ปักธง! ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ หาหนทางปลดล็อกการเมืองไทย

‘สมชัย’ เสนอแก้ รธน. ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ‘เพื่อไทย – ประชาธิปัตย์’ เห็นพ้อง เดินหน้าก่อนเลือกตั้งใหม่ ชวนสังคมร่วมกดดัน ประเมินเหตุยุบสภา ก่อนใช้ระบบบัตร 2 ใบ ใครได้ ใครเสีย ?

ตลอดเส้นทางของความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สิ่งที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอด คือ การตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และไม่สะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขในเรื่องนี้ไม่เคยสำเร็จผล เนื่องจากต้องใช้เสียงของ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน จาก 250 คน แม้เป็นจำนวนที่ ‘ไม่มาก’ แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสะท้อนแล้วว่าเป็นเรื่อง ‘ยาก’ หากจะทำให้สำเร็จผล การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 นำโดยคณะผู้เชิญชวนครั้งนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องร่วมตัดสินใจ

แก้เรื่องเดียว ตัดอำนาจ ส.ว. ไม่มีเรื่องอื่นปะปน

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีต กกต. ในฐานะเป็นคณะผู้เชิญชวนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ครั้งนี้ กล่าวว่า กติกาดังกล่าวอยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมาพรรครัฐบาล และ ส.ว. มักอ้างความชอบธรรมจากการทำประชามติที่ประชาชนยอมรับ ให้ ส.ว. มามีส่วนร่วมเลือกนายกฯ ได้ แต่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่า ส.ว. มาจากการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และท้ายที่สุดการโหวตเลือกนายกฯ เสียงไม่แตกแถว เลือกหัวหน้า คสช. มาเป็นนายกฯ จึงรู้สึกว่าเป็นกติกาดังกล่าวไม่เป็นธรรม

“เราเลือกตั้งแทบเป็นแทบตาย ชนะเลือกตั้งมาแล้ว ยังต้องมาเอาชนะเสียง ส.ว. แต่งตั้ง เพื่อเลือกนายกฯ เป็นกติกาที่สร้างความได้เปรียบ ท้ายที่สุด จะก่อความรู้สึกไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ไม่เกิดการยอมรับ เราจึงควรเอาเรื่องนี้ออกจากรัฐธรรมนูญ”

รศ.สมชัย กล่าวว่า กติการที่สร้างความได้เปรียบให้แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนั้น อาจทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม และท้ายที่สุดจะไม่สามารถสร้างการยอมรับในทางการเมืองได้ หากย้อนดูความพยายามในการแก้ไขเรื่องนี้ 3 ครั้งที่ผ่านมา พบว่าจำนวน ส.ว. เห็นด้วย ลดลงตามลำดับ ตั้งแต่ร่างที่เสนอโดย iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) มี ส.ว. เห็นด้วย 56 คน ครั้งสองร่างของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วย 22 คน และร่างที่เสนอโดยกลุ่ม Re-Solution ก็ได้รับเสียงเห็นด้วยน้อยที่สุด

รศ.สมชัย มองว่าอาจเป็นไปได้ว่าร่างฯ แก้ไขที่ผ่านมานั้น เป็นการเอาหลายอย่างมารวมกันเป็นร่างเดียว หรืออาจจะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งไปผูกโยงกับสถานะทางการเมืองของ ส.ว. จึงทำให้ร่างนั้น ๆ ตกไป ในครั้งนี้ตนจึงมองว่า ต้องหยิบยกเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คือ อำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ปรากฏในมาตรา 272 วรรคแรก โดยที่ไม่ปะปนกับเรื่องอื่น อาจทำให้การเคลื่อนไหวมีความชัดเจนมากขึ้น และทำให้ ส.ว. ต้องตัดสินใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หาเรามีเวลาเพียงพอในการรณรงค์ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญ

นอกจากนั้นการลงคะแนนเสียงสามครั้งที่ผ่านมา สะท้อนว่า การตัดสินใจของ ส.ว. แปรผันโดยตรงต่อความตื่นตัว และการแสดงพลังของประชาชนภายนอกสภา การเข้าชื่อชื่อแสดงความต้องการ เป็นวิธีการแสดงออกโดยสันติ และถูกต้องตามกฎหมาย โดยจำนวนตัวเลขประชาชนที่รัฐธรรมนูญต้องการคือ 50,000 รายชื่อ โดยคณะผู้เชิญชวนกำหนดไว้ที่ 70,000 รายชื่อ แล้วจะทำการยื่นแก้ไขผ่านสภาก่อน แต่จะไม่หยุดให้ประชาชนร่วมลงชื่อ เพื่อเดินหน้ากระบวนการในสภาไปก่อน และใช้เวลาต่อจากนั้นรวบรวมรายชื่อให้มากที่สุด เพื่อแสดงพลังไปสู่สภา

รศ.สมชัย วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้ว่า ส.ว. อาจจะไม่อยากมีอำนาจเลือกนายกฯ แล้ว ในช่วงแรกอาจคำนึงถึงการบุญคุณ มีความเกรงใจที่สูงอยู่ แต่ตอนนี้ผ่านมาเกือบ 5 ปี คิดว่าบุญคุณคงหมดไปแล้ว อาจจะมองประโยชน์ของประเทศมากขึ้น คงไม่อยากเสี่ยงถูกสังคมต่อว่า จึงเชื่อว่าลึก ๆ แล้ว คงไม่อยากมีส่วนในการเลือก แต่การบอกไปว่าไม่เลือกด้วยตนเองอาจจะทำให้ผิดใจกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นช่องทางของ ส.ว. ที่จะใช้อ้างได้ด้วยว่า การไม่ใช้อำนาจตรงนี้ เนื่องจากกฎหมายไม่ให้เลือกแล้ว อาจสร้างความสบายใจให้กับทั้งสองฝ่าย

จะสำเร็จได้ เพราะ ส.ว. เอง และสังคมร่วมกดดัน

สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หน้าตาของรัฐธรรมนูญ เป็นใบเสร็จการต่อสู้ของอำนาจในประเทศไทย ระหว่างอำนาจเผด็จการ และประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเป็นการเขียนขึ้นโดยคณะรัฐประหาร และสะท้อนว่าได้ประโยชน์แก่ฝ่ายนั้นเอง จึงทำให้ฝ่ายประชาธิปไตย ต้องพยายามหาทางแก้ไข และวันนี้ความพยายามต่อสู้ เพื่อช่วงชิงอำนาจกลับคืนมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านมองเห็นหลายประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่จำเป็นที่สุด คือ ให้ประชาชนมาเป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ไม่ว่าหน้าตาจะออกมาอย่างไร ถือว่าเป็นความต้องการของประชาชน ย่อมถือว่าเป็นประชาธิปไตย แต่การแก้ไขเรื่องนี้ก็ไม่สำเร็จ ต่อมาเมื่อเห็นว่าการแก้ทั้งฉบับ ไม่สามารถทำได้ จึงนำมาสู่การแก้เฉพาะรายมาตราที่จำเป็น พรรคเพื่อไทยเสนอ 13 ประเด็น ก็ตกไปทั้งหมด

เขาบอกอีกว่า ถึงแม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญวันนี้ เรื่องที่น่าจะมีความเป็นไปได้ ว่าจะเปลี่ยนแปลง คือ เรื่องระบบเลือกตั้ง 2 ใบ แต่การแก้เรื่องนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ‘เกาไม่ถูกที่คัน’ เพราะถึงแม้ระบบการเลือกตั้งจะเปลี่ยนไป แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า อาจจะไม่มีประโยชน์ ไม่เปลี่ยนแปลงผลใด ๆ ถ้าเราไม่แก้อำนาจ ส.ว. ด้วย เพราะตอนนี้ประชาชนสนใจว่า เขาจะสามารถเลือกนายกฯ ได้หรือไม่ ความเป็นประชาธิปไตย คือเลือกตั้งไปแล้ว ผลสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริง

“การตัดอำนาจเลือกนายกฯ เหมือนการตัดขั้วหัวใจของ ส.ว. เป็นอำนาจที่รัฐบาลหวงแหนมาก เพราะถ้าอยากกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็ต้องหวังพึ่ง ส.ว. จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขได้สำเร็จ จะสำเร็จได้หาก ส.ว. มีดวงตาเห็นธรรม หรือไม่สังคมก็ต้องกดดันจนเค้าจำนนต่อปัญหานี้”

สุทิน กล่าวว่า หากอยากให้การเลือกตั้งครั้งหน้ามีความหมาย และทำให้ประชาชนอยากไปเลือกตั้ง ต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของพวกเขาได้จริง คือ ต้องตัดอำนาจ ส.ว. เขามองว่าการให้คนกลุ่มหนึ่งที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วมีคำตอบในใจว่าจะเอาใครเป็นนายกฯ มาอยู่ในสภา และมีน้ำหนักมากกว่าประชาชน เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการตัดอำนาจนี้เป็นสิ่งแทงใจดำของเหล่าส.ว. จึงมีโอกาสสำเร็จได้ยาก

แต่ยังมีโอกาสเป็นไปได้ คือ หากส.ว. ‘ดวงตาบรรลุธรรม’ หมายถึง เสียสละ และเห็นแก่บ้านเมือง มองว่าการตัดอำนาจของตนเอง จะสามารถคลายล็อกปัญหาของประเทศได้ มองเห็นว่าอำนาจนั้นคือปัญหา อาจเป็นไปได้ที่จะมีส.ว. ยกมือให้ แต่ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ายาก เพราะเขาไม่สนใจ และไม่แยแสขบวนการของภาคประชาชน ที่มายื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย และหากสิ่งแรกไม่สามารถเป็นไปได้ ‘สังคมต้องกดดัน’ คือ ส่งเสียงให้มาก และดังที่สุด ว่าเราไม่ยอม ให้ ส.ว. มามีส่วนในการเลือกนายกฯ เพราะไม่เช่นนั้นเลือกตั้งไป ก็ไม่มีประโยชน์ จึงจะทำให้การแก้ไขในครั้งนี้สำเร็จได้ ทำให้เขาจำนนต่อปัญหานั้น แต่ถ้าไม่สามารถทำให้สองอย่างนี้เกิดขึ้นได้ ก็จบ

ประชาธิปัตย์ ยึดหลักการ ชนะเลือกตั้ง ต้องได้เป็นนายกฯ

ในขณะที่ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าประเด็นดังกล่าวนั้นพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มต้นเรื่องนี้ในการแก้รัฐธรรมนูญมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เราเดินหน้าแก้ไขในประเด็นนี้ เพราะขัดต่อหลักการประชาธิปไตยของสากล ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งไม่ควรมีสิทธิเลือกนายกฯ สัญญาณจาก ส.ว. ชุดนี้ เหมือนกับว่าจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะมองว่าจะกลายเป็น ‘เช็คเปล่า’ เท่าที่มีโอกาสได้พูดคุยกับหลายคน ยืนยันว่าหากเป็นการแก้ไขรายมาตราจะมี ส.ว. เห็นด้วยมากขึ้น

“พรรคประชาธิปัตย์ เราเห็นด้วยกับการยกเลิกอำนาจมาแต่ต้น เพราะขัดหลักการประชาธิปไตย ถ้าหากพรรคการเมืองประกาศชัด ว่าถ้าได้เสียงข้างมากหัวหน้าพรรคต้องได้เป็นนายกฯ การเคลื่อนไหวเรื่องนี้จะมีน้ำหนักมากขึ้น”

ชิณวรณ์ มองว่า อำนาจในบทเฉพาะกาลของ ส.ว. นั้น มีเวลาจำกัด นับจนถึงตอนนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 ปีเท่านั้น ถ้าหากประชาชนเสนอข้อเรียกร้องนี้ขึ้นมา แล้วกลายเป็นกระแส รวมทั้ง ส.ส. ร่วมขับเคลื่อนในเรื่องนี้ด้วย สามารถเป็นส่วนหนึ่งในแรงกดดันที่ส่งถึง ส.ว. เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แม้รัฐธรรมนูญ จะวางเงื่อนไขไว้ว่า ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ก็ตาม แต่ถ้าหากเราช่วยกันชี้แจง ย่อมมีความเป็นไปได้

