาชิกในชุมชน
สอดคล้องกับ รศ.ชูโชค ที่เสนอให้ชุมชนคุยกันให้จบ จัดทำผังขึ้นมา คุยกับหน่วยงานและของบประมาณ และบรรจุไว้ในแผนแม่บทฉบับใหม่ งบฯ ไม่ใช่ข้อติดขัด แต่เป็นกฎหมายในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
“เอาเรื่องที่อยู่อาศัยเข้าไปในแผน และโครงการของบประมาณ ใช้งบฯ วิเคราะห์ต้นแบบ งบฯ ก้อนใหญ่บรรจุไว้ในแผนที่สาม ที่อยู่อาศัยเป็นไฮไลท์แจ้งไปเลยว่าเป็นเรื่องสำคัญ เราจะทำให้ได้ มีแผน งบประมาณผ่านกระบวนการขั้นตอนตกลง ระเบียบ”
ด้าน สมสุข เห็นว่าทำต้องทำคู่ขนานเลย มีมาสเตอร์แพลนผังรวมปรับทั้ง 20 ชุมชน ใครพร้อมเดินหน้าก่อน ออกแบบมีเอกลักษณ์ คิดรูปแบบที่ไม่แพงที่ทุกคนร่วมจ่ายได้ สร้างบ้าน สังคม ความรัก ซึ่ง พอช. สนับสนุนการลงพื้นที่นำร่องเงินปรับปรุงที่อยู่อาศัย ทำให้ชาวบ้านได้งบฯ ทั่วไปและสินเชื่อ ที่คิดค้นเตรียมไว้แล้ว