Thailand Web Stat

ภาคใต้ฝนตกหนัก ถนนทรุด ยังเสี่ยงดินโคลนถล่ม

นักวิชาการเผย ทั่วไทยมีกว่า 10,000 หมู่บ้าน ที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงภัยพิบัติ แนะถึงเวลา”ต้องพร้อม”รับมือแล้ว หลังอากาศแปรปรวนสูง

วันนี้ (12 ต.ค.2567) พื้นที่ภาคใต้ยังเผชิญกับสถานการณ์ฝนตกหนัก และเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังมีฝนตกหนักต่อเนื่องใน อ.เบตงและ อ.ธารโต จ.ยะลา ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากรุนแรงบ้านเรือนชาวบ้านที่ตั้งอยู่ริมตลิ่ง หมู่ 4 ต.อัยเยอร์เวง ใน อ.เบตง ถูกน้ำกัดเซาะได้รับความเสียหายทั้งหลัง และเป็นเหตุให้ชาวบ้านเสียชีวิต 1 คน ขณะที่สมาชิกในบ้านอีก 6 คน ต้องไปอาศัยบ้านญาติชั่วคราว โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว

ขณะที่ ต.แม่หวาด อ.ธารโต เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ เข้าช่วยเหลือ เก็บข้าวของในบ้านเรือนของชาวบ้านรวม 17 หลัง ที่ถูกน้ำท่วมฉับพลันเข้าพื้นที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งล่าสุด มีรายงานว่า ระดับน้ำลดลงแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่าบริเวณสะพานสามแยกเทศบาลตำบลคอกช้าง เกิดทุรดตัว ทำให้ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ต้องใช้ทางเบี่ยงเข้าหมู่บ้านแทน

ส่วนที่ จ.กระบี่ เกิดน้ำท่วมจากคลองพรุเตียว อ.เขาพนม เข้าสู่บ้านเรือนชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 7 และหมู่ 10 ได้รับความเดือดร้อน ขณะที่ พีรเดช เวชกุล นายก อบต.พรุเตียว ประกาศแจ้งเตือนชาวบ้านที่อยู่ในเส้นทางน้ำให้เก็บของขึ้นที่สูง เนื่องจากขณะนี้ีมวลน้ำกำลังไหลหลากไปยังพื้นที่ท้ายน้ำ ในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค.2567)

ขณะที่เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทางน้ำเสมือนจริง เพื่อเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในฤดูฝนนี้ ทั้งการส่งตัวผู้ประสบภัย ผู้ป่วยติดเตียง ข้ามน้ำ การฝึกการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามจุดต่างๆ ในกรณีระดับน้ำท่วมสูง เพื่อให้สามารถอพยพประชาชนออกจากบ้านเรือนได้อย่างทันท่วงทีและให้มีความปลอดภัยสูงสุด

สำหรับ ปริมาณฝนสะสม 24 ชม.ที่ผ่านมา ฝนสะสมสูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ จ.ยะลา (209 มิลลิเมตร ) ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี (62 มิลลิเมตร ) ภาคกลาง สมุทรปราการ (27 มิลลิเมตร ) ภาคเหนือ จ.เชียงราย (68 มิลลิเมตร ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา (49 มิลลิเมตร ) และภาคตะวันออก จ.ระยอง (33 มิลลิเมตร )

ซึ่งปัจจุบันมีสถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ จ.สุราษฎร์ธานี (อ.พระแสง) จ.นครศรีธรรมราช (อ.พรหมคีรี และทุ่งสง) และ จ.ยะลา (อ.เบตง และธารโต)

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม กล่าวว่า แนวโน้มของฝนภาคใต้ยังมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึง พฤศจิกายน และจะตกมากทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกแล้วค่อยขยับมาฝั่งตะวันออกจากอิทธิพลความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้ร่องฝนขยับมาตอนล่างของภาคใต้ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือ ระยะนี้ดินชุ่มน้ำ พอฝนตกลงมาอีก อาจเสี่ยงเกิดภาวะดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ สำหรับภาคใต้แล้วหลายแห่งมักมีภูเขาสูง และเป็นเทือกเขา เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมดินถล่มมักจะรุนแรง ในอดีตหมู่บ้านคีรีวง ที่ตั้งอยู่ ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่เชิงเขาหลวงคีรีวง ก็เคยเกิดภัย ไม่ต่างจาก อ.นบพิตำที่เคยเกิดภัยพิบัติ พื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะเทือกเขาหลายแห่งเป็นภูเขาหินแกรนิต เมื่อฝนตกหนักอยากให้เฝ้าระวังจุดเสี่ยงที่เคยเกิดไว้ด้วย

“จริงๆแล้วประเทศไทยมีหมู่บ้านกว่า 1 หมื่นแห่ง อยู่ในพื้นที่ล่อแหลมเสี่ยงภัย แม้จะไม่ได้เกิดบ่อยครั้ง แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง สิ่งที่จะทำให้เกิดภัย คือฝนตกหนักมาก ยกตัวอย่างจังหวัดภูเก็ต ผมเคยทำงานวิจัย เคยคาดการณ์ไว้ 20 ปีที่แล้ว อาจเสี่ยงอันตราย แต่ก็ไม่มีใครรู้จะเกิดตอนไหน แต่เมื่อฝนตกแช่นานหลายชั่วโมง ก็ทำให้ “Extreme event” นำมาซึ่งภัยน้ำท่วมและดินถล่มได้”

รศ.สุทธิศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ภาครัฐและข้อเสนอเชิงนโยบายคือข้อต่อสำคัญในการบูรณาการและประสานต่อความปลอดภัยของประชาชน สิ่งที่รัฐขาดหายและต้องเติมต่อคือเรื่องกระบวนการชุมชน ให้มีการจัดการภัยพิบัติฐานชุมชน ให้ความรู้ สร้างเครือข่ายกระตุ้นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงตื่นตัว รัฐควรสร้างเครือข่ายไม่ต้องทำเองทั้งหมดจากส่วนกลาง แต่ต้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันอย่างมีส่วนร่วม รัฐสนับสนุนงบประมาณ ให้มีวิธีการลงมาพัฒนาชุมชนให้ได้ เพราะงบฯท้องถิ่นมีไม่มาก พร้อมเสนอ

  1. ลดจำนวน ผู้เปราะบาง ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ล่อเเหลม โดยการย้ายตัวเองออกจากพื้นที่อันตราย รัฐต้องช่วยประเมินพื้นที่อันตราย เเละช่วยในการย้ายที่อยู่อาศัย ด้วยความยินยอมของเจ้าของ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะพยายามย้ายกันในพื้นที่หมู่บ้าน เเต่ไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยกว่า ประเด็นนี้ ต้องสร้างกระบวนการชุมชนให้ชุมชนช่วยเหลือกัน เพราะพื้นที่ทั้งหมดก็จับจองกันมาทั้งนั้น กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องรอใคร ไม่ต้องรอหน่วยงาน ถ้าเห็นว่า ไม่ปลอดภัยเเล้ว ก็ทำได้เลย ผู้นำชุมชนจึงสำคัญ
  2. ลดอาคารที่เปราะบางในพื้นที่ล่อเเหลม สำหรับพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ หรือพื้นที่ที่มีความเเออัด หน่วยงานต้องกำหนดพื้นที่อันตรายเเละเสี่ยงต่อความปลอดภัยให้ชัด โดยการทำ Local risk map ระดับชุมชน เเละให้ผู้ครองที่ดินทราบถึงความอันตราย หากยังไม่มีใครขออนุญาตก่อสร้าง ก็ควรประกาศเป็นพื้นที่ห้ามสร้าง อาศัยกฏหมายควยคุมอาคาร หากเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ถือครองไปเเล้ว ก็ควรจำกัดการก่อสร้าง ให้มีความหนาเเน่นของอาคารต่ำ หรือให้สร้างตามหลักการก่อสร้างอาคารในพื้นที่ลาดชันตามกฏหมายควบคุมอาคาร รวมถึงก่อสร้างโครงสร้างป้องกันดินถล่ม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องกระทำโดยผู้ครอบครองที่ดิน
  3. นโยบายสำคัญต่อจากนี้ไปคือ การก่อสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อลดความรุนเเรงจากน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มในกรณีที่มีขนาดรุนเเรง ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีทั้งโครงสร้างดังกล่าวเเละไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่นการสร้าง Check dam, Sabo dam ฝายหรือเขื่อนขนาดเล็กเพื่อชะลอน้ำ บ่อเก็บตะกอน กำเเพงกันดิน ตาข่ายกันดิน ฯลฯ ต้องทลายข้อจำกัดด้านกฏหมาย เเละมีข้อยกเว้นในเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ
    หมดเวลาที่จะพึ่งพาการเตือนภัยและอพยพอย่างเดียว เราจะวิ่งหนีเเบบนี้ไปอีกกี่ร้อยปีกัน
  4. ระบบการเตือนภัยต้องมาพร้อมกับการซ้อมเป็นประจำ ถึงเเม้มีอุปกรณ์ไฮเทคเเต่ไม่ซ้อม ก็เหมือนมีที่ดับเพลิงเเต่ไม่รู้วางไว้ไหน ต้องฉีดอย่างไร การทุ่มงบประมาณสร้างระบบเตือนภัยราคาเเพง ไม่ใช่คำตอบ ควรทำในพื้นที่ที่จำเป็น ในเรื่องภัยธรรมชาติ ต้องเอาเรื่องความเท่าเทียมที่จะได้งบประมาณทั่วถึงกันออกไป เพราะธรรมชาติไม่เข้าใจเรื่องความเท่าเทียม มีเเต่ที่ที่เสี่ยงไม่เท่ากัน
  5. เรื่องกฏหมายเเละการจัดการ ถึงเวลาเเล้วที่เราต้องมี พ.ร.บ.ความปลอดภัยสาธารณะของพื้นที่ลาดชันเเละพื้นที่สูง ปัจจุบันนี้ไม่มีใครถือกฏหมายที่จะดูเเลความปลอดภัยในเเง่การป้องกัน การวางยุทธศาสตร์ ไม่ให้ลาดเขาธรรมชาติถล่มไปทำให้คนตาย เรามีเเต่คนบอกเเละคนเตือน เเต่ไม่มีคนกัน
  6. องค์กรกลางในการจัดการภัยธรรมชาติ ที่ไม่ขึ้นอยู่กับการเมืองหรือระบบราชการ เพื่อความอิสระเเละต่อเนื่องในการวางเเผนป้องกันในระยะยาว หรือ FEMA Thailand ไม่ใช่วางเเผนกันไม่เกิน 4 ปี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active