นอกจากนั้น มองว่า ในเมื่อนายกฯ ประกาศตัวอย่างชัดเจนที่จะเข้ามาเป็น ‘นักการเมือง’ แล้ว ควรเปิดโอกาสให้ทุกพรรคหาเสียง ให้คำมั่นสัญญาว่าถ้าพรรคใดได้เสียงข้างมากในสภา ต้องได้เป็นนายกได้ ชูประเด็นเคลื่อนไหวตัดอำนาจ ส.ว. จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น การเลือกตั้งครั้งหน้าควรจะเป็นกระแส ให้พรคการเมืองแต่ละพรรคกำหนดตัว เลือกนายกฯ โดยประชาธิปัตย์เอง เรามีผู้นำที่มีความพร้อม เพราะเป็นนักการเมืองมายาวนาน พร้อมทางด้านนิติบัญญัติ และงานบริหาร เป็นนักการเมืองที่มือสะอาดคนหนึ่ง ถ้าเราเสนอแนวคิดนี้ จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

สุทินมอง 3 วิบากกรรม ซัดรัฐบาลอยู่ไม่ได้

สุทิน กล่าวว่า การเมืองอย่างในวันนี้ หากเป็นรัฐบาลทั่วไป ที่มีสำนึก ประเมินความต้องการและไม่ต้องการของประชาชนตลอดเวลา และยืนอยู่บนความต้องการนั้น คิดว่าคงไม่อยู่จนถึงตอนนี้ เพียงแต่มองว่ารัฐบาลชุดนี้ ไม่เอาความรู้สึก และความต้องการประชาชนมาเป็นฐานคิด คิดเพียงแต่ว่าจะอยู่ต่อไปให้ยาวนานที่สุด แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกอย่างที่รัฐบาลจะควบคุมได้ ขึ้นอยู่กับการยอมรับจากประชาชน ความขัดแย้งภายในพรรครัฐบาลและพรรคร่วมฯ ตลอดจนสถานการณ์ในอนาคตด้วย

สุทิน ประเมิน 3 เหตุการณ์ที่อาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำหน้าที่อยู่ต่อไปได้ คือ ในช่วงสมัยประชุมหน้า พรรคฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้ง คงไม่มีรัฐบาลใดมีความสุข ที่ต้องอยู่ให้ฝ่ายค้านอภิปราย อาจทนไม่ไหวจนหนีเรื่องนี้ไปได้ เรื่องที่สอง คือ การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ถ้าหากยังมีความแตกแยกภายในรัฐบาลเอง ก่อให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพ สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้กฎหมายสำคัญไม่ผ่าน รัฐบาลก็ต้องยุบสภาไป และสุดท้าย คือ ปีหน้าจะเป็นการครบรอบ 8 ปี ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่านายกฯ จะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้ แม้ตอนนี้หลายฝ่ายจะตีความออกไปต่าง ๆ นา ๆ ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม องค์ประกอบทั้งสองปัจจัยก่อนหน้า จะระอุขึ้น จนรัฐบาลอยู่ไม่ได้ ไม่คิดว่าจะสามารถลากไปได้จนถึงการจัดประชุม APEC และเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจทรุดลงถึงขีดสุด เวลานั้นศรัทธาประชาชนจะมีพลังมหาศาล

ขณะที่ ชิณวรณ์ กล่าวว่า นายกฯ จะยุบสภาหรือไม่ ไม่มีใครรู้ก่อนล่วงหน้า แต่ปัจจัยต่าง ๆ จะส่งผลให้เกิดการยุบสภาด้วยตัวเอง ประการแรก คือรัฐบาลต้องสามารถคุมเสียงในสภาได้ เพราะ หากไม่สามารถผ่านกฎหมายสำคัญต่าง ๆ ได้ โดยหลักปฏิบัติทางการเมือง นายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองโดยการลาออก และสิ่งที่สำคัญ คือ พรรคการเมืองต่าง ๆ ในสภาที่พร้อมให้มีการเลือกตั้ง ตอนนี้ทุกพรรคมีนโยบายเสนอเข้ามาชัดเจน เมื่อพรรคการเมืองต้องพร้อมเลือกตั้ง ย่อมเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลด้วย จากช่วงระยะเวลาก่อนที่กฎหมายลูก คือ พรป.เลือกตั้ง ส.ส. และ พรป.พรรคการเมืองจะประกาศใช้ ในช่วงไม่เกิน 180 วันนี้ เมื่อกฎกติกาต่างๆ เรียบร้อยย่อมเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการยุบสภา แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่

