Open Data : ปรับอันดับความโปร่งใส-ลดคอร์รัปชันไทย

Good Society Summit 2021 มหกรรมการรวมพลังของหลากหลายองค์กรขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม มีเวทีหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับประเด็น Open Data คือ “เวทีความร่วมมือแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน : การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และ Open Data”

ณิติญาภรณ์ อิ่มใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐระหว่างประเทศ กรมบัญชีกลาง ระบุว่า ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของไทย หรือ CPI อยู่ในอันดับไม่ดีมาตลอด ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 104 ประกอบกับงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างที่สูงถึง 2 ล้านล้านบาทต่อปี จึงจำเป็นที่ไทยจะต้องเพิ่มกลไกตรวจสอบเพิ่มความโปร่งใส ในส่วนของ กรมบัญชีกลาง เวลานี้มี 3 เครื่องมือ

1-ข้อตกลงคุณธรรม หรือ IP : หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการต้องตกลงกันว่า จะไม่ทุจริต และมีผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นคีย์แมนสำคัญในการตรวจสอบ

2-โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ CoST : โดยมีหลักการสำคัญ คือการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ผู้รับเหมา เจ้าของโครงการ และกรมบัญชีกลางก็จะเข้าไปตรวจสอบ ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน ปัจจุบันเปิดเผยอยู่ที่เว็บไซต์ CoST ของกรมบัญชีกลาง โดยตั้ง KPI ให้เข้าร่วม CoST ทั่วประเทศภายในปี 2566 ปัจจุบันนำร่องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด การเปิดเผยข้อมูลของจังหวัดฉะเชิงเทราขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 ของประเทศ รองจาก สุโขทัย และลำพูน โดยคาดว่าจะขยายผลไปในอีกหลายจังหวัดที่ยังมีผลคะแนนด้านการเปิดเผยข้อมูลไม่ค่อยดีนัก

3-มาตรฐานขั้นต่ำในการป้องกันการทุจริต สำหรับโครงการ 500 ล้านบาทขึ้นไป จะมีการประเมินการป้องกันทุจริต โดยในอนาคตจะมีเชคลิสต์เพิ่ม เพื่อให้ผู้ประกอบการผ่านการอบรมการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง

ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของหลายภาคส่วน เพื่อลดปัญหาการทุจริตสร้างภาพลักษณ์ให้อันดับความโปร่งใสของไทยเกิดขึ้น

ณัฐภัทร เนียวกุล ผู้จัดการโครงการข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส HAND Social Enterprise เริ่มจากการตั้งคำถามว่า “เราจะเปิดเผยข้อมูลภาครัฐอย่างไร ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ เกิดความโปร่งใส โดยไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคลล” ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ประกอบด้วย

  • กฎหมาย ไม่มีความชัดเจนในแง่การปฏิบัติและการตีความ กฎหมายการเปิดเผยข้อมูลก็ไม่สามารถบังคับใช้กับหน่วยงานที่มีกฎหมายเป็นของตัวเองได้ รวมถึงเนื้อหาไม่ได้ระบุอย่างชัดเจน
  • ระดับนโยบาย ขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่เข้าใจมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูล และไม่เข้าใจความสำคัญของการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้
  • มาตรฐานข้อมูล และวิธีการ แม้ DGA จะกำหนดมาตรฐานไว้ชัด แต่ระดับปฏิบัติไม่สามารถทำได้อย่างชัดเจน ทำให้การเปิดเผยข้อมูลที่กระจัดกระจาย และดำเนินการแตกต่างกัน

จึงมีข้อเสนอว่า การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐควรเกี่ยวข้องกับงบประมาณ การส่งเสริมความโปร่งใส่ เพราะข้อมูลเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสาธารณะด้วย โดยชุดข้อมูลที่ควรเปิดเผย ได้แก่ ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณ ,ข้อมูล Beneficial Ownership เกี่ยวกับผู้ถือหุ้น, ข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม, ข้อมูลการดำเนินงานของภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ฯลฯ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรชี้แจงเหตุผล ประเมินผลกระทบ และประเมินความเสี่ยงต่อการละเมิดบุคคล ในกรณีที่ไม่ต้องการ “เปิดเผยข้อมูล” พร้อมเสนอให้บังคับใช้ “Data Governance” อย่างเป็นระบบ

  • จัดเก็บเอกสารในรูปแบบ Machine-readable ช่วยให้นักวิเคราะห์ข้อมูล และนักพัฒนาสามารถนำไปใช้ต่อได้ง่าย
  • มีคำอธิบายข้อมูลที่ชัดเจน (Metadata)
  • มีรายละเอียดในการอัปเดตข้อมูลที่เปิดเผย
  • มี Version Control หรือ ระบบที่สามารถจัดเก็บ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับไฟล์หนึ่ง หรือหลายไฟล์ได้

ผศ.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้ง และที่ปรึกษา Hand Social Enterprise ตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการสนับสนุนธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันมีโครงการที่สนับสนุน
ความโปร่งใส ด้วยการใช้ข้อมูลในสามระยะการทำโครงการของภาครัฐหลักๆ 3 ส่วน คือ

  • โครงการ ACT Ai : รวบรวมการจัดซื้อ-จัดจ้างของภาครัฐ เป็นโครงการที่ทำให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่า มีโครงการไหนเกิดขึ้น-ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่-ใครเป็นผู้ประมูลโครงการ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดพฤติกรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน
  • โครงการ IP และ CoST : การตวจสอบระหว่างกระบวนการการจัดซื้อจะสามารถตรวจสอบว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นในขั้นตอนการดำเนินการ หรือแม้แต่ใช้งบประมาณเหมาะสมหรือไม่ โดยจะมี ผู้เชี่ยวชาญฯ คนกลาง เช่น กรมบัญชีกลาง ฯลฯ ตรวจสอบช่วยเหลือในการแก้ไขข้อมูลต่างๆ ก่อนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อประหยัดงบประมาณของชาติได้มากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้ว สามารถประหยัดงบประมาณมากกว่าร้อยละ 30 ต่อโครงการ
  • โครงการ PB : ซึ่งเป็นตัวที่กำหนดงบประมาณแบบประชาชนมีส่วนร่วม
    เพื่อกำหนดทิศทางในการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

อาจารย์ทิ้งท้ายว่า แม้ไทยจะมีโครงการทั้ง 3 ระยะแล้ว แต่ยังเป็นความท้าทายในการขยายผลให้ครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ การทำโครงการของภาครัฐ ให้เกิดความโปร่งทั้งในมิติการมีส่วนร่วม และกลไกความรับผิดชอบได้ทั้งหมด นั่นคือโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยว่าจะยกระดับความโปร่งใส และมาตรฐานผ่านการจัดทำ Open Data ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน