ปลุกค่านิยมคนรุ่นใหม่ ไม่ซื้อ ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ป่า

องค์กรภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ คนไทยยังเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังจากซากสัตว์ป่าแม้บางส่วนมาจากฟาร์มสัตว์เลี้ยง และพบค่านิยมการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าในทุกภูมิภาคจากรสนิยม สถานภาพทางสังคม

วันนี้ (8 ก.ค. 65) กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรทราฟฟิค (TRAFFIC) ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ผลการรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภคสัตว์ป่า ความต้องการใช้เครื่องรางที่ทำจากชิ้นส่วนจากเสือและงาช้าง

ดารารัตน์ วีระพงษ์ ผู้จัดการโครงการอาวุโส เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า (TRAFFIC) ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแคมเปญ ยันต์ว่าดี ยันต์ว่าได้บุญ (Mercy is Power) รณรงค์ด้วยสโลแกนสั้นๆ เช่น “เมตตาชีวิตสัตว์ป่า คือพลังที่แท้จริง” “ความสำเร็จทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ด้วยเครื่องราง” เพื่อที่จะเปลี่ยนความเชื่อทัศนคติเชิงไสยศาสตร์เดิมๆ ที่เบียดเบียนช้างและเสือ ด้วยแนวคิดใหม่ที่เป็นเหตุและผลมากขึ้น

โดยพบว่าสามารถสร้างการรับรู้ ทัศนคติในเรื่องของการลดความต้องการใช้เครื่องราง แต่ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในทันที และแคมเปญยังไม่เป็นที่จดจำ อีกทั้ืงสิ่งที่น่ากังวลจากการเฝ้าระวังคือพบว่า มีคนรุ่นใหม่อายุ 20 ปีต้น ๆ ให้ความสนใจและมีการซื้อเครื่องรางจากงาช้าง เครื่องรางจากเสือภายใน 12 เดือนที่ผ่านมา

“พอเห็นข้อความหรือสารที่นำเสนอ ส่วนมากมองว่า ดี เห็นด้วย แต่ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม เพราะมองว่าห่างไกลจากตัวเอง ห่างไกลจากวิถีชีวิตประจำวัน ดังนั้นเห็นได้ว่าแค่เพียงแคมเปญอย่างเดียว อาจะยังไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และยังพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ 20 ต้นๆ นิยมเครื่องลางมากขึ้นด้วย“

ดารารัตน์ อธิบายเพิ่มเติม ถึงกรณีการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า จากการเก็บข้อมูลสำรวจพบว่า ร้อยละ 97 จาก 1,300 คน บริโภคเนื้อสัตว์ทั่วไป โดยมี 1 ใน 3 จากจำนวนนี้ บริโภคเนื้อสัตว์ป่า ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยผู้ที่บริโภคเนื้อสัตว์ป่ามีรายได้ค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงไม่ใช่กินเพื่อการบริโภค แต่เป็นเรื่องของรสนิยม และความต้องการส่วนตัว

สำหรับสัตว์ป่าที่มีการบริโภคมาก คือ ไก่ป่า หมูป่า งู สถานที่รับประทาน มากที่สุดคือบ้านตัวเอง บ้านเพื่อน ร้านอาหาร ตามลำดับ ซื้อหาได้จากตลาดเปิดทั่วไป รับจากคนรู้จัก หรือซื้อจากห้างร้าน และในออนไลน์ แต่สำหรับกลุ่มคนที่เข้าร่วมแคมเปญ ส่วนใหญ่มีความตั้งใจในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าในอนาคตน้อยลง ตั้งใจไม่บริโภคอีก แต่ 1 ใน 3 ยังมีแนวโน้มบริโภคอีกอย่างแน่นอน

“คนอายุน้อยเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคเนื้อสัตว์ป่ามาก และมักบริโภคในช่วงระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว ช่วงเทศกาลต่างๆ ปัจจัยหลักที่กินคือ ตื่นเต้น รสชาติน่าสนใจ คิดว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นเรื่องสถานภาพทางสังคม สำหรับผลกระทบของโควิด-19 มีผลทำให้ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า บางส่วนหยุดรับประทานไปเลยก็มี เนื่องจากกังวลเรื่องโรคติดต่อ แต่ในทางกฎหมายยังพบว่ามีความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายน้อย ไม่ทราบว่าอันไหนกินได้ไม่ได้ ส่วนการค้าในตลาดตอนนี้พบว่าหาซื้อได้ยากขึ้น ในตลาดมีน้อยลง”

