หยุดจนข้ามรุ่นใน 1 ชั่วอายุคน ผ่านโอกาสทางการศึกษา

กทม. – กสศ. ปักหมุดสร้างเมืองเสมอภาคทางการศึกษา ปีการศึกษา 65 เด็กยากจนพิเศษกว่า 6 พันคนใน กทม. ได้ไปต่อ ‘ประธานกองทุน กสศ.’ ย้ำ ระบบการศึกษาจะเป็นหลักประกันยุติวงจรความยากจน

วันนี้ (20 ต.ค. 2565) ที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการดำเนินการพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ ด้อยโอกาส และการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษา

จากความร่วมมือก่อนหน้านี้ พบว่าในปีการศึกษา 2565 กทม. ได้ร่วมกับ กสศ. ทำการคัดกรองนักเรียนในสังกัดที่มีความยากจนพิเศษ โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ได้ทั้งหมดจำนวน 6,159 คน เพื่อรับทุนสนับสนุนการศึกษา และจะดำเนินการต่อเนื่องไปในทุกปีการศึกษา อีกทั้งจะมีการร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการการคัดกรองความยากจน รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในกลุ่มเปราะบาง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายด้านการศึกษาที่ กทม. ยึดถือเป็นหลักการทำงาน คือ ‘การศึกษาทางเลือก และแนวทางสนับสนุนเด็กที่หลุดจากระบบ’ ซึ่งเป็นนโยบายลดความเหลื่อมล้ำและป้องกันนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา ในงานดูแลด้านการศึกษา กทม. มีโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นระดับประถมศึกษา ซึ่งอยู่ในช่วงวัยสำคัญของพัฒนาการ หากปล่อยให้เด็กหลุดจากระบบแล้ว โอกาสจะนำกลับมาทำได้ยาก และไม่ใช่เพียงเด็กชั้นประถม แต่การจัดการดูแลต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะถ้าเด็กได้รับการดูแลไม่ดีในแต่ละช่วงพัฒนาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะต่อเนื่องไปจนถึงการเรียนต่อระดับสูงในอนาคต

“กทม. ต้องดูแลด้านการศึกษาให้มีคุณภาพเช่นเดียวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ๆ โดยมี social contract หรือ พันธสัญญาทางสังคม เป็นสัญญาที่มีต่อประชาชนว่าเราจะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิทางการศึกษา และความเท่าเทียมด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ การลงทุนที่ลงไปยังเด็กและครอบครัวของเขาในวันนี้ จะเป็นสิ่งที่ตอบแทนคืนกลับมาสู่เมือง (Return investment) สู่ประเทศในอนาคต เพราะถ้าเด็กสามารถไปถึงการพัฒนาได้เต็มศักยภาพ เขาจะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองในการสร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นฐานภาษีของเมือง และดูแลคนอื่น ๆ ต่อไป การลงทุนด้านการศึกษาจึงนับว่ามีมูลค่าตอบแทนสูงที่สุด โดยอาจไม่ใช่เรื่องตัวเงิน แต่หมายถึงการไปสู่เป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในเกือบทุกครัวเรือน ทำให้นักเรียนบางส่วนต้องหลุดออกไปจากระบบการศึกษา ขณะที่นโยบายดังกล่าว จะช่วยให้นักเรียนได้กลับเข้ามารับการศึกษาในโรงเรียนอีกครั้ง โดยหากนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ประสงค์กลับมาเรียนยังโรงเรียนเดิม กทม. จะสนับสนุนการกลับมาเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามนโยบาย ‘เรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม’ เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนยากจนด้อยโอกาส ในครอบครัวที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงมาก

การศึกษา

ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง กสศ. และ กทม. ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามเจตนารมย์ของการจัดตั้ง กสศ. ในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ให้ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับและเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาอย่างเสมอภาคและทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู

“ภายใต้ความร่วมมือนี้ กสศ. และ กทม. จะร่วมกับสำนักการศึกษา สำนักงานเขต และสถานศึกษาสังกัด กทม. ในการร่วมกันวิจัยพัฒนานวัตกรรมต้นแบบระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กเยาวชนในสถานศึกษาสังกัด กทม. ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศของ กทม. และ กสศ. รวมทั้งจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือและส่งต่อโอกาสสำหรับเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ และด้อยโอกาสทั้งในและนอกระบบการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับ และได้รับการศึกษาหรือพัฒนา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัด และสามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิต รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ผ่านพ้นจากสถานการณ์และวิกฤตต่าง ๆ เป็นต้น”

นอกจากนี้ กสศ. จะสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำแก่กลุ่มเป้าหมายใน กทม. 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ 1) นักเรียนในสถานศึกษาสังกัด กทม. 2) เด็กเยาวชนวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่ กทม. และ 3) ครู และสถานศึกษาสังกัด กทม.

การศึกษา

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การคัดกรองนักเรียนในเทอม 1 ปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมา พบว่านักเรียนในสถานศึกษาสังกัด กทม. อยู่ในสถานะยากจนพิเศษ คิดเป็น 15% นักเรียนเหล่านี้อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนเพียง 1,551 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน

สำหรับการทำงานบนโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การมอบทุนถือเป็นการแก้โจทย์เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ในการสนับสนุนช่วยเหลือเด็กเยาวชนให้ไปต่อได้บนเส้นทางการศึกษา จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย ดังเช่นภูมิปัญญาของชาวแอฟริกาที่ว่า It takes a village to raise a child แปลง่าย ๆ คือการเลี้ยงดูเด็กต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน ที่ผ่านมา กสศ. ได้นำแนวทางการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-Based Education: ABE) มาใช้เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภาควิชาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการใช้ ‘ข้อมูลเป็นฐาน’ เพื่อสนับสนุนการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ประเด็นสำคัญของการทำงาน ABE คือการย่อขนาดของปัญหาการศึกษาจากระดับประเทศลงมาสู่ระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมโอกาสการทำงานให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนมากขึ้น ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ จะทำให้ กทม. สามารถเป็นต้นแบบแก่จังหวัดหรือเมืองต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติในอนาคตอันใกล้

“ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่ กสศ. จะทำงานร่วมกับ กทม. จะช่วยส่งต่อนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาคให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษาเป็นระยะเวลา 20 ปีอย่างไร้รอยต่อ และในอนาคตอันใกล้ ระบบการศึกษาของ กทม. จะช่วยให้เด็กเยาวชนจากทุกครอบครัว มีสิทธิ และบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาสูงสุดตามฝันอย่างเสมอภาค มิใช่เพียงเป็นของเด็กคนใดคนหนึ่ง แต่คือเป้าหมายของเมืองและเป้าหมายของประเทศ ที่ระบบการศึกษาจะเป็นหลักประกันให้ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมของเขาและครอบครัว จนสามารถยุติวงจรความยากจนที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นให้สิ้นสุดลงได้ ใน 1 ชั่วอายุคน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active