“สมรสเท่าเทียม” หมุดหมายใหญ่ แต่ยังไม่ท้ายสุด!

นักวิจัย แอมเนสตี้ฯ จี้รัฐเอาจริง ปกป้องสิทธิ LGBTQIAN+ หลังพบนักสิทธิมนุษยชนเพศหลากหลาย ยังเผชิญความรุนแรง ด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี

หลังร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านความเห็นชอบโดยวุฒิสภา และเตรียมไปสู่ขั้นตอนส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไทย ซึ่งกฎหมายจะมีผลบังคับใช้จริง 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะให้สิทธิแก่คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม เช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศในเรื่อง สิทธิการสร้างครอบครัว เช่น การแต่งงาน, การรับบุตรบุญธรรม, ความยินยอมด้านการรักษาพยาบาล, การรับมรดก รวมถึงสิทธิอื่น ๆ ที่พึงมี

ชนาธิป ตติการุณวงศ์ นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แสดงข้อคิดเห็นต่อการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยวุฒิสภาว่า เป็นก้าวครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย สู่การเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองการแต่งงานของคู่รักเพศหลากหลายทางกฎหมาย

ชนาธิป ตติการุณวงศ์ นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

มองว่าช่วงเวลาสำคัญนี้ เป็นรางวัลสำหรับการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของนักกิจกรรม ภาคประชาสังคม และสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ต่อสู้จนนำมาซึ่งชัยชนะในครั้งนี้

“แม้ว่ากฎหมายรับรองการแต่งงานสำหรับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจะถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ยังมีสิ่งที่ต้องทำต่ออีกมากเพื่อรับประกันการคุ้มครองกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศอย่างเต็มที่”

ชนาธิป ตติการุณวงศ์

นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยอมรับด้วยว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คงไม่ใช่หลักประกันเพียงเดียวในการคุ้มครองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และไม่ใช่จุดหมายปลายทางเดียวของเส้นทางการต่อสู้ที่ยาวนาน เพื่อเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมของกลุ่มเพศหลากหลายในประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ ในปี 2558 ประเทศไทยได้ผ่าน พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และ/หรือการแสดงออกและลักษณะทางเพศ (SOGIESC) ทว่า คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (CEDAW) ได้แจ้งข้อกังวลต่อรัฐบาลไทย เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากมีบทบัญญัติที่ให้ข้อยกเว้นการห้ามการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเพศตามหลักการทางศาสนา หรือความมั่นคงของชาติ

ชนาธิป ยังให้ข้อมูลว่า ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในไทย ยังคงเผชิญกับความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติหลายรูปแบบ รวมถึงความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี (Technology-facilitated Gender-Based Violence – TfGBV) ที่มักมุ่งเป้าไปที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ ในรายงานเรื่อง “อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง: BEING OURSELVES IS TOO DANGEROUS” ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเทศไทยต้องเผชิญกับการสอดแนมทางดิจิทัลแบบกำหนดเป้าหมาย และการคุกคามทางออนไลน์ เพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของพวกเขา ทำให้หลายคนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตอย่างรุนแรง และมีประสบการณ์เลวร้ายที่ส่งผลให้พวกเขาต้องลดการเคลื่อนไหวลง ไปจนถึงหยุดการเคลื่อนไหวในที่สุด

“การขับเคลื่อน การดำเนินการและแนวนโยบายที่จะช่วยรักษาและรับรองสิทธิของกลุ่มเพศหลากหลายจึงยังต้องเดินหน้าต่อในการสร้างสังคมที่คำนึงถึงและเป็นมิตรต่อกลุ่มคนทุกเพศ ทางการไทยต้องผลักดันและดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อปกป้องสิทธิและประกันสิทธิการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและองค์กรที่เกี่ยวข้อง”

ชนาธิป ตติการุณวงศ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

พรยมล ดลธนเสถียร

นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย