ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้ การพัฒนาทุกช่วงวัยดีขึ้นมาก แต่ความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการศึกษา ยังเป็นโจทย์ท้าทาย แม้อุปสรรคมาก ขออย่าหมดหวัง ร่วมกันพัฒนาคนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”
วันนี้ (29 ก.ย. 2566) เสวนาวิชาการ เรื่อง “คน” ในงาน BOT SYMPOSIUM 2023: The Economics of Well-Being เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี บทประพันธ์ของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมไทยในทุกช่วงวัย ผ่านการเปรียบเทียบจากบทความของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” โดยระบุว่าปัจจุบัน เด็กไทยได้รับสารอาหารมากขึ้น มีน้ำหนักส่วนสูงเพิ่มมากขึ้น มีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้น แต่ว่ามีบางกลุ่มที่ได้รับโภชนาการที่ยังไม่เหมาะสม ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คือ อ้วนเกินไป และเตี้ยเกินไป อยู่ในกลุ่มด้อยโอกาส ขาดโภชนาการเรื้อรัง 13% สะท้อนการกระจายและประสิทธิภาพด้านโภชนาการที่ยังไม่เท่าเทียม
ด้านการศึกษา เด็กไทยได้รับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น 10 ปี เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับ 50 ปีก่อน แต่โจทย์ที่ท้าทายคือคุณภาพการศึกษา จะเห็นได้จากผลคะแนนโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ยังต่ำกว่าทั่วโลกและต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ขณะเดียวกันการเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นของกลุ่มคนระดับ 10% ล่างสุด ยังพบว่าสามารถเข้าถึงได้น้อยเพียง 4-5% เท่านั้น และการศึกษายังมีความเหลื่อมล้ำสูง ขณะที่ตลาดแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สัดส่วนแรงงานนอกภาคการเกษตรเติบโตจาก 25% เมื่อ 45 ปีก่อน มาเป็นเกือบ 70%
“ตลาดแรงงาน จัดสรรทรัพยากรที่เอื้ออุตสาหกรรมและบริการ แรงงานมีทางเลือกที่มากกว่าในช่วงที่ผ่านมา แต่ตลาดแรงงานไทยปัจจุบันมีปัญหาการผลิตทักษะให้ตรงกับตลาด เช่น บางกลุ่มจบปริญญาตรีได้รับค่าจ้างเทียบเท่าระดับมัธยมศึกษา หรือกลุ่มแรงงานที่มีอายุน้อยแต่การศึกษาสูง กลับว่างงานมากกว่ากลุ่มอื่น”
ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะแก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย คนไทยอายุยาวนานขึ้น แต่สุขภาพไม่ยาวนานตาม และมีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอในการจับจ่ายใช้สอย และการรักษาสุขภาพ จะเห็นได้จากรายได้หลัก 1 ใน 3 มาจากลูก บางส่วนมาจากการทำงาน และมาจากเบี้ยผู้สูงอายุ ส่วนน้อย หรือ 1.5% เท่านั้น ที่มีเงินบำเหน็จบำนาญ หรือเงินจากการลงทุน ดอกเบี้ย เงินออม
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ย้ำช่วงท้ายว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ที่เป็นความหวังของอาจารย์ป๋วย ยังมีอีกหลายเรื่องที่ท้าทาย รอยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนไทยกินดีอยู่ดีมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดและอุปสรรคมากมาย แต่ขออย่าเพิ่งหมดหวังซึ่งสำคัญที่สุดในการที่จะร่วมกันพัฒนา และหากพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพก็เหมือนพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