ประชุมนัดแรกคณะกรรมการดำเนินการเชิงป้องกันหรือยับยั้งกรณีฉุกเฉิน หวังลดผลกระทบและความเสียหายจากภัยพิบัติ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังฝนตกหนัก ตกสะสม ระหว่างวันที่ 18-21 ต.ค.นี้
วันนี้ (19 ต.ค. 67) สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปัตตานี แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ลาดเชิงเขา ระหว่างวันที่ 18-21 ตุลาคมนี้
นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนไปยังผู้นำชุมชนในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำ เช่น อ.หนองจอก และ อ.เมือง เพื่อแจ้งประกาศผ่านเสียงตามสาย หรือหอกระจายข่าวของชุมชน เพื่อให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของเขื่อนปัตตานีได้พร่องน้ำ เพื่อรองรับการปรับเพิ่มการระบายของเขื่อนบางลาง เป็น 16 ล้าน ลบ.ม. ต่อ วัน ตั้งแต่วันที่ 19 เป็นต้นไป เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำ ของลุ่มน้ำปัตตานี โดยบริหารจัดการน้ำผ่านอาคารชลประทาน ให้พื้นที่ด้านท้ายน้ำได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ขณะที่ในช่วงนี้ ยังเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนเข้าที่ฝั่งปัตตานี ซึ่งเมื่อ 22.00 น. ของวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางชลประทานจังหวัดได้มีการวางแผนในการจัดการน้ำไม่ให้น้ำจากเขื่อนยะลา ไหลเข้ามาในห้วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน เป็นการลดการปะทะระหว่างมวลน้ำในจังหวัดยะลา ซึ่งจะปล่อยแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 16 ล้านลูกบากศ์เมตร
พาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า นอกจากการแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ให้ประชาชนเข้าถึง การประเมินสถานการณ์ ระดับความรุนแรงของภัยพิบัติ วิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นไปได้ พฤติการณ์ ปัจจัยบ่งชี้ต่าง ๆ ว่ามีความจำเป็นต้องป้องกันยับยั้ง หรือดำเนินการใดที่จำเป็นต้องกระทำการใดที่จำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้และจำเป็นต้องรีบยับยั้งภัยพิบัติโดยฉับพลัน เพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากไม่ดำเนินการอาจส่งผลก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชนหรือความเสียหายในทรัพย์สินของประชาชนและรัฐ รวมทั้งเสนอมาตรการและแนวทางในการป้องกัน หรือยับยั้งภัยพิบัติ คือเป้าหมายและหน้าที่สำคัญ ของคณะกรรมการดำเนินการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ที่ผู้ว่าฯมีคำสั่งแต่งตั้งขึ้น และมีการประชุมกันนัดแรก เมื่อวันศุกร์ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา
“การเปิดศูนย์ป้องกันและยับยั้งฯ เพื่อบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของปัตตานี คือปลายทางของน้ำ คือแหล่งรับน้ำ หลังจากได้ลงพื้นที่ และได้คุยข้อมูลต่างๆกับหลายภาคส่วน การจัดการเตรียมการทั้งหมด วันนี้เราเอาคณะกรรมการทั้งหมดเลยมานั่งและถามถึงว่าสิ่งที่คุณเตรียมป้องกันน้ำท่วม จุดติดตั้งน้ำพร้อมรึยัง จุดประตูระบายน้ำไปทดสอบรึยัง เราก็จะใช้คณะกรรมการยับยั้งในการเป็นสิ่งที่ติดตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำแล้วและทำต่อเนื่อง“
โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานกรรมการ, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ผอ.โครงการชลประทานปัตตานีโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี ท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี ผอ.แขวงทางหลวงปัตตานี ผอ.สถานีอุตุนิยมวิทยาปัตตานี หัวหน้าฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย และ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี เป็นกรรมการ
ขณะที่มติที่ประชุมเมื่อวาน ได้มีการเพิ่มหน่วยงาน กองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ ๙ เข้ามาเป็นกรรมการด้วย เพราะมีเทคโนโลยีการติดตามประเมินสถานการณ์ทางอากาศ ที่มีความแม่นยำ ที่สำคัญทำให้เห็นแผนที่ภูมิศาสตร์ที่มีความเป็นปัจจุบันทันต่อสถานการณ์
“ที่สำคัญยังมองถึงความร่วมมือ การเป็นศูนย์กลางกระจายการช่วยเหลือทางอากาศ เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ โดยเฉพาะการบัญชาการช่วยเหลือทางอากาศกองทัพอากาศต้องเป็นหน่วยงานหลัก เพราะเครื่องมือต่างๆความพร้อมอยู่นั่น หมายความว่า ตอนนี้ร่วมในศูนย์ป้องกันและยับยั้งฯ แต่เมื่อเกิดเหตุภาวะวิกฤติ อยู่ในส่วนของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ด้วย“
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ยังระบุถึงอีกเป้าหมายสำคัญ ของศูนย์ป้องกันยับยั้งภัยพิบัติฯ ที่ต้องให้การสนับสนุนชุมชน คือการอบรมซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติ ติดอาวุธให้กับอาสาสมัครในชุมชน ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเข้าใจสถานการณ์ มีส่วนร่วมในการวางแผนจัดการภัยพิบัติ เพราะจากการประเมินหลายฝ่าย คาดการณ์ว่าปีนี้จะหนัก ซึ่งจากที่เคยท่วมเมตรกว่า ๆ อาจจะสูงถึง 2 เมตรกว่า ๆ การเตรียมพร้อมรับมือ และการอพยพให้ทันเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ไม่อยากให้ตระหนก แต่อยากให้ทุกฝ่ายตระหนักเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์
“เนื่องจาก 6 อำเภอของปัตตานี เป็นพื้นที่ที่ติดชายฝั่งทะเล เพราะฉะนั้นปัจจัยสำคัญ คือพื้นที่ชุมชนที่อยู่แนวชายทะเล ไม่ต่ำกว่า 150 หมู่บ้าน ประชาชนจึงต้องเรียนรู้สถานการณ์ของน้ำที่มา ซึ่งเขาเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงในปลายทางของน้ำ ที่สำคัญหากน้ำมามาก ท่วมหนัก คนจากภายนอกเข้าไปช่วยเหลือจะยาก แต่ถ้าชุมชนเข้มแข็งวางแผนจัดการรับมือในพื้นที่ได้ ก็จะทำให้ช่วยลดผลกระทบและเกิดความปลอดภัย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือความร่วมมือพี่น้องประชาชน ไม่อยากให้ตะหนก แต่ให้ตะหนัก เราอาจเคยอยู่กับน้ำท่วมได้ก็จริง แต่สถานการณ์หลังจากนี้อาจไม่เหมือนเดิม หากหน่วยงาแจ้งให้อพยพ ก็อยากให้เชื่อมั่นข้อมูลและปฏิบัติตาม “
ทั้งนี้ ยังได้มีการประสานไปยังท้องถิ่น ให้จัดเตรียมงบประมาณในการสนับสนุนอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ เช่น วิทยุสื่อสารเรือ และอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น เชือกที่มีความแข็งแรงไว้แล้ว ในส่วนที่เกินกว่าที่ท้องถิ่น ทางจังหวัดได้ตัดเตรียมงบประมาณไว้สนับสนุนแล้ว