เลื่อนรับร่างแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยคลองแม่ข่าเชียงใหม่

หลังหลายฝ่ายทำงานร่วมกันจนตกผลึกเป็น 3 แนวทาง ‘พอช.’ ยันเดินหน้าทำงานพื้นที่นำร่องต่อ คาด หากได้รับการบรรจุเป็นแผน ทั้งเรื่องงบฯ และแนวทางการทำงาน จะบรรลุเป้าหมายชัดเจนขึ้น

26 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการจัดทำร่างแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยคลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ ว่า โชติพงษ์ สุขเกษม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนอาวุโส สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ภาคเหนือ กล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีการพิจารณารับร่างผังและแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยพื้นที่ริมคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา 2566-2570 ตามที่เคยระบุไว้ก่อนหน้า และยังไม่สามารถระบุวันได้ชัดเจนว่าจะเป็นวันไหน ขณะที่การรับร่างที่ยืดเยื้อออกไปจะส่งผลกระทบการทำงานตามแผนที่ระบุไว้หรือไม่ พอช. ยืนยันว่าระดับปฏิบัติการมีความเข้าใจตรงกันถึงเป้าหมายแล้ว แต่อาจจะส่งผลต่องบประมาณและอำนาจตามกฎหมายที่ซ้อนทับกันอยู่

“การประชุมร่วมกันของหลายหน่วยงาน เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว ตกผลึกในระดับปฏิบัติการ รอเพียงคณะอำนวยการระดับจังหวัดที่จะรับบรรจุในแผนฯ เพื่อคนทำงานจะมีจุดที่อ้างอิง เพราะมีการถือครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่หลายรูปแบบ พอมีเค้าลาง มีแผนฯ เราก็เหมือนมีแผนที่นำทาง ทำแล้วจะนำไปสู่อะไร ผังแม่บทมีข้อเสนอสามเรื่อง คือ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การก่อสร้าง งบประมาณ” 

สำหรับแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยคลองแม่ข่า ครอบคลุม 1,800 หลังคาเรือน คณะทำงานฯ เริ่มนำร่องในชุมชนตามแนวทาง 3 รูปแบบ ได้แก่ พื้นที่แรกบริเวณหน้ากำแพงเมืองชุมชนกำแพงงาม จะขยับไปอยู่ในพื้นที่หลังแขวงเทศบาลนครเชียงใหม่ ส่วนพื้นที่ 2 ได้แก่ ชุมชนร่องกระแจะ คลองเงิน แม่เหียะ ซึ่งเดิมมีลักษณะคร่อมน้ำอยู่ ชุมชนเตรียมจะย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่เทศบาลฯ เช่นกัน คาดว่าหากเป็นไปได้อาจจะย้ายไปรวมกับพื้นที่กลุ่มแรกแต่ที่ดินมีจำกัด และกลุ่มสุดท้าย คือการปรับปรุงทั้งบ้านและสภาพแวดล้อมในพื้นที่เดิมโดยการรื้อและปลูกสร้างใหม่โดยใช้งบประมาณจาก พอช. แต่ก็ยังต้องเจรจาร่วมกับชาวบ้านอีกครั้ง เนื่องจากยังมีความเห็นที่ต่างกัน 

“อยู่ระหว่างการเจรจาในกระบวนการลงพื้นที่ชุมชนอีก เพราะบางส่วนยังไม่เห็นด้วยทั้งเรื่องการกู้เงิน และบางคนมีการก่อสร้างบ้านมั่นคงถาวรในพื้นที่ไปแล้ว” 

จากการสำรวจของ พอช. ภาคเหนือ พบว่าชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองแม่ข่า ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มี 2,169 หลังคาเรือน รวม 4,361 คน ในจำนวนนี้มีกลุ่มคนเปราะบางถึง 1,221 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนประชากรที่มีรายได้คิดเป็นร้อยละ 37 ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างอิสระและเช่าที่ดินกับเจ้าของที่ดินเป็นเวลา 1-3 ปี ขณะที่ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย พบว่าร้อยละ 60 ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน มีระบบเช่ารายหลัง ทำให้ไม่มีข้อตกลงและระเบียบในการอยู่อาศัยร่วมกัน และยังพบการขยายพื้นที่ครอบครองต่อเนื่อง ขาดสาธารณูปโภคที่เหมาะสม และไม่ได้ประโยชน์ด้านโอกาสทางเศรษฐกิจทั้งที่อยู่ใจกลางเมือง การพัฒนาคลองแม่ข่าตามแผนแม่บทจังหวัดฉบับใหม่ นอกจากจะมีการจัดทำแผนการฟื้นฟูน้ำและปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว นี่จึงนับเป็นโอกาสของการพัฒนาที่อยู่อาศัยคลองแม่ข่าควบคู่โดยคาดว่าจะมีการบรรจุในแผนจังหวัดอย่างเป็นทางการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active