สมชัย เตือน อย่ายุบสภา ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ

สมชัย กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ควรจะเป็นคือมีการจัดทำกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จ ภายใน 180 วัน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. คิดว่าน่าจะเสร็จในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน ถ้ากติกาลงตัว พร้อมจัดการเลือกตั้งแล้ว ถือเป็นความสง่าสงามของนายกฯ ที่จะให้ประชาชน มีโอกาสคิด ตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อเลือกคนมาทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป คิดว่าจะเป็นสิงหาคมปีหน้า ก็จะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้

แต่สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น คือ การยุบสภาตัดหน้าก่อน แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากว่ารัฐบาลประเมินดูแล้ว ประชาชนเห็นด้วยกับเรื่องนี้มาก ๆ จนทำให้กลัวการเลือกตั้งรอบใหม่ แล้วยุบสภาตัดหน้าก่อน เป็นเรื่องที่ ‘หน้าเกลียด’ เสมือน ‘แพ้แล้วล้มโต๊ะ’ ไม่มีใครเขาทำกัน ควรปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการขั้นตอนของมัน และให้เป็นเรื่องของเสียงประชาชนว่าจะตัดสินใจไร อย่ามองการเมือง เป็นเกมเอาชนะห้ำหั่นกัน เพราะถ้าหากวันหนึ่งคุณเสียเปรียบ คุณจะรู้ว่ามันไม่เป็นธรรม ควรสร้างกติกาที่เป็นธรรมเสียก่อน

เช่นเดียวกับ ชิณวรณ์ ที่มองว่าควรให้กระบวนการเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย ที่ผ่านมาใครที่เล่นการเมืองมากเกินไป แล้วชิงการได้เปรียบ ประชาชนจะเป็นผู้ติดตามและลงโทษ พบมาหลายครั้งในอดีตที่รัฐบาลที่ใช้อำนาจรัฐ ชิงการได้เปรียบในทางการเมืองแล้ว ในที่สุดก็ไปไม่รอด ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ ควรทำการเมืองอย่างสุจริต โปร่งใส โดยให้องค์กรอิสระเข้ามาดำเนินการอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของปประชาชน หากมีจุดเริ่มต้นที่ผิด คงไม่สามารถอยู่รอดได้ในยุคข้อมูลข่าวสารอย่างในปัจจุบัน

เลือกตั้ง 2 ใบ พรรคใหญ่ได้เปรียบ อะไรคือโอกาสพรรคเล็ก ?

สมชัย กล่าวว่า สำหรับระบบการเลือกตั้ง ภายใต้กติกาแบบบัตร 2 ใบนั้น อาจไม่ได้สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับพรรคใหญ่ หรือพรรคเล็กโดยตรง เพราะประชาชนจะสามารถเลือกได้ทั้งสองอย่าง คือ พรรคการเมืองที่ไม่สามารถส่ง ส.ส.เขตได้ครบทุกเขต แต่ชื่อพรรคการเมืองก็จะปรากฏให้ประชาชนเลือกทั้ง 400 เขตได้ ต่างจากบัตรใบเดียว จึงไม่ได้ทำให้พรรคขนาดเล็กเสียประโยชน์เสียทีเดียว เพราะหากพรรคการเมืองมีนโยบายที่ดี ก็สามารถทำให้ประชาชน ลงคะแนนเลือกในบัตรบัญชีรายชื่อได้

ปัญหาอยู่ที่การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่พรรครัฐบาล และพรรคเพื่อไทย น่าจะเสนอในแนวทางเดียวกัน เป็นการคำนวณในระบบคู่ขนาน คิดบัญญัติไตรยางค์ 100 คน แต่ยังไม่แน่ใจว่าในส่วนของพรรคก้าวไกล จะเสนอแตกต่างไปหรือไม่ อาจใช้ระบบการคำนวณแบบจัดสรรปันส่วน เรื่องปัญหาการคำนวณคะแนน เป็นสิ่งที่แก้รัฐธรรมนูญแบบไม่สะเด็ดน้ำ หากตอนนั้นรัฐสภาลงมติรับร่างฯ ของเพื่อไทย พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ไปทั้งสามร่างฯ ก็จะแก้ทุกมาตราอย่างครบถ้วน ถือเป็นร่องรอยของระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญ

สมชัย กล่าวต่อว่า การคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กติกาตอนนี้ที่ออกมา ต้องยอมรับว่า พรรคใหญ่จะได้เปรียบ เพราะในระบบเดิมหากได้จำนวน ส.ส.เขตฯ มากกว่าจำนวน ส.ส. พึงมี ก็จะไม่ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม หรือได้น้อยลงมา ในระบบนี้แยกคำนวณ ส.ส.เขตฯ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ออกจากการกัน แล้วคิดจากคะแนนที่พรรคนั้น ๆ ได้รับเลือกจากประชาชน มาคำนวณเป็นสัดส่วนทั้งสภาแทน

“ยกตัวอย่าง เหมือนมีเค้กก้อนหนึ่งที่เล็กลงเหลือ 100 แต่เดิมบอกว่าคนอ้วนไม่ต้องกิน คือ ได้ ส.ส.เขตเยอะแล้ว ไม่ต้องมากิน แต่ครั้งนี้คนอ้วนยังได้มากินด้วย และผมเชื่อว่าเขากินได้อีกครึ่งก้อน ส่วนที่เหลืออีกครึ่งก้อนให้คนกลาง คนผอมมาแบ่งกันกิน”

สมชัย ศรีสุทธยากร

ด้าน สุทิน กล่าวว่า ทุกคนคิดว่าเพื่อไทยจะชนะแบบแลนด์สไลด์ แต่เราไม่คิดว่าเราะได้เปรียบจากระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะสถานการณ์ในอดีต กับปัจจุบัน บริบทเปลี่ยนแปลงไป ชัยชนะในวันก่อน ไม่การันตีว่าจะชนะในวันนี้ แต่การทำงานของรัฐบาลในวันนี้ ทำให้ประชาชนมองหาทางเลือกใหม่ จากความเดือดร้อน ความทุกข์ยากที่ได้รับจากรัฐบาลนี้ แล้วเราเชื่อว่าประชาชนจะมามองเรา จากผลงานในอดีตที่เราเคยทำมา คิดว่าเค้าจะหนีให้รอดจากสภาพปัจจุบัน แสวงหาทางใหม่ อย่างที่เราเคยทำสำเร็จมาแล้ว

อีกทั้งการที่มองว่าพรรคใหญ่ได้เปรียบนั้น ตนคิดว่าหากสะท้อนความต้องการของประชาชนได้จริง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่ผ่านมาคนกาบัตรใบเดียว ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาต้องการหรือไม่ หากระบบเอื้อให้ความต้องการเป็นจริงได้ การที่ได้ ส.ส. ในสภาจำนวนมาก ก็เพราะว่าประชาชนอยากให้เราเข้าไปทำหน้าที่ในสภานั้นเอง

ในขณะที่ ชิณวรณ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่คิดว่าผลประโยชน์ของพรรค จะได้จากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่แก้ไขเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ให้เสรีภาพของประชาชนมีสิทธิเลือกได้ทั้งคนและพรรค และเชื่อว่าระบบบัตร 2ใบ ทำให้อิทธิพลในการซื้อเสียงลดลง ตัดปัญหาการคำนวณ ส.ส. ปัดเศษที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น การคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องเป็นไปตามความสำคัญของจำนวน

ระบบนี้จะทำให้แต่ละพรรคต่อสู้กันในเชิงนโยบายมากขึ้น กว่าการนำเสนอตัวบุคคล และเปิดโอกาสให้พรรคเล็กได้มีพื้นที่ทางการเมือง ด้วยการไม่กำหนดขั้นต่ำของการส่งเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ตัดข้อจำกัดเรื่องคะแนนขั้นต่ำ คือ ไม่ต้องส่งครบ 100 เขต ก็สามารถมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ในวันนี้เมื่อกระแสการเลือกตั้งเกิดขึ้น คนกำลังมองหาพรรคที่เป็นมืออาชีพ และสร้างระบบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริง และพรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาปากท้อง ว่านโยบายเราทันสมัย สอดคล้องกับปัญหาในปัจจุบัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้