‘เด็กบ้านกาญจนาฯ’ ร่วมทีม ‘กระจกเงา’ อาสาช่วยชาวบ้าน ฟื้นฟูเชียงราย

‘ป้ามล’ ย้ำ การได้ทำงานในพื้นที่ช่วย ‘คนทุกข์’ ความเป็นมนุษย์ จะแสดงออกมา เชื่อ ความรู้สึกได้ช่วยเหลือ คือ กลไกยับยั้ง ชั่งใจ พลิกชีวิตเด็กที่ก้าวพลาด

วันนี้ (24 ก.ย. 67) ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เปิดเผยกับ The Active ถึงความตั้งใจของเด็ก เยาวชน บ้านกาญจนาฯ ที่เสนอตัวร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในพื้นที่ จ.เชียงราย

ป้ามล บอกว่า เยาวชนชายบ้านกาญจนาฯ เดินทางลงพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา 20 คน ในช่วงก่อนเดินทางได้ให้พวกเขาดูภาพข่าว ดูสภาพพื้นที่แล้ว ประเมินสุขภาพตัวเองว่าไหวหรือไม่ คนที่ไหวก็จะเดินทางลงพื้นที่ และหากใครที่สุขภาพไม่แข็งแรง ก็จะให้ช่วยแพ็คของที่สำนักงานมูลนิธิกระจงเงา ที่ กรุงเทพฯ ซึ่งเด็กบางคน มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ รวมทั้งต้องให้พ่อแม่ผู้ปกครองอนุญาตด้วย

เยาวชนบ้านกาญจนาฯ ที่ร่วมลงพื้นที่ จ.เชียงราย

ป้ามล บอกด้วยว่า การเดินทางครั้งนี้เด็กใช้เวลาทั้งหมด 12 วัน โดยทางบ้านกาญจนาฯ ไม่ได้ขออนุญาตทางกรมพินิจฯ เนื่องจากในระเบียบกำหนด ว่า กรณีที่ออกนอกพื้นที่เกิน 14 วัน ต้องใส่เครื่องพันธนาการ และต้องขออนุญาต อธิบดีฯ ครั้งนี้จึงให้เด็กไป 12 วัน ซึ่งเด็กบ้านกาญจนาฯ จะเดินทางไปช่วยเหลือ เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติลักษณะนี้หลายครั้งแล้ว

“เมื่อปี 2548 ที่เกิดสึนามิ ที่ จ.ภูเก็ต ก็พาคนไปช่วย สลับกันไปทั้งปี การช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยสึนามี เกิดเรื่องน่าประทับใจ ชาวบ้านที่อยู่บ้านน็อคดาวน์ พอบ้านเขาสร้างเสร็จ กลับขึ้นบ้านถาวรป้ายังพาเด็กเหมารถบัส 2 คัน ไปร่วมส่งชาวบ้านขึ้นบ้านใหม่เลย ที่บ้านน้ำเค็ม”

ทิชา ณ นคร

ป้ามล ยังเล่าว่า จากเหตุการณ์ปี 2548 ได้เห็นข้อสังเกตสำคัญว่า ในพื้นที่คนทุกข์ ความเป็นมนุษย์ของเด็กจะออกมาเยอะมาก ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไปยับยั้งชั่งใจ ทำให้เขาเป็นคนดีได้ ซึ่งเครื่องมือนี้ เกิดขึ้นมาจากในปี 2546 มีเด็กวัย 9 ขวบถูกทำร้าย ป้ามลได้ให้เด็ก ๆ อ่านข่าวนี้ แล้วเขียนจดหมาย ไปมอบให้เหยื่อ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนที่เคยทำผิด ได้เห็นอีกมุมที่เป็นผลจากการกระทำ

“เด็กช็อก เพราะเขาเคยเป็นผู้ฆ่า แต่ไม่เคยได้ตามไปดูหลังจากนั้น ว่าคนที่ถูกฆ่าเป็นอย่างไร น้องคนนี้ถูกลูกหลงจากเหตุที่เขาทำร้ายกัน เด็กได้เห็นได้ยินเสียงร่ำไห้ของพ่อแม่ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ป้ามลใช้เครื่องมือนี้ในการเจียระไน”

ทิชา ณ นคร

จากสึนามิ ดินถล่มลับแล น้ำท่วมอุดรฯ – อุบลฯ สู่ ฟื้นฟูเชียงราย

ป้ามล เล่าอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นภาพลงพื้นที่ช่วยเหลือทุกภัยพิบัติ ทั้งเหตุการณ์สึนามิ ไปช่วยคนที่ลับแล น้ำท่วม จ.อุดรธานี จ.อุบลราชธานี ที่รุ่นพี่เคยได้ลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้าน สิ่งเหล้านี้จะมีบอร์ดถาวร แปะอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ และมีถ้อยคำที่ผู้คนเขียนถึงพวกเขาทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เด็ก ๆ รอคอย เมื่อเห็นพื้นที่ผู้คนเดือดร้อน เขาระรู้ว่าการไปช่วยเหลือคือภารกิจที่พวกเขาจะได้ทำ

สำหรับภารกิจของเยาวชนบ้านกาญจนาฯ และครู ที่ร่วมลงพื้นที่ จ.เชียงราย รวม 30 ชีวิต ได้รวมทีมกับอาสาจากมูลนิธิกระจกเงา และเจ้าหน้าที่ ทำงานกันอยู่ประมาณ 200 คน โดยมูลนิธิกระจกเงา ได้แบ่งพื้นที่ทำงานออกเป็น 3 ชุด

  • ชุดแรกเป็นโซนเมือง หน้างานจะเป็นชุมชนเกาะลอย, ชุมชนเทิดพระ, ชุมชนรั้วเหล็ก

  • ชุดที่ 2 เป็นโซนตำบลแม่ยาว, บ้านแคววัวดำ, บ้านรวมมิตร

  • ชุดที่ 3 ช่วยเหลืออยู่ในพื้นที่ อ.แม่สาย

ส่วนประเด็นความหวังของป้ามล และบ้านกาญจนา จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ว่า 30 ก.ย. นี้ จะชี้ชะตาว่า ป้ามล และบ้านกาญจนาฯ จะได้ไปต่อหรือไม่นั้น ป้ามล เปิดใจว่า ภาพรวมเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะหลังจากที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาที่บ้านกาญจนาฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ค่อนข้างจะมีหลักประกันว่า ระบบบ้านที่ออกแบบไว้จะไม่ได้รับผลกระทบ

“จากภาษากายที่เกิดขึ้น ในห้องประชุม มีแนวโน้มที่ดี ก่อนจะเดินทางไป เด็ก ๆ เขารอฟัง วันนั้น รัฐมนตรีเดินทางมา 4 โมงเย็น กลับ 1 ทุ่ม มีรุ่นพี่กลุ่มผู้ถูกเจียระไนมา 8 คนร่วมพูดคุย พอได้ฟังพวกเขาก็สบายใจขึ้น”

ทิชา ณ นคร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active