น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มองว่า การนำเสนอ การให้ข้อมูล เพื่อลดความต้องการเนื้อสัตว์ป่า อาจไม่จำเป็นต้องวัดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในทันที เพราะการเปลี่ยนความเชื่อเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ความเชื่อฝังอยู่ในความคิดทัศนคติของผู้คน ทุกวันนี้แม้จะมีการรณรงค์อย่างไร แต่ขณะเดียวกัน งาช้าง เขี้ยวเสือ ซากเสือ ซากช้าง ยังมีขายอยู่มาก ถ้าทำให้เห็นว่าเครื่องรางต่างๆ อาจไม่ได้มาจากในป่าโดยแท้ แต่มาจากการเลี้ยง แล้วเอามาขายทอดตลาดในวันที่สัตว์เหล่านั้นตาย จึงจำเป็นต้องอธิบายถึงที่มาของซากสัตว์เหล่านี้ด้วย

เรื่องของประสบการณ์ก็เป็นตัวตอกย้ำที่สำคัญ ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อมีการบริโภคสัตว์ป่า ในฐานะนักวิชาการจะต้องทำให้ผู้บริโภค รู้ เข้าใจ สัมผัสได้ มากขึ้น เช่น สถานการณ์โควิด มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคเนื้อสัตว์ของผู้คนอย่างมาก ต้องใช้โอกาสนี้สื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ

“เราต้องเปลี่ยนเทรนด์ใหม่ว่าการครองครองซากเสือซากสัตว์ ไม่ใช่สิ่งมงคล เป็นสิ่งอัปมงคลบ้านไหนมีสิ่งเหล่านี้คืออยู่แล้วร้อนไม่เป็นสุข แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นปลูกต้นไม้ บ้านนี้มีความร่มเย็น ส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า ต้องสร้างความเข้าใจให้ชัดว่าถูกหรือผิดกฎหมาย เช่น เนื้อจระเข้ ไก่ป่า หมูป่า เหล่านี้ อาจมาจากในฟาร์ม แต่คนอาจเข้าใจว่ามาจากป่า ดังนั้นจึงต้องสื่อสารให้ชัดเจน ถึงที่มาและข้อกฎหมาย หรือถ้าพูดถึงเรื่องของสรรพคุณอาหาจากสัตว์ป่าดีจริงไหม แน่นอนว่าเนื้อสัตว์เป็นโปรตีน แต่ส่วนประกอบสมุนไพรคือตัวเด่นมากกว่า ถ้าอธิบายให้ชัดคนก็จะเข้าใจถูกต้องมากขึ้น”

ใกล้รุ่ง พูลผล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนบริหารอนุสัญญา กล่าวว่า การทำนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 กรมอุทยานฯ ได้มีการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ มากขึ้น อย่างน้อยเห็นความร่วมมือในการรณรงค์เรื่องการค้าและบริโภคสัตว์ป่า มีการพัฒนากระบวนการสื่อสาร ทำแคมเปญร่วมกันอย่างเป็นระบบ เป็นบทเรียนที่จะทำงานต่อไปในอนาคต

“วันนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าสำเร็จแล้ว แต่สิ่งที่รณรงค์ในช่วง 2 ปี นี้เป็นความมหัศจรรย์มากๆ แม้จะเป็นสิ่งที่ยากเพราะการเปลี่ยนความเชื่อไม่ง่าย จะเปลี่ยนพฤติกรรมซื้อเลยไม่ได้ ต้องหาวิธีกันไปในอนาคต หนึ่งในสิ่งที่ถ่ายทอดผ่านแคมเปญไม่ค้าเครื่องรางจากสัตว์ป่าคือความเห็นจากพระสงฆ์ที่ไม่ผลิตซ้ำความเชื่อผ่านการปลุกเสกเครื่องรางต่างๆ เราก็พยายามทำให้เกิดค่านิยมตรงนี้ขึ้นมา”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้