ครั้งแรกของเอเชีย “Thailand Talks” เห็นต่าง คุยกันได้”

ก้าวแรก Thailand Talks มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ ร่วมกับองค์กรภาคีสื่อฯ จัดพื้นที่ให้คนเห็นต่างพูดคุยกัน มีผู้เห็นต่าง ตอบรับลงทะเบียนมากกว่า 600 คน ผ่านระบบ ZOOM และพบกันตัวต่อตัว ที่ รร.ศิวาเทล กรุงเทพฯ หวังเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเห็นต่างออกจากโลกของตัวเอง ออกมารับฟังความเห็นต่าง

Thailand Talks ได้รับแรงบันดาลใจจากแพลตฟอร์ม My Country Talks ในยุโรป เมื่อมีแนวคิดที่จะนำแพลตฟอร์มนี้มาใช้ในประเทศไทย จึงเกิดคำถามตามมาว่า วัฒนธรรมแบบไทย ๆ จะสามารถพูดคุยกับคนเห็นต่างสุดขั้วได้แค่ไหน ?

เฟรดเดอริค ชปอร์ หัวหน้าสำนักงานประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เล่าถึงการใช้แพลตฟอร์มนี้ในยุโรป มีหลายคู่ที่เคยเห็นต่างกันสุดขั้ว แต่หลังจากได้พูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกันกลับกลายเป็นมิตรภาพ และความผูกพัน แม้ไทยจะมีบริบทแตกต่างจากยุโรป แต่เขามองว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นถึงความพยายาม และความกล้าหาญของ คนแปลกหน้า ที่ออกมารับฟังอีกฝ่ายที่เห็นต่างสุดขั้ว

พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย และผู้ประสานงานโครงการ Thailand Talks ย้ำว่า หลักการสำคัญ คือ การให้คนเห็นต่างสุดขั้วมาพูดคุยกัน โดยไม่มีคนกลางมาช่วยคุย แต่เน้นให้คนเห็นต่างพูดคุยกันเอง ผ่านการคัดกรองจากอัลกอริทึมของระบบ My Country Talks โดยคัดกรองจากการตอบคำถาม 7 ข้อ คือ

  1. รัฐควรแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ใช่หรือไม่?
  2. ตำรวจ อัยการ ศาล เป็นอิสระและเที่ยงธรรม ใช่หรือไม่?
  3. ทหารควรมีบทบาททางการเมือง ใช่หรือไม่?
  4. คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคู่รักหญิง-ชาย ใช่หรือไม่?
  5. ศาสนายังจำเป็นกับโลกสมัยใหม่ ใช่หรือไม่?
  6. ทุกจังหวัดควรมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพื่อที่จะมีอำนาจจัดการตนเอง ใช่หรือไม่?
  7. เด็กควรมีสิทธิถกเถียงกับผู้ใหญ่ ใช่หรือไม่?

ก่อนการพูดคุย อิทธิณัฐ สีบุญเรือง วิทยากรกระบวนการ อธิบายหลักการ 10 ข้อ เพื่อสร้างสะพานการพูดคุยที่ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง โดยหยิบยกเอาหลักการวิพากษ์คนเห็นต่างจากงานวิจัย-วิชาปรัชญาในเยอรมนีที่ระบุว่า “การวิพากษ์สร้างความเข้าใจ ไม่ใช่การพูดคุยหักคอฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องเข้าไปอยู่ในใจ ไม่ใช่การใช้ความคิด โดยสนทนาที่ดีที่สุด คือ การเปลี่ยนมุมมองของเรา ไม่ได้เปลี่ยนมุมมองของเขา…

โดย 10 หลักการ ก่อนจะเริ่มต้นสนทนา ประกอบด้วย

  • การใช้คำถามปลายเปิดให้ได้มากสุด
  • การคุยกันต้องทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นและความขัดแย้งลดลง
  • ทำความเข้าใจสิ่งที่คู่ของเราต้องการจะบอก
  • โต้แย้งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างละมุนละม่อมและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่คู่ของเราอาจจะยังไม่มีครบถ้วน
  • ไม่หลุดไปจากประเด็นที่กำลังคุยกัน
  • อย่าทำสอนคู่ของเราโดยไม่ให้พื้นที่เขาแลกเปลี่ยน
  • ทำความเข้าใจเหตุผลของคู่ของเรา
  • หาจุดที่เราและคู่ของเรายอมรับร่วมกันได้
  • บอกเล่าถึงเหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญกับเรา
  • การคุยกันทำให้เราเปลี่ยนมุมมองต่อคู่ของเรา

สำหรับภาพรวมของการพูดคุย พบว่าทุกคู่ไม่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง และบางคู่ที่เคยสนทนากันมาแล้ว มาแลกเปลี่ยนความเห็นกันบน เวทีเสวนา “ชวนคุยประสบการณ์ในการคุยกับคนคิดต่าง” ซึ่งพวกเขา สะท้อนตรงว่า แม้จะเริ่มพูดคุยด้วยบทสนทนาเห็นต่าง และระหว่างทางจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แต่สุดท้ายแล้วบทสนทนาจะจบลงด้วยมิตรภาพ

โดยทางผู้จัด มูลนิธิฟรีดิช เนามัน ยังคงย้ำว่าทักษะของการถกเถียงจำเป็นต้องฝึกฝน จากนี้คาดหวังเห็นการให้คนเห็นต่างในสังคมไทยได้ออกมาเปิดใจ-พูดคุยกันได้อย่างเป็นปกติมากขึ้น และ Thailand Talks จะเกิดขึ้นในซีซัน 2 อย่างแน่นอน เพื่อสร้างสังคมแห่งการรับฟังคนเห็นต่างได้อย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน