สุมหัวคิด ‘ช่วยชาวนา’ สร้างนโยบายข้าวอย่างยั่งยืน

‘นักวิชาการ’ แนะรัฐถอยห่างนโยบายประชานิยม จูงใจชาวนา เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตร ‘ประธานสภาฯ เกษตร’ วอนรัฐปฏิรูประบบวิจัยพันธุ์ข้าว เดินตาม ‘เวียดนามโมเดล’

เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เสียงความเดือดร้อนของชาวนาไทยก็ดังขึ้น เสมือนปัญหาเรื้อรังที่ไม่อาจแก้ได้ วัฏจักรความจนของชาวนาไม่เพียงย่ำอยู่กับที่ แต่ข้าวยิ่งมีราคาตกต่ำลงทุกปี นโยบายเฉพาะหน้า ‘ประชานิยม’ ควรได้รับการทบทวนหรือไม่ แล้วนโยบายข้าวที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร The Active ชวนระดมความคิดในประเด็นนี้ ผ่านรายการ Active Talk

“การเมืองเรื่องข้าว” สัญญาณ ‘ประกันข้าว’ มีปัญหา ส่อจ่ายช้า ไม่ตรงงวด

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สัญญาณเรื่องปัญหาทางการคลังของรัฐบาล มีปัญหาตั้งแต่ในวงการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กนข.) เนื่องจากทุกคนทราบดีว่างบกลางนั้น มีอยู่เพียง 1 แสนล้านบาท แต่นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไม่สามารถนำมาจ่ายให้กับชาวนาอย่างเดียวได้ ยังต้องจัดสรรไปใช้ในส่วนอื่น ๆ ด้วย และยังมีประเด็นความแตกร้าวในรัฐบาล เมื่อพรรคหนึ่งที่รับปากชาวนาไว้แล้ว ก็อยากได้เงิน ในขณะที่อีกพรรคหนึ่ง ซึ่งดูเรื่องการคลัง กลับบอกว่าไม่มีเงิน จึงเป็นปมขัดแย้ง ที่ชาวนายังคงรอคำตอบว่าทางออกจะเป็นอย่างไร

ประพัฒน์ เสนอว่า หากมีการเร่งรัดใช้เงิน ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท อาจเพียงพอที่จะเยียวยาให้กับชาวนาได้บ้าง แต่หากสถานะการคลังยังคงเป็นเช่นปัจจุบันนี้ คงเป็นไปไม่ได้ ที่รัฐบาลจะหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนา เว้นแต่ว่าจะนำเรื่องนี้เข้าไปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และยอมรับว่าประสบปัญหาเรื่องนี้ โดยขอความช่วยเหลือไปที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้มีการสำรองจ่ายไปก่อน เหมือนในอดีตที่เคยทำมา แต่จำเป็นต้องมีหลักประกันที่เหมาะสม

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และทรัพยากร และนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ปีนี้เกษตรกรเจอวิกฤตถาโถมทุกด้าน ทั้งเรื่องโควิด-19 และวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคกลาง และภาคอีสาน ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขัง ผลผลิตเสียหาย ทำให้กลุ่มนี้มีความต้องการใช้เงินมากกว่าปกติ สัญญาณล่าช้าในปีนี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และรัฐคงไม่อางปฏิเสธการจ่ายเงินประกันราคาข้าวได้

นอกจากเงินประกันราคาข้าวแล้ว รศ.สมพร กล่าวว่า ก้อนที่ใหญ่กว่าและน่าเป็นห่วง คือ ‘เงินจัดการคุณภาพข้าว’ ที่มีจำนวนสูงถึง 54,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะจ่ายครัวเรือนละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน ตอนนี้มีครัวเรือนเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งตอนนี้รัฐยังไม่ได้จ่ายเงินในส่วนนี้เลย จึงถือเป็น ‘ระเบิดเวลา’ ที่กำลังจะเผชิญอยู่ สำหรับตัวเลขที่รัฐต้องจ่ายให้กับเกษตรกร หากรวมทุกก้อนที่รัฐสัญญาเอาไว้ อาจเกิน 100,000 ล้านบาท คำถามสำคัญ คือ รัฐจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายให้ชาวนา ?

รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงสถานะการเงินการคลัง ของรัฐตอนนี้ถือว่า ‘อาการหนัก’ เพราะนโยบายประกันรายได้ ไม่ได้ทำเฉพาะข้าวเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาได้จ่ายเงินไปในพืชหลายชนิด ทั้งปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ก่อนที่พืชชนิดอื่นจะอยู่ได้ ตอนนี้ตัวเลขที่รัฐจ่ายไปน่าจะหลายแสนล้านบาท

นอกจากนั้น ข้อจำกัดเกี่ยวกับ ‘หนี้สาธารณะ’ ยังเป็นปัญหา เพราะกฎหมายกำหนดให้เพดานเงินกู้ ห้ามเกิน 70% ของ GDP การกู้เพิ่มอาจติดเพดานกฎหมาย และยังมีเงินที่ต้องใช้เรื่องของการฟื้นฟูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ภาคส่วนธุรกิจอื่นยังรอคอยการดูแลจากรัฐบาล จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐบาลจะนำเงินทั้งหมดมาลงให้กับชาวนาเพียงอย่างเดียว

รศ.ธนพร กล่าวว่า วันนี้สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ คือ การพยายามหาเม็ดเงินที่เหลือจ่ายจากโครงการอื่น ๆ ของทุกกระทรวง ทุกกรม ที่เป็นยอดเงินที่ไม่ได้ใช้จ่าย มาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับโครงการประกันรายได้ เพราะนโยบายนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถ ‘เบี้ยวจ่าย’ ได้ เนื่องจาก รัฐบาลได้เคยแถลงนโยบายในรัฐสภา เป็นการให้สัญญากับพี่น้องประชาชนและเกษตรกรเอาไว้แล้ว เพียงแค่จ่ายไม่ตรงงวดเกษตรกรก็เดือดร้อนแล้ว เพราะ ส่วนต่างของราคาข้าวจะเป็นสภาพคล่อง มาช่วยให้ชาวนามีชีวิตรอดต่อไปได้

รัฐต้องถอยห่างจากนโยบายประชานิยม

“รัฐบาลต้องถอยห่างจากนโยบายประชานิยม และต้องก้าวสู่ฐานเศรษฐกิจใหม่ สร้างกลไกให้เกษตรกรปรับตัว ถ้าจ่ายแต่เงิน เท่ากับแช่แข็งชาวนา สุดท้ายระบบข้าวจะเสียหายทั้งหมด”

รศ.สมพร อิศวิลานนท์
รศ.สมพร อิศวิลานนท์

รศ.สมพร กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ มีการจ่ายเงินให้ชาวนาทุกปี ทั้งเรื่องประกันรายได้ เงินปรับปรุงคุณภาพข้าว ค่าเก็บเกี่ยว และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จนทำให้ชาวนารอคอยเงินจากรัฐบาลด้วยความหวังมาตลอด การที่รัฐต้องหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนา ปีละเป็นแสนล้าน ถึงวันหนึ่งก็จะประสบปัญหา และนโยบายประชานิยมแบบนี้ เป็นการแช่แข็งชาวนา ทำให้โครงสร้างเกษตรไม่ไปถึงไหน

เขายกตัวอย่างว่าก่อนหน้านี้ราคาจำนำข้าว รัฐจะให้ต่ำกว่าราคาตลาด ประมาณ 80% มาถึงตอนนี้ราคาสูงกว่าตลาด เคยอยู่ที่ 150% ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของตลาดเสียหายทั้งหมด การที่รัฐเข้ามาแทรกแซงนั้น ทำให้กลไกตลาดเสียหาย ในขณะที่การสร้างความเข้มแข็งของชาวนาไม่ได้ทำอย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องข้าวเปียกน้ำ ก็จะมีกลไกในการตากข้าว แต่ตอนนี้เกษตรกรก็ไม่มีลานตากข้าว และรัฐบาลก็ไม่เคยแก้ตรงนี้ ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ชาวนาออกมาตากข้างบนท้องถนน

รศ.สมพร กล่าวอีกว่า ถึงแม้รัฐบาลจะหนีการประกันรายได้ไปไม่ได้แล้ว แต่ต้องมีนโยบายคู่ขนานกันด้วย และถอยห่างจากประชานิยมออกมา ทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง เพราะในปัจจุบัน ข้าวไม่ใช่สินค้าที่จะแข่งขันได้อีกต่อไป ควรมุ่งผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลักใหญ่ เพราะหากยังคงมีการผลิตที่มากเกินความต้องการ ผลผลิตก็จะล้นตลาด และเมื่อสะสมทุกปี จะยิ่งกดราคาให้ต่ำลงไปอีก รัฐต้องมองเห็นปัญหา ไม่ใช่จะเอาชนะแค่เสียงเลือกตั้งเพื่อตั้งรัฐบาลเท่านั้นเอง ต้องมองว่าเรากำลังก้าวสู่ฐานเศรษฐกิจใหม่ ต้องสร้างกลไกให้กลุ่มเกษตรกรสามารถปรับตัวได้

ถอดบทเรียน ‘เวียดนามโมเดล’ 10 ปี แซงหน้าไทยไม่เห็นฝุ่น

ประพัฒน์ กล่าวว่า ตนเคยเป็นประธานคณะกรรมการการปฏิรูประบบราชการ ในสมัยนั้นประเทศเวียดนามเคยเดินทางมาศึกษาดูงานที่ประเทศไทย เพราะตอนนั้นเวียดนามล้าหลังกว่าไทยมาก แต่เขามาเรียนรู้และศึกษาทุกระบบ ปัญหาของประเทศไทย คือ ไม่มีการทำงานเชิงรุก มีแต่รอให้ปัญหามาชนแล้วค่อยแก้ เป็นการตั้งรับมากกว่า

การทำงานเชิงรุกของเวียดนาม ประพัฒน์ เล่าว่า เวลาเจ้าหน้าที่ของเวียดนาม จะลงพื้นที่ไปหาชาวนา จะไปในช่วงเย็นหลังเลิกงานแล้ว เพื่อไปให้องค์ความรู้ ให้คำแนะนำ หรือเชิญผู้รู้มาบรรยายให้ฟัง และทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง จึงทำให้เกิดการพูดคุย และรวมกลุ่มกันได้ ในขณะที่ประเทศไทย เวลาข้าราชการจะจัดอบรม ก็จะไปในช่วง เดือนตุลาคม – ธันวาคม สิ้นปีงบประมาณ แล้วจะจัดอบรมเวลา 8.00 น. – 16.00 น. ซึ่งไม่ตรงกับวิถีชีวิตของชาวนา ที่ต้องทิ้งนามาเพื่อเข้าอบรม นั่งอบรมอยู่ ก็เป็นห่วงที่นาตัวเอง และที่สำคัญวิทยากรที่มาอบรม กลับเป็นข้าราชการระดับสูง ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำนา นี่คือความแตกต่าง เพราะเวียดนามเขามีบทบาทเชิงรุก

“ไทยไม่มีพันธุ์ข้าวมาแข่งในตลาดโลก 30 ปีแล้ว ถ้าไม่ปฏิรูประบบวิจัยใหม่ เราจะพ่ายแพ้ ต้องพยากรณ์ให้ได้ ว่าโลกต้องการข้าวแบบไหน แล้วร่วมกันวิจัยอย่างมีทิศทาง ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ”

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ การวิจัยพันธุ์ข้าวที่เวียดนามทำอย่างกว้างขวางและจริงจัง ประเทศไทยไม่มีพันธุ์ข้าวใหม่ มาแข่งขันในตลาดโลกกว่า 30 ปีแล้ว ตนเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบวิจัยพันธุ์ข้าว โดยไม่ให้ทุกอย่างไปผูกไว้กับกรมการข้าวเท่านั้น เรื่องบุคลากร ประเทศไทยไม่ขาดแคลน เพราะมีนักวิจัยในสาขาพืชไร่ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ แต่ประเทศไทยขาดแผนการวิจัย คือการกำหนดทิศทาง ว่าควรไปทางใด ตอนนี้นักวิจัย ศึกษาไปตามความสนใจของตนเอง นอกจากนั้น การขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ข้าว ยังติดปัญหาที่กรมการข้าว ที่ไม่รับรองสายพันธุ์ให้ เนื่องจากปัญหาความล่าช้า ติดปัญหาคอขวด ทั้งที่มีการวิจัยสายพันธุ์ที่ดีมากมาย

รศ.สมพร กล่าวเสริมว่า ในปี ค.ศ. 1980 เวียดนามมีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างข้าว เรียว่า ‘3 ลด – 3 เพิ่ม’ คือ เพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพ เพิ่มกำไร และ ลดค่าปุ๋ย ลดค่ายา ลดต้นทุน แล้วเวียดนามดำเนินตามนโยบายมาต่อเนื่อง ความสำเร็จจากนโยบายนั้น คือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกข้าวพื้นนุ่มได้ 1 แสนตันต่อปี และเมื่อปีที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกได้ 2.3 ล้านตัน ถือเป็นความสำเร็จที่น่าตกใจมาก

นอกจากนั้น ประเทศเวียดนาม ยังใช้กลไกขับเคลื่อนนโยบาย 3 ประสาน คือ เอกชน รัฐบาล และชุมชน ร่วมกันเป็นหุ้นส่วนในการสร้างความเข้มแข็งในชาวนา คือ รัฐบาลปรับปรุงพันธุ์ข้าว ส่งต่อให้เอกชนขยายพันธุ์ข้าว แล้วลงมาส่งเสริมเกษตรกรให้เข้าใจ ราคาข้าวของเวียดนาม จากตันละ 370 เหรียญสหรัฐ ตอนนี้อยู่ที่ตันละ 550 – 600 เหรียญสหรัฐ นี่คือ การเพิ่มคุณค่า และมูลค่า ซึ่งประเทศไทย เรามีแค่สโลแกน แต่ขาดการลงมือทำ

“วันนี้เวียดนาม ส่งออกข้าวพื้นนุ่ม ราคาใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิ ในขณะที่ไทยเรา ยังมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ทั้งที่คุณภาพไม่เหมือนกัน มีการจูงใจด้วยการชดเชย ให้ครัวเรือนละ 16 ตัน แต่การเอาข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ไปปนกับข้าวหอมมะลิภาคอีสาน รวมถึงข้าวพื้นนุ่ม จะทำให้คุณภาพของตลาดข้าวปั่นป่วน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวล”

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

แนะรัฐ เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ‘จัดรูปที่ดิน’ ลดต้นทุนการผลิต

รศ.ธนพร กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมาก คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร ที่ผ่านมางบประมาณในการสร้างระบบราง สร้างถนนหนทางรัฐบาลลงทุนไปจำนวนมหาศาล แต่ในภาคเกษตรกรรม สัดส่วนที่รัฐบาลลงทุนไปถือว่าน้อยมาก ในตอนนี้พื้นที่เกษตรกรรม 150 ล้านไร่ มีการพัฒนาระบบชลประทานไปเพียง 35 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 23% เท่านั้น ในขณะที่การพัฒนาพื้นที่อย่างสมบูรณ์ หรือการจัดรูปที่ดินไปเพียงแค่ 2 ล้านไร่เท่านั้น

“รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรน้อย โดยเฉพาะการจัดรูปที่ดิน เพราะสามารถลดต้นทุนได้จริง ปรับปรุงผลผลิตให้มีคุณภาพ ทั้งระบบการเก็บเกี่ยว และระบบน้ำ ชาวนาพร้อมทำ แต่รัฐต้องกล้าลงทุน”

รศ.ธนพร ศรียากูล
รศ.ธนพร ศรียากูล

การจัดรูปที่ดินอย่างสมบูรณ์แบบ จะสามารถทำให้ลดต้นทุนในการผลิตได้จริง คือ การจัดระบบคูคลองส่งน้ำ การจัดการฟาร์ม จะช่วยประหยัดต้นทุน ค่าน้ำมัน ค่าสูบน้ำ และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว การเข้าถึงที่นาของรถเกี่ยวข้าวควรมีการจัดระบบ ตอนนี้ต้องรอเก็บเกี่ยวแปลงในก่อนแปลงนอก แต่หากเรามีการจัดพื้นที่ฟาร์มอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถลดต้นทุนให้เกษตรกรได้ รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการดูแลราคาปลายทาง โดยละทิ้งโครงสร้างพื้นฐานไป ควรเพิ่มเติมในส่วนนี้ลงไปในแผนระยะยาว

จูงใจชาวนา เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นในพื้นที่

ประพัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องจูงใจให้ชาวนาลดพื้นที่ปลูกข้าวลง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้า ควรลดการปลูกข้าว แล้วไปทำอย่างอื่นที่เรามีจุดแข็งมากกว่า ยกตัวอย่าง ในพื้นที่จังหวัดลำปางที่ตนและกลุ่มเกษตรกรกำลังทำตอนนี้ คือให้เกษตรกรเลี้ยงแพะในพื้นที่ปลูกข้าวด้วย อาศัยการทำปศุสัตว์ ในภาคใต้บางพื้นที่ ตอนนี้การเลี้ยงแพะสร้างรายได้มากกว่ายางพาราเสียอีก ชาวนาต้องมีเศรษฐกิจคู่ขนาน และยังได้มีการเสนอ เรื่องของการเลี้ยงควาย สร้างรายได้เสริม และควรมีกองทุนคอยดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังให้กับเกษตรกร

เช่นเดียวกับ รศ.สมพร ที่เห็นด้วยว่าควรหากิจกรรมการผลิตอื่น ๆ ในไร่นาให้มากขึ้น เป็นนโยบายที่ต้องสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร ทั้งการเสี้ยงสัตว์ ทอนพื้นที่ปลูกข้าว เพราะหากการผลิตลดลง ก็จะดึงราคาข้าวให้สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ที่น่าสนใจ คือ การปลูกผลไม้ ที่ประเทศไทยส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นการนำพืชที่มูลค่าต่อหน่วยที่สูงกว่า มาปลูกในพื้นที่ ข้อมูลตอนนี้เกษตรกรทำเกษตรจริง ๆ มีรายได้จากการเกษตรต่ำกว่ารายได้นอกฟาร์มเสียอีก ต้องมีการแบ่งกลุ่มเกษตรกร เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ และกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ว่าควรใช้นโยบายใด ส่งเสริมให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

ในขณะที่ รศ.ธนพร กล่าวว่า นโยบายอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม คือ รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามยกระดับคุณภาพข้าวอินทรีย์ แต่ยังดำเนินโครงการไม่สำเร็จผล ก็หยุดลงไป ควรมองหาว่าจุดบกพร่องอยู่ตรงไหน เพราะมีเกษตรกรเข้าร่วมหลายแสนครัวเรือน รัฐลงทุนในโครงการดังกล่าวไปแล้วเกือบหมื่นล้านบาท คือ มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแล้ว แต่ไม่หาตลาดให้กับชาวบ้าน ไม่ส่งเสริมการบริโภคข้าวอินทรีย์อย่างจริงจัง ให้เป็นทางเลือกของเกษตรกรในอนาคต


Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้