ศาล รธน. วินิจฉัยสมรสเพศเดียวกัน “ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ”

ภาคประสังคม ประเมินแนวโน้มไปในทางบวก คล้ายกฎหมายทำแท้งที่เป็นประเด็นสิทธิเสรีภาพไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง ‘นักปกป้องสิทธิฯ’ ขออย่านำความกลัวจากความเชื่อ กลบปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ย้ำ สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เกิด

วันนี้ (17 พ.ย. 2564) กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ร่วมเกาะติดกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ว่าด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังถูกเลื่อนมาแล้วถึง 3 ครั้ง จากสถานการณ์โควิด-19

การนัดวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ เป็นไปตามคำร้องของ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคำ คู่รักซึ่งมีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิง ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ โดยให้ความเห็นว่า “ตรวจสอบเอกสารแล้ว ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการจดทะเบียนสมรส” ทั้งคู่จึงแต่งตั้งทนายความให้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ขอให้ศาลส่งคำร้องโต้แย้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และจะมีการนัดอ่านคำวินิจฉัยโดยศาลเยาวชนและครอบครัวอีกครั้ง ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2564

ภาพ : iLaw

ผลโหวตไอลอว์ท้วมท้น คนอยากได้กฎหมายสมรสเท่าเทียม

ก่อนหน้านี้โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้สอบถามความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็น #สมรสเท่าเทียม ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินในวันนี้

จากผู้ตอบแบบสอบถาม 3,616 คน ร้อยละ 99.9 เห็นด้วยหากประเทศไทยจะมีกฎหมายที่รับรองสิทธิจดทะเบียนสมรสหรือคู่ชีวิตสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่วนอีก ร้อยละ 0.1 ไม่เห็นด้วยในประเด็นดังกล่าว และหากถามลงไปในกลุ่มของผู้ที่สนับสนุน  ร้อยละ 96 ให้เหตุผลว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ร้อยละ 89 ต้องการให้มีกฎหมายรับรองสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ ร้อยละ 87.6 ต้องการให้มีกฎหมายรับรองการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมสำหรับคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนั้นยังอยากให้กฎหมายครอบคลุมเรื่องเซ็นให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล การรับมรดก และหากประเทศไทยมีกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดีขึ้น

นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เห็นตรงกัน กฎหมายผ่านได้เพราะไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง แต่ยังต้องพึ่งกลไกรัฐสภา

ในวงเสวนาวิชาการทางออนไลน์ในหัวข้อ “ทิศทางคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อการสมรสระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกัน” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ช่วงหนึ่ง รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงท่าทีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าประเด็นหนึ่งที่อาจทำให้การสมรสของคนเพศเดียวกันจะยังไม่เกิดขึ้น คือ ข้ออ้างว่าการรับสวัสดิการร่วมกันที่จะมีผลไปถึงภาระทางการคลังของรัฐบาล เพราะหากสังเกตจากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ยกร่าง ไม่ได้ยอมให้คู่ชีวิตได้สิทธิประโยชน์เหมือนกับคู่สมรส แต่ไม่อยากให้ความคิดนี้เป็นประเด็นที่ไปโน้มน้าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้การสมรสของคนเพศเดียวกันไม่เกิดขึ้น พร้อมเสนอโมเดลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญออสเตรีย ที่จะไม่กระทบต่อความสมบูรณ์ของกฏหมายสมรส มาตรา 1448

“ข้อความว่า ชายและหญิง หากถูกลบออกไปโดยเหตุผลว่าขัดต่อหลักความเสมอภาคก็จะไม่กระทบอะไรกับความสมบูรณ์ของตัวบทใน มาตรา 1448 เพราะจะเหลือแค่การสมรสจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ เสนอว่าน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับศาลฯ ออสเตรีย คือ กำหนดระยะเวลาโมฆะเมื่อพ้น 360 วัน เพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสมรส หรือเกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ในการสมรส”

รศ.อานนท์ มาเม้า

คำตัดสินศาล รธน. มีผลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยในเวทีโลก

The Active พูดคุยกับ นาดา ไชยจิตต์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และที่ปรึกษาด้านการรณรงค์สิทธิมนุษยชน Manushya Foundation หนึ่งในองค์กรที่รวบรวมสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ฉบับภาคประชาชน ในเวทีรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR ต่อ องค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

นาดา กล่าวว่า ในเวทีครั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกตั้งคำถามจากอย่างน้อย 12 ประเทศ ว่าเมื่อไหร่ไทยจึงจะมีกฎหมายที่คุ้มครองการใช้ชีวิตของกลุ่ม LGBTIQ+ ในทางปฎิบัติเกิดขึ้นโดยเฉพาะกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้งที่เคยมีคำประกาศว่าจะยกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับกระทรวงยุติธรรม และสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน จึงอยากให้การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ อย่ามองว่าเป็นเพียงการเอาใจกันในเรื่องรสนิยม หรือเรื่องของคนชั้นสูง แต่กฏหมายในการสร้างครอบครัว ถือเป็นเรื่องของปากท้อง คุณภาพชีวิต ความเป็นความตายของประชาชน พร้อมย้ำว่า สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวติดตัวทุกคนมาตั้งแต่เกิด

“แน่นอนว่าชุดความเชื่อในสังคมยุคเก่า จะยังมีคนที่กลัวว่าเดี๋ยวผ่านเป็นกฎหมายแล้ว LGBTIQ+ จะไปแย่งสวัสดิการจนส่งผลต่อการคลังของรัฐบาลหรือเปล่า หรือจะมีผู้ก่อการร้ายถือโอกาสหลบหนีเข้ามาจดทะเบียนสมรสในไทย เราไม่อยากให้นำความกลัวในสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น มาลดทอนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เพราะแค่สถานการณ์โควิด-19 เราก็เห็นคู่ชีวิตที่ต้องสัยชีวิตเพราะเซ็นยินยอมรักษาแทนกันไม่ได้อย่างน้อย 2 คู่แล้ว”

นาดา ไชยจิตต์

ขณะที่หลายฝ่ายประเมินทิศทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าจะมีมติเปิดทางนำไปสู่การจดทะเบียนสมรสสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ และโยนให้รัฐสภาไปแก้ไขกฎหมายเช่นเดียวกับคดีประมวลกฎหมายอาญากำหนดความผิดหญิงทำแท้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาศาลมักจะยอมรับประเด็นสิทธิเสรีภาพที่ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง

ล่าสุด เมื่อเวลาราว 17.30 น. มีการเผยแพร่ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “เอกฉันท์” ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

โดยผลการพิจารณา ระบุว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และ 5 เป็นบททั่วไปที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ โดยมิได้มีข้อความใดที่คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ ไม่จำต้องวินิจฉัยในส่วนนี้ พร้อมมีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

ทั้งนี้ หลังทราบผลวินิจฉัย นาดา ระบุว่ารู้สึกผิดหวังจากที่คาดไว้ เพราะแม้ว่าศาลจะระบุให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับดูแล แก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ แต่ก็เป็นเพียงการกล่าวกว้าง ๆ ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ เปรียบเสมือนการดึงเวลาให้ประเด็นนี้ยืดเยื้อออกไปอีก อย่างไรก็ตาม ยังต้องฟังรายละเอียดในวันที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอ่านคำวินิจฉัยอีกครั้ง ว่าจะมีทิศทางเป็นไปทางบวกหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน