ศึกษาประวัติศาสตร์​ ผ่านโรงงานรถไฟมักกะสัน ครั้งแรกในรอบ 112 ปี

การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ททท. เปลี่ยนพื้นที่ใต้ทางด่วนจัดเทศกาล “ขนหัวลุก” ผลักดันแนวคิด Soft Power กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการอนุรักษ์พื้นที่เก่าแก่ใจกลางเมือง

การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดงาน “เทศกาลขนหัวลุก มักกะสัน 2565” เพื่อสร้างพื้นที่กิจกรรมภายในเมือง หวังให้เกิดกระแส Soft Power และโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ในพื้นที่โรงงานรถไฟมักกะสัน ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ได้เปิดให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชม เป็นพื้นที่ปิดเฉพาะเจ้าหน้าที่รถไฟเท่านั้น งานครั้งนี้จึงเรียกว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 112 ปีที่มีการจัดกิจกรรมสาธารณะ

ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย เล่าว่า พื้นที่โรงงานมักกันสันเป็นพื้นที่เก่าแก่ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่คนรถไฟต่างหวงแหน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดงานในวันนี้ขึ้น โดยหวังว่าหลังจากนี้จะมีโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ ควบคู่กับการรักษาคุณค่าเดิมเอาไว้

“เราได้ปรับปรุงโรงเก็บรถประวัติศาสตร์ รถจักรโบราณทั้งหมดที่เก็บได้ อาคารโบราณ 2465 อายุร้อยปี ซึ่งสวยงามมาก เมื่อก่อนพื้นที่จะโทรมๆ ตอนนี้เราก็หางบฯ มาปรับปรุง และแข่งขันกันในเรื่องของจัดการภูมิทัศน์… ถ้าเรามีเรื่องราว เล่าเรื่องเกี่ยวกับรถไฟได้ กับต้นทุนที่เรามี คือมรดกทางอุตสาหกรรม มรดกทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นมรดกของประเทศ เราจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ยังไง วันนี้ใครมาก็ชมว่าสวยงาม เพราะฉะนั้นเชิงอนุรักษ์ อยากให้การรถไฟเปิดโอกาสให้คนเข้ามาศึกษาเรื่องของการเดินรถไฟ อาจจะมีร้านกาแฟ สร้างรายได้ เรียนรู้ และเห็นบทบาทงานที่สำคัญของการรถไฟ”

ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม อดีตกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ มองว่า แม้ธีมงานที่ ททท. จัดจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พื้นที่โดยตรงแต่ก็สามารถดึงดูดความสนใจให้ผู้คนจำนวนมากให้มาร่วมกิจกรรมได้ เมื่อเข้ามาถึงภายในงานก็ได้สัมผัสกับความเก่าแก่ดั้งเดิม และคุณค่าของพื้นที่โรงงานมักกะสันด้วย

“เป็นหมุดหมายที่ดี เพราะตอนนี้ มีภาคประชาสังคมจำนวนมาก ที่ดูแลทั้งเรื่องพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ และในช่วงที่เรามีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ที่มีนโยบายเรื่องพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ พื้นที่สร้างสรรค์ มีศิลปะ งานวันนี้ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่แบบนี้จำเป็น เป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ และหากในอนาคตจะมีการเปิดพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้ได้ใช้งานมากขึ้น แม้ว่าโรงงานมักกะสันยังใช้งานอยู่ ก็มีพื้นที่มากมายหลงเหลือ และสามารถทำเป็นพื้นที่ time sharing จัดกิจกรรมอะไรได้ โดยการรถไฟอาจจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ สร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ขึ้นมาอีก”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้