“ชุมชนวัดทรายมูล”เชียงใหม่ คุมโควิด-19 ไม่รอเทศบาลช่วย

หลังระบาดแล้ว 18 หลังคาเรือน จาก 94 หลัง ชี้ “เทศบาลนครเชียงใหม่” ทำงานช้า ดัดแปลงเครื่องพ่นยาฆ่าหญ้า เป็นเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อ ระดมทุนซื้อถุงยังชีพแจกผู้เสี่ยงสูงกักตัว ลุยเคาะประตูบ้านกล่อมคนไปฉีดวัคซีน 

วันที่ 23 พ.ย. 2564 แม้แนวโน้มการติดเชื้อโควิด- 19 ใหม่ในไทยจะน้อยลง วันนี้อยู่ที่ 5,126 คน แต่เรายังคงต้องเฝ้าระวัง หลังพบคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ในหลายจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชุมชน ครอบครัว และกิจกรรมเสี่ยง อย่าง งานสังสรรค์งานบุญ และสถานที่เสี่ยง

ด้านกระทรวงสาธารณสุข ก็เตรียมสำรวจเหตุผลที่ประชาชนกว่า 10 ล้านคนยังไม่ตัดสินใจเข้ารับวัคซีน เพื่อปรับมาตรการจูงใจฉีดวัคซีนให้ได้ครบเป้าหมาย 100 ล้านโดส จากวัคซีนที่ฉีดแล้วเวลานี้ 89.2 ล้านโดส โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือผู้สูงอายุ โรคเสี่ยง และหญิงตั้งครรภ์ โดยจะให้ อสม.เป็นกำลังหลักช่วยค้นหาเชิงรุกตามหมู่บ้านและชุมชน และอาจพิจารณาใช้มาตรการจำกัดการเข้าสถานที่ต่าง ๆ เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนเท่านั้น  

เชียงใหม่ แนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง 

ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวานนี้ (22 พ.ย. 2564) มีผู้ติดเชื้อ 192 คน วันนี้ 245 คนทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่า กำลังเข้าสู่ช่วงขาลงหรือไม่​ ขณะที่ความสำเร็จในการควบคุมโรคของจังหวัดเชียงใหม่เวลานี้ มาจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน รวมถึงการลุกขึ้นมา ควบคุมโรคของชุมชนกันเอง​ นับเป็นพลังสำคัญในการมีส่วนช่วยทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง​

อสม.ตรวจเยี่ยมประชาชน ที่อยู่ระหว่างกักตัว 14 วัน
อุมาพร​ ทองเพ็ญ  ประธาน​ อสม.​ ชุมชนวัดทรายมูล

อุมาพร​ ทองเพ็ญ  ประธาน​ อสม.​ ชุมชนวัดทรายมูล​ พา The Active สำรวจภายในชุมชน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 92 หลังคาเรือน​ ติดเชื้อไปแล้ว 18 หลังคาเรือนโดยพยายามควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปมากกว่านี้ด้วยการจัดการตนเองทั้งการระดมทุนซื้อ​ เครื่องพ่นยาฆ่าหญ้าที่ดัดแปลงเป็นเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อ และจัดหาเสบียงเพื่อผู้เสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน​ ขณะเดียวกันก็มองว่ากลไกการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต้องดูแลพื้นที่ขนาดใหญ่​ ทำให้เกิดความล่าช้า​ และไม่ทันสถานการณ์ในขณะที่ โควิด-19 ไม่สามารถรอได้

เธอบอกว่า ความตื่นตัวของคนในชุมชนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญช่วยควบคุม โควิด-19 ที่มากไปกว่ามาตรการควบคุมโรคจากภาครัฐ และความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้นั้น​ ต้องอาศัยการสื่อสารทำความเข้าใจ และให้ความรู้การป้องกันโรคอย่างที่ชุมชนวัดทรายมูลเมืองเป็นชุมชนที่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้จากความร่วมมือของคนในชุมชน

ชาวบ้านถวายภัตตาหารแก่พระที่กักตัวอยู่ในวัดเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง

โดยหลังจากตรวจเชิงรุกแล้วพบว่าพระและสามเณรในวัดทรายมูลเมือง​ ติดเชื้อเกือบทั้งวัด พระและสามเณรที่พบผลบวก ถูกนิมนต์ไปรักษาตัวที่ community isolation ของทางเทศบาล​ เหลือเพียงเจ้าอาวาสวัดรูปเดียวที่ผลเป็นลบ ​วันนี้ มีญาติโยมนำภัตตาหารมาถวายโดยแขวนไว้ที่หน้าประตูวัด เพื่อไม่ให้สัมผัสกับพระที่ต้องกักตัว

ในขณะที่ในชุมชนวัดทรายมูล​ ก็พบ 1 ครอบครัวล่าสุดที่ติดเชื้อ​ ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ 10 คน แต่ติดเชื้อ 5 คนที่เหลืออีก 5 คนให้ความร่วมมือกับชุมชนในการที่จะกักตัวไม่ออกไปไหน​ เพราะไม่อยากให้เพื่อนบ้าน ต้องติดเชื้อตามไป​ด้วย​

พลัง​ อสม.​ นำชุมชนฝ่าวิกฤต​โควิด-19 

ยังมีอีกหลายชุมชนที่มี​ อสม.​ เป็นแกนประสาน​ ทำความเข้าใจให้ความรู้ประชาชนและประสานกับหน่วยงานรัฐในการเข้าให้ความช่วยเหลือ คงต้องยอมรับว่าพวกเขาเหล่านี้คือ​ ผู้รวบรวมพลังของชุมชนในการป้องกันโรค และทำให้แนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง

เจ้าหน้าที่พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ หลังพบผู้ติดเชื้อ ท่ามกลางชุมชนที่ใช้ชีวิตตามปกติ

เจ้าหน้าที่ ที่เข้ามาพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ กลายเป็นภาพชินตาของชาวชุมชนเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว พวกเขาไม่รู้สึกตื่นกลัว​หรือตกใจ หลังพบผู้ป่วยโควิด-19​ ในบ้านใกล้เรือนเคียง​ 

วิกฤตโรคระบาด ที่ต้องเผชิญมาถึง 2 ปี สร้างผลกระทบต่อชีวิต​ นอกจากการพึ่งพาอาศัยกันในภาวะคับขัน ระยะยาวชุมชนยังต้องเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกับโรคระบาดอย่างสมดุล​ เดินหน้าหาเลี้ยงปากท้อง​ โดยมีวัคซีน เป็นเกราะคุ้มกัน​ คู่ไปกับมาตรการส่วนบุคคล 

แม้การระบาดรอบล่าสุดของเชียงใหม่จะถูกมองว่า มาจากการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า​ จากหลายปัจจัยทั้งจำนวนวัคซีนและคนที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ แต่ปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ ครอบคลุมเกือบ 80% แล้ว โดยมีกลไกสำคัญคือ อาสาสมัครประจำหมู่บ้านหรือ​ อสม.​ ที่เป็นตัวกลาง ในการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างประชาชนกับรัฐ 

รัตนา​ บุญ​ย​รัตน์ ประธาน​ อสม.​ ชุมชน​ฟ้าใหม่  

รัตนา​ บุญ​ย​รัตน์​ ประธาน​ อสม.​ ชุมชน​ฟ้าใหม่  ซึ่งเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ เดินเคาะประตูบ้านเพื่อสอบถามว่ามีใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน​ และมีใครที่กลัวการฉีดวัคซีน​ นี่เป็น 1 ในอีกภารกิจที่ต้องเร่งทำเพื่อควบคุมโรคให้จบเร็วที่สุด​ 

ในชุมชน​ จะมีกลุ่มเสี่ยง ที่แบ่งระดับกันออกไป ทั้งกลุ่มที่ติดเชื้อเพิ่งกลับมาจากโรงพยาบาลสนามและยังต้องกักตัวให้ครบ 4 วัน​ กลุ่มผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวเองที่บ้าน และกลุ่มสมาชิกในครอบครัวของผู้ติดเชื้อ ที่ต้องลงพื้นที่สแกนทุกหลัง​ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก 

การทำงานอาสาสมัครที่แทบไม่คิดเรื่องค่าตอบแทน ของ​ อสม.หลายคนเป็นส่วนหนึ่งของพลังทางสังคมที่ช่วยควบคุมโรค covid 19 ในหลายชุมชน และเป็นบทเรียนที่ทำให้รู้ว่า การสื่อสารเพื่อสร้างความร่วมมือและตื่นรู้ของคนในชุมชนคือปัจจัยสำคัญของการก้าวผ่านวิกฤต ​

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS