วอนเปลี่ยนที่ ‘รกร้าง’ เป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็กยากจน

‘ครูอ๋อมแอ๋ม’ เสียดาย สนามบาสชุมชนคลองเตยถูกยุบไปตั้งเป็นเสาโฆษณา มูลนิธิพัฒนาเด็กฯ เสนอควรมี Learning Space ให้ครบ 50 เขต กสศ. ย้ำต้องมีพื้นที่ปลอดภัย สร้างโอกาสให้เด็กหลุดจากระบบ พร้อมเป็นเกราะป้องกันยาเสพติด

ศิริพร พรมวงศ์ หรือ ครูอ๋อมแอ๋ม ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง ระบุว่า เด็กยากจนมักพบปัญหาในครอบครัวทำให้พออายุ 15 ปี ก็ต้องออกจากระบบการศึกษา จากการทำงานกับเด็ก ๆ ที่ผ่านมาพบว่าจากเด็กกว่า 100 คน มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้นถึงเด็กจะเรียนดีหรืออยากเรียนต่อขนาดไหนก็ไม่สามารถทนต่อความยากจนนี้ได้ แม้กระทั่งหลักสูตรการศึกษาเองก็เป็นอุปสรรคเพราะมีสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ส่งเสริมทักษะที่พวกสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง

“ตอนแรกเราแก้ปัญหาด้วยการผลักเด็กให้กลับเข้าไปในระบบ แต่สุดท้ายเด็กก็ออกมาอีกเพราะเขาไม่มีความสุข เราเลยจดทะเบียนโรงเรียนเอง เพราะฉะนั้นรัฐน่าจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถจัดการศึกษาได้เองและสนับสนุนงบประมาณ แต่กลับพบว่าแม้กฎหมายเปิดให้มีศูนย์การเรียนได้มานานแล้ว แต่รัฐไม่มีเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาเหล่านี้”

ครูอ๋อมแอ๋ม กล่าวอีกว่า แม้มีความพยายามของประชาชนในชุนชนเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนของเขาเอง โดยการขอพื้นที่รกร้างใน กทม.มาใช้ แต่มักถูกปฏิเสธ แม้กระทั่งสนามบาสในชุมชนคลองเตยก็ถูกยุบไปหนึ่งแห่งเพื่อเป็นที่ตั้งเสาโฆษณา เพราะฉะนั้นการที่เด็กไม่มีพื้นที่เขาก็สร้างพื้นที่ตนเองอย่างร้านเกม หรือรวมตัวหลังชุมชนต้มน้ำกระท่อม ดังนั้นพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กจึงควรถูกสนับสนุนและมีทุกชุมชน

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครไม่ได้เป็นพื้นที่ของชนชั้นกลางหรือคนร่ำรวยเท่านั้น จะเห็นว่าชุมชนแออัดเป็นชุมชนที่มีจำนวนมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร  จำนวน 641  ชุมชนคิดเป็นร้อยละ 31 ของจำนวนชุมชนทั้งหมด มีจำนวนประชากร 579,630 คน มีเด็กและเยาวชนอยู่ราว 30 %  จำนวนครัวเรือน 146,462 ครัวเรือน 

ถึงเวลาที่กรุงเทพมหานคร และทุกฝ่ายจะร่วมมือกันอย่างจริงจัง พร้อมทุ่มเททรัพยากรเพื่อเด็กและเยาวชน พวกเขาและเธอคืออนาคตของเมือง ที่ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป    

เด็กยากจนในกทม. ยังเข้าไม่ถึง Learning Space

ด้าน เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ Learning Space ในกรุงเทพมหานครพบว่าหลายแห่งยังขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น ไม่กระจายครบทุกเขต บางแห่งอยู่ไกลจากชุมชน หรือมีค่าใช้จ่ายที่ทำให้ครอบครัวของเด็กยากจนไม่สามารถเข้าถึงได้ และยังพบว่าถูกออกแบบมาไม่เหมาะสมสำหรับเด็กบางกลุ่มบางวัย ที่สำคัญคือขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์หรือช่วยแก้ปัญหาที่หลากหลายของแต่ละชุมชนได้

“เราทำงานมาตลอด 20 ปี ตั้งแต่ปี 2546 เราขอพื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่รกร้างว่างเปล่าเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็กแต่ไม่เป็นผล เด็กเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างความสุข สร้างโอกาส และพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายเข้าถึงได้ง่ายและเน้นกระตุ้นจินตนาการของเด็ก ดังนั้นกรุงเทพฯ 50 เขตจึงควรมี 50 พื้นที่การเรียนรู้ให้ครบทุกเขต”

พื้นที่เรียนรู้เป็นแหล่งพัฒนาทักษะเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ ระบุว่า พื้นที่เล่น เรียนรู้ ทำกิจกรรมในทุกชุมชน เป็นเหมือนแหล่งพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะสังคม เป็นจุดเริ่มต้นของความฝัน สร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกกว้างให้กับเด็ก ๆ รวมถึงเป็นพื้นที่พัฒนาตนเองหรือออกแบบแนวทางสร้างอาชีพให้กับเด็กอีกหลายคนที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษา และเป็นเกราะป้องกันปัญหายาเสพติดในชุมชน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อทิศทางการเติบโตของพลเมืองส่วนใหญ่ของสังคมในอนาคต

“พื้นที่เล็ก ๆ ในชุมชนที่สามารถรวมเด็ก ๆ ไว้ได้ เป็นเหมือนแหล่งน้ำแห่งความมีชีวิตชีวา ทำให้เด็กได้เติมเต็มความสดชื่น ถ้าไม่มีพื้นที่แบบนี้ เด็กจะเฉา ขาดพื้นที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ ไม่มีกิจกรรมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และจะกระจัดกระจายออกไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง”

ศ.สมพงษ์ กล่าวว่า หากเราปล่อยให้พื้นที่ที่มีอยู่แล้วสูญเสียไป  กลายสภาพเป็นพื้นที่รกร้าง หรือถูกทำให้มีจำนวนน้อยลงด้วยเหตุผลใดก็ตาม นอกจากจะไม่เห็นประโยชน์ใดแล้ว ยังเหมือนเป็นการปิดกั้นการเติบโตพัฒนาของชีวิตเด็ก สกัดการเพิ่มขึ้นของประชากรคุณภาพ  แล้วยังหมายถึงการผลักให้เด็กมีความเสี่ยงในชีวิตยิ่งขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active