พบ “คลอร์ไพริฟอส” สารเคมีเกษตรที่ถูกแบน ในส้ม! สารพิษตกค้างอีกเพียบ

‘ไทยแพน’ เปิดผลสุ่มตรวจสารเคมีเกษตรตกค้างในส้ม พบ เกินมาตรฐานตามประกาศสาธารณสุข 57 จากทั้งหมด 60 ตัวอย่าง อึ้ง! ยังพบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอส มากถึง 50% จากตัวอย่างทั้งหมด ทั้งที่ถูกยกเลิกใช้ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2563

วันนี้ (10 มี.ค. 2565) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลการสุ่มตรวจสารเคมีเกษตรตกค้างในส้ม และ น้ำส้ม ซึ่งเก็บตัวอย่างตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา แบ่งเป็นผลส้ม 60 ตัวอย่าง และ น้ำส้ม บรรจุกล่อง ที่ได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพจากหน่วยงานรัฐ 10 ตัวอย่าง รวม 70 ตัวอย่าง ส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานในประเทศอิตาลี

ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN ระบุว่า ชนิดของส้มทั้ง 60 ตัวอย่างที่ส่งตรวจ มีทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ เช่น ส้มสายน้ำผึ้ง, ส้มเขียวหวาน, ส้มโชกุน, ส้มแมนดาริน, ส้มสีทอง, ส้มเช้ง แบ่งเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง จาก จีน, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, ออสเตรเลีย รวมถึงส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง บางแปลงเป็นการปลูกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จาก GAP ด้วย

ผลการตรวจสอบ พบการตกค้างของสารเคมีเกษตรเกินมาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข 57 จาก 60 ตัวอย่าง คิดเป็น 95% ในขณะที่แปลงปลูกที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP ทั้งหมด 12 ตัวอย่าง พบการตกค้างทั้งหมด ส่วนส้มที่นำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารเคมีตกค้าง 16 ตัวอย่าง

สำหรับสารเคมีตกค้างที่พบส่วนใหญ่ ประกอบด้วยสารกำจัดแมลง สารเคมีกำจัดโรคพืช และสารกำจัดไร แต่ที่น่ากังวล คือ พบตัวอย่างส้มที่ตรวจสอบถึง 50% ยังพบการตกค้างของสาคลอร์ไพริฟอส ทั้งที่ถูกยกเลิกการใช้ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2563

ทัศนีย์ แน่นอุดร รอง ผอ.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ บก.นิตยสารฉลาดซื้อ บอกว่า สำหรับผลการตรวจสอบน้ำส้มบรรจุกล่อง ที่วางขายตามห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อทั่วไป จำนวน 10 ตัวอย่าง พบสารเคมีตกค้างในน้ำส้ม 5 ตัวอย่าง ไม่พบอีก 5 ตัวอย่าง ตั้งข้อสังเกตได้ว่า อาจไม่ใช่ทุกล็อตการผลิตที่จะปนเปื้อน ขึ้นอยู่กับระบบการตรวจสอบของโรงงานผลิต และการบรรจุด้วยว่าได้ป้องกันการตกค้างของสารเคมีมากน้อยแค่ไหน

“ข้อสรุปจากการตรวจสอบส้มวันนี้ เครือข่ายไทยแพน ยอมรับว่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุด คือการพบสารคลอร์ไพรีฟอส ซึ่งถูกแบนไปแล้ว อาจเป็นไปได้ ที่เกษตรกรยังมีค้างสต๊อก จึงยังถูกนำมาใช้ แต่อีกส่วนที่น่ากังวล ก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกันว่า อาจเป็นการลักลอบนำเข้าหรือไม่ ไทยแพนจึงเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบโดยตรง ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด และตรวจสอบ เพื่อเอาผิดตามกฎหมายให้ถึงที่สุด นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ปฏิรูปการรับรอง GAP เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง ปราศจากสารพิษตกค้างอย่างแท้จริง พร้อมทั้งขอให้รัฐสนับสนุนระบบเกษตรอินทรีย์ ให้เป็นทางเลือกการผลิตของเกษตรกรและผู้บริโภคด้วย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น