คพ. แจงแผนรับมือฝุ่นปี 65 ขณะภาคประชาชนจี้รัฐบาลใช้ค่ามาตรฐานฝุ่นใกล้เคียง WHO

หวังช่วยปกป้องสุขภาพคนไทย หลังพบเสียชีวิตจากฝุ่นพิษ 40,000 คนต่อปี ด้านอธิบดี คพ.แจงมีแผนจะปรับเกณฑ์ค่าฝุ่น แต่กังวลหากมาตรการทำไม่ได้ผล จะทำให้ประชาชนตื่นตระหนก

สภาลมหายใจภาคเหนือจัดสัมมนาออนไลน์ “ฝุ่นควัน 65 รัฐบาลจะยังทำเหมือนเดิมหรือเอาจริง” เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาและป้องกันการเกิดไฟป่าหมอกควันในช่วงต้นปี 2565

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงแผน “ปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขมลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งต่อยอดจากแผนปฏิบัติการ 12 แนวทางเมื่อปีที่แล้ว โดยระบุว่าหลังทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาและถอดบทเรียนจากการดำเนินงานตลอดทั้งปี มีมติร่วมกัน 9 แนวทาง ในการดำเนินการต่อปี 2565  “ภายใต้ 1 การสื่อสาร 5 แนวทางป้องกันและ 3 เผชิญเหตุ” 

สำหรับแผนการสื่อสารปีนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค ) กรมอุตุนิยมวิทยา ในการพัฒนาข้อมูลวิเคราะห์การก่อตัวของฝุ่น การเคลื่อนที่ เพื่อพยากรณ์ฝุ่นล่วงหน้าเป็นอาทิตย์เน้นสื่อสารให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด 

ส่วนการตรวจจับวัดควันดำ ซึ่งเป็นหล่งกำเนิดสำคัญและมากที่สุดในเขต กทม.และปริมณฑลถึงร้อยละ 70 ปีนี้ จะมีการตรวจจับวัดด้วยระบบความทึบแสง เปลี่ยนค่ามาตรฐานจากร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 30 และสั่งห้ามใช้รถทันทีจนกว่าจะแก้ไขปรับปรุงภายใน 30 วัน ฝ่าฝืนลงโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายควบคู่แผนการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมัน  ตั้งเป้าทั่วประเทศ ยูโร 5 พร้อมใช้ภายในปี 2567 และแผนการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า แต่ปีนี้คุณภาพน้ำมันยูโร 5 จะมีจำหน่ายนำร่องในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ให้บริการที่ปตท.และบางจาก 

ขณะที่การลดการเผาในพื้นที่เกษตร เช่น ไร่อ้อย ฤดูกาลที่ผ่านมาพบว่ามีอ้อยสดเข้าโรงงานได้ถึงร้อยละ 75 แต่ที่เป็นปัญหาคือ นาข้าว ซึ่งกระทรวเกษตรและสหกรณ์ได้ขอความร่วมมือให้นำเศษวัชพืชนำกลับไปใช้ประโยชน์ แต่ยังเป็นไปได้ยากเนื่องจากวงจรการใช้ประโยชน์ยังไม่คุ้มค่า ไม่สามารถลดต้นทุน หรือสร้างประโยชน์ได้จริง ติดขัดด้านการขนส่ง 

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

“ปีนี้เราปรับจากแผนปฏิบัติการ 12 แนวทาง เหลือ 9 แนวทาง ซึ่งถอดบทเรียนมาแล้ว เน้นไปที่การสื่อสาร การป้องกัน และแผนเผชิญเหตุ ซึ่งทุกหน่วยพร้อมอยู่แล้วและยังใช้ปริมาณค่าฝุ่นเป็นเกณฑ์การยกระดับมาตรการกำหนดการทำงานของทุกหน่วยงาน” 

ส่วนการเผาในพื้นที่ป่า หมอกควันทางภาคเหนือ ซึ่งพบว่าการเผาในป่ามากที่สุด กว่าร้อยละ 80 ยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ได้จริง ปีนี้จึงเน้นกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเข้ามามามีบทบาทในการจัดทำแผนป้องกันและควบคุมไฟป่า โดยสามารถเบิกงบประมาณดำเนินการได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ควบคู่การจัดระเบียบการเผาใช้แอปพลิเคชัน “เบิร์นเชค” ลงทะเบียนการเผาในช่วงที่สภาพอากาศเปิด ซึ่งทดลองใช้งานไปแล้วในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่การปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายวันและรายปี ยังคงยึดใช้ค่ามาตรฐานเดิม ที่ค่าเฉลี่ยรายวัน 24 ชั่วโมง ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าเฉลี่ยรายปี ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดแต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วสุดเมื่อไหร่

“เรามีแผนจะปรับลดค่ามาตรฐานอยู่ แต่ถ้ากำหนดต่ำมากๆ แต่มาตรการทำไม่ได้ผล ค่าฝุ่นก็จะอยู่ในระดับสีแดงที่เป็นอันตราย กังวลประชาชนจะตื่นตระหนก หน่วยงานก็ไม่สามารถหาแนวทางลดปริมาณฝุ่นได้ หากมาตรการที่เราทำอยู่ได้ผล ก็จะมีการปรับตัวเลขให้ใกล้เคียงกับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ” 

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เสนอว่า การกำหนดค่ามาตรฐานให้ใกล้เคียงกับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ จะช่วยปกป้องสุขภาพของประชาชนได้ เนื่องจากเวลานี้ประชาชนยังไม่ตระหนักมากพอถึงพิษภัย ทั้งๆ ที่ข้อมูลทางการแพทย์ที่ศึกษาในประเทศระบุว่า  มีคนเสียชีวิตซึ่งสัมพันธ์กับฝุ่น PM 2.5 ถึงปีละ 4 หมื่นคน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเสียชีวิต การเจ็บป่วยที่รุนแรง และแต่ละปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูหมอกควัน รัฐบาลควรมีมาตรการเชิงรุกในการป้องกันสุขภาพประชาชน การเจ็บป่วย การเข้าโรงพยาบาล การนอนห้องไอซียู นอกเหนือจากมาตรการที่ทำอยู่ 

“ถ้าลดค่าฝุ่นให้ต่ำลง มาตรการจะเข้มงวดและเอาจริงเอาจังมากขึ้น แต่ที่ผ่านมา มาตรการที่ใช้เป็นเพียงมาตรการทางจิตวิทยาและไม่ได้มีผลในการปกป้องสุขภาพประชาชนได้จริง”

สัมมนาออนไลน์ “ฝุ่นควัน 65 รัฐบาลจะยังทำเหมือนเดิมหรือเอาจริง” โดยสภาลมหายใจเชียงใหม่

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่เสนอโดยภาคประชาชนและถูกตีตกไปก่อนหน้านั้น  ภาคประชาชนที่ร่วมเสวนาเห็นว่า กฎหมายที่ป้องกันปัญหาเรื่องนี้ไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาในะดับภาพรวมให้เป็นเอกภาพ แต่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษยืนยันว่ากฎหมายที่มีอยู่ สามารถใช้ได้ไม่มีอุปสรรคหรือพบข้อจำกัดใด และเปิดทางให้เต็มที่สำหรับการใช้กฎหมายที่มีและจะใช้บทลงโทษสูงสุด ขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีการปรับปรุงแก้ไขให้มีโทษสูงขึ้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นกฤษฎีกา คาดว่าหากแล้วเสร็จจะมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่รัดกุมเข้มงวดมากขึ้นบังคับใช้ในอนาคต และปีนี้มีการปรับโครงสร้างการทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา เชื่อว่าภายใต้โครงสร้างนี้จะลดข้อจำกัดที่ผ่านมาได้ดีขึ้น ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานด้วย

บัวรส บัวคลี่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สะท้อนการทำงานจากการขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วนที่ผ่านมา พบว่า หลายปัญหามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น การกระจายอำนาจการป้องกันควบคุมไฟป่าให้ท้องถิ่นรับผิดชอบ มีงบประมาณเบิกจ่ายได้ในปีนี้ เห็นเป็นรูปธรรมหลังจากผลักดันมานาน 5 ปี แต่ว่างบประมาณที่ให้ 20,000-50,000 บาทไม่ครอบคลุม เนื่องจากการทำงานต้องมองภาพรวมตลอดทั้งปีไม่ใช่เฉพาะฤดูการจัดการไฟป่า การนิยามยังไม่มี ส่งผลต่ออำนาจว่าจะใช้มากน้อยแค่ไหน ส่วนแอปพลิเคชันเบิร์นเชค ยังคงใช้ได้เฉพาะในพื้นที่นำร่อง ปีนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะกระจายสู่พื้นที่อื่นๆ ได้จึงเสนอให้มีการยกระดับยุทธศาสตร์ในการจัดการ เน้นไปที่พื้นที่แปลงใหญ่ที่เกิดการเผาซ้ำซากทุกปี มีระบบเข้าไปจัดการเชื้อเพลิงก่อนที่จะเกิดไฟป่าซึ่งยากแก่การควบคุม และยกระดับเกณฑ์การเตือนภัยด้านสุขภาพให้สอดคล้องในการปกป้องประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส