เตือนชาวสวนทุเรียน ระวัง โรค ‘รากเน่า-โคนเน่า’ ระบาดหนักในฤดูฝน

โรคสำคัญอันดับหนึ่งของทุเรียนช่วงนี้คือเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำลายได้ทุกส่วน ทั้งราก ลำต้น กิ่ง ใบ และผล อาการรุนแรงสุดทุเรียนจะยืนต้นตาย นักวิชาการการเกษตรเตือนเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อย่าให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้วสัมผัสดิน

ศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนอากาศร้อนชื้นและสภาวะแวดล้อมเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดโรครากเน่า โคนเน่า และผลเน่า สาเหตุจากเชื้อรา Phytophthora palmivora ซึ่งเป็นโรคสำคัญที่สุดของทุเรียนเนื่องจากทำให้ต้นทุเรียนที่กำลังเจริญเติบโตและให้ผลผลิตแล้วยืนต้นตายได้ จึงเตือนให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเฝ้าระวังการเกิดโรคนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงพัฒนาผลและเก็บผลผลิต

อาการที่ราก จะเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลืองและหลุดร่วง เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย

อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น ทุเรียนแสดงอาการใบเหลืองเป็นบางกิ่ง สังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกของกิ่ง หรือต้น ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบร่วงจนหมดต้น และยืนต้นแห้งตาย

อาการที่ใบ ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว เหลือง บริเวณแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีดำ เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ เกิดอาการไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็วแล้วค่อย ๆ ร่วงไป พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน

อาการที่ผล เกิดจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลดำบนผล จุดแผลจะขยายใหญ่ลุกลามมากขึ้นตามการสุกของผล ในสภาพที่มีความชื้นสูงอาจพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคบนแผล โดยพบอาการโรคได้ตั้งแต่ผลที่ยังอยู่บนต้น ซึ่งถ้าอาการรุนแรงมากผลจะเน่าร่วงหล่นก่อนกำหนด โรคผลเน่าพบได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อนแต่ส่วนใหญ่มักพบในผลช่วง 1 เดือนก่อนเก็บเกี่ยวจนกระทั่งเก็บเกี่ยว และระหว่างการบ่มผลให้สุก

สำหรับการป้องกันกำจัดโรครากเน่า โคนเน่า และผลเน่า ในแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี หากมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออกทันที ปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 6.5 กรณีดินที่เป็นกรดจัด ให้ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น หากต้นทุเรียนเป็นโรครุนแรงมาก หรือยืนต้นแห้งตาย ควรขุดออกนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วราดดินในหลุมและบริเวณโดยรอบด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียมร้อยละ 80 WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิลร้อยละ 25 WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ระยะหนึ่ง จึงปลูกทดแทน

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ยังเผยอีกว่า เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของกิ่ง ใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค รวมทั้งเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารเมทาแลกซิลร้อยละ 25 WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียมร้อยละ 80 WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผล อย่างน้อย 15 วัน

เมื่อพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ใช้สาร ฟอสโฟนิก แอซิดร้อยละ 40 SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาฉีดเข้าลำต้น อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น และ/หรือราดดินด้วยสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียมร้อยละ 80 WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิลร้อยละ 25 WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อพบอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสาร ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียมร้อยละ 80 WP อัตรา 70 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียมร้อยละ 80 WG อัตรา 90 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิลร้อยละ 25 WP อัตรา 40-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลทร้อยละ 60 + ร้อยละ 6 WG อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ โพรพาโมคาร์บไฮโดรคลอไรด์ + เมทาแลกซิล ร้อยละ10 + ร้อยละ15 WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หรือ ใช้ฟอสโฟนิก แอซิดร้อยละ 40 SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ใช้อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค

เชื้อราสาเหตุของโรคเป็นเชื้อที่อยู่ในดินดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องไม่วางผลผลิตสัมผัสกับดิน โดยปูพื้นดินที่จะวางผลด้วยวัสดุหรือกระสอบที่สะอาดหรือวางบนรถเข็น เพื่อลดโอกาสที่ผลจะสัมผัสกับดินซึ่งมีเชื้อสาเหตุโรค การขนย้ายควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่ผล และหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ตัดแต่งกิ่งเป็นโรค กิ่งแห้ง และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่ นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค โดยต้องไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์