จับตา 28 ก.ย. นี้ จ่อคว่ำหรือแบนต่อพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส

“อ.ยักษ์” ชี้ พลิกมติเท่ากับถอยหลัง เตือนตัดสินใจบนผลประโยชน์ของชาติและประชาชน

จากกรณีที่ ‘คณะกรรมการวัตถุอันตราย’ มีการบรรจุวาระทบทวนเรื่องการดำเนินการข้อเสนอ และความเห็น เกี่ยวกับประกาศแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส (ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2563) ในวันที่ 28 ก.ย. นี้

The Active สอบถามเรื่องนี้กับ “อาจารย์ยักษ์” หรือ “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า หากคณะกรรมวัตถุอันตราย ยังมีมติให้ทบทวนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เท่ากับเป็นการถอยหลัง ทั้งที่เดินไปข้างหน้าแล้ว พร้อมฝากทุกภาคส่วนทำงานบนความสามัคคี ต้องนำข้อมูล ข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย มายืนยันกับภาครัฐให้ได้

โดยมองว่าสิ่งที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายควรทำ คือ ตั้งทีม และลงไปดูของจริง ที่ไหนทำเกษตรอินทรีย์ได้ผล ทำได้จริงไหม เพราะอะไร มีเทคโนโลยีอะไร ไม่ควรรอเฉพาะเอกสาร การสำรวจข้อเท็จจริงในสนาม น่าเชื่อถือว่ารายงานในกระดาษ

“โดยหลักการแล้ว ในฐานะที่ผมเคยอยู่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมเชื่อมั่นว่า โดยส่วนใหญ่ข้าราชการ ผู้บริหารในกระทรวงฯ ก็อยากจะได้อาหารปลอดภัย ไม่ต้องการสารพิษ เพียงแต่ว่างานวิจัยไม่ได้อยู่ที่กระทรวงฯ จึงต้องมีคนไปเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน และเอกชน มาสนับสนุน…”

นายวิวัฒน์ ยังเล่าอีกว่าที่ผ่านมามีความร่วมมือจากภาครัฐและภาคประชาชนหลายจังหวัด ทำโคกหนองนาโมเดล ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งทำได้ผลจริง และมีตัวอย่างทั้งในและต่างประเทศ ถ้าจะศึกษาจริงจังก็ทำได้ แต่ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ยังไม่ตั้งใจทำเรื่องนี้ พร้อมระบุเห็นใจทุกฝ่าย และฝากเตือน ข้าราชการอย่าปิดหูปิดตา ฟังแต่พวกพ้อง ให้ตัดสินใจบนผลประโยชน์ของประเทศชาติ ยามนี้โลกวิกฤตประชาชนต้องการอาหารปลอดภัย

หากย้อนไปก่อนที่ประเทศไทยจะมีมติแบนสารเคมีทางเกษตรกรทั้ง 2 ชนิด กระทรวงสาธารณสุข เป็นกระทรวงฯ แรก ๆ ที่มีข้อมูลชัดเจนถึงผลกระทบของเกษตรกร และชาวบ้านที่เป็นโรคจากอาชีพที่อนุญาตให้ใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง จนนำมาสู่การแบนสารเคมีทางการเกษตรฯ เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า กระทบกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่า “สุขภาพต้องมาก่อน” เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดชัดเจน มีนโยบายชัดเจนให้ประเทศเดินหน้าทำเกษตรกรรมในหลายรูปแบบ ทั้งเกษตรกรรมธรรมชาติ, เกษตรอินทรีย์, เกษตรทฤษฎีใหม่, เกษตรผสมผสาน, เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา มีหลายจังหวัดทำได้เกินเป้าหมาย ไม่พึ่งพาสารพิษ จนพิสูจน์ได้ว่าเราควรยืนยันที่จะไม่ให้มีสารเคมีทุกชนิด ไม่ใช่แค่เฉพาะ สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิดในระดับชาติเท่านั้น แต่เป็นช่วงเวลาที่ รัฐบาลต้องลุกขึ้นมาประกาศยืนยันอีกครั้งว่า สุขภาพประชาชนต้องมาก่อน เพราะเงินหาซื้อไม่ได้ เรื่องนี้ชัดเจนมากที่สุด

โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 พิสูจน์ชัดว่า ผู้บริโภคต้องการอาหารปลอดภัย แม้ผู้ค้าสารเคมีจะขายได้และอาจจะรวย แต่เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดกับประชาชน และกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องแบกรับภาระเมื่อมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น ย่อมไม่คุ้มกัน แต่ละฝ่ายจึงต้องนำข้อมูลมายืนให้ได้ และย้ำในช่วงท้ายว่า ประเทศไทยไม่ควรมีสารเคมีทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงอีกแล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน