คืบหน้า! แก้ปัญหาชุมชนที่ดินรถไฟ รฟท.ยอมให้การเคหะฯเช่าที่ สร้างที่อยู่ให้ชาวบ้าน

รฟท. – การเคหะฯ เปิดเวทีรับฟังความเห็นชาวชุมชนมักกะสัน – กม.11 แก้ปัญหาผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ ชี้จุดรองรับเดินหน้าสร้างอาคารชุด คาดเริ่มสร้างต้นปี 65 ห่วงกลุ่มเปราะบางสู้ราคา 3,000 บาทต่อเดือนไม่ไหว

วันนี้ (11 ธ.ค. 2564) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การเคหะแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-Move) และชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ(ชมฟ.) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินการรถไฟ ในสองพื้นที่สำคัญได้แก่ ชุมชนริมบึงมักกะสัน ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และชุมชนบริเวณที่ดิน กม.11 ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ ถนนพหลโยธิน

โดยมีเป้าหมายเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอจากประชาชนที่จำเป็นต้องรื้อถอนที่อยู่อาศัยออกจากที่ดินเดิม ทำให้จำเป็นต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่ โดยคำนึงถึงการประกอบอาชีพ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่ ภายใต้ข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่าย เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย บางส่วนถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเนื่องจากตกเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ และยังอยู่ในกระบวนการต่อสู้คดี จึงมีความพยายามหาแนวทางการช่วยเหลือ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัย และมีสิทธิในชุมชนเมืองของตนเองต่อไป

เจษฎา วุฒิญาณ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์กรรมสิทธิ์ ผู้แทนจาก รฟท. กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ชุมชนทั้ง 2 บริเวณ ได้มีการกำหนดที่ดินรองรับเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับคนในชุมชนไว้แล้ว โดยคนในชุมชนบริเวณมักกะสัน จะใช้ที่ดินเนื้อที่ 7 ไร่บริเวณบึงมักกะสัน และสำหรับชุมชนบริเวณ กม. 11 ก็ใช้พื้นที่ข้างเคียง ติดกับถนนกำแพงเพชร เนื้อที่ 5 ไร่ ซึ่งเป็นของ รฟท. ในการรองรับผู้อยู่อาศัยที่ต้องย้ายจากพื้นที่เดิม

เจษฎา กล่าวว่า วันนี้มาเพื่อรับฟังข้อเสนอจากประชาชน เพื่อแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ว่ามีความต้องการอย่างไร เพราะที่ผ่านมายังขาดนโยบายที่ชัดเจนและเป็นเอกภาพ วันนี้ทาง รฟท. มีการกำหนดนโยบาย และผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนแล้ว รวมถึงได้รับความร่วมมือจากการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นมืออาชีพในการสร้างที่อยู่อาศัย มาร่วมมือเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เหลือเพียงแค่สร้างความเข้าใจ และหาข้อตกลงร่วมกันในรูปแบบของที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องแบกรับ ว่าจะสามารถรับได้เพียงใด ในส่วนของเรื่องระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองสามารถคุยกันได้อยู่แล้ว

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่าเป็นภารกิจโดยตรงของการเคหะในการแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย และการช่วยให้คนไทยเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพ เมื่อตอนนี้ รฟท. ยินยอมให้การเคหะฯ เช่าที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนแล้ว ความต้องการของผู้อยู่อาศัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ การประชุมร่วมกันในวันนี้เพื่อต้องการรับทราบว่าประชาชนต้องการบ้านแบบใด ขนาดเท่าใด ราคาที่สามารถรับได้ประมาณไหน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องการประกอบด้วยอะไรบ้าง เบื้องต้นกำหนดราคาไว้ที่ไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน โดยเป็นอาคารสูง 8 ชั้น ขนาดประมาณ 30 – 40 ตารางเมตร

นอกจากนั้น การเคหะฯ ยังวางแผนเรื่องการสร้างอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัย โดยประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อเข้ามาดูแลกลุ่มเปราะบาง ให้ได้รับสวัสดิการตามที่รัฐจัดให้ และมองหาอาชีพเสริมเพื่อให้สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มีต่อการเคหะฯ ต่อไปได้ เนื่องจากหากสร้างเพียงแต่ที่อยู่อาศัย แต่ขาดรายได้ ย่อมเป็นการสร้างภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นแก่ประชาชน การเคหะฯ จึงดำเนินการทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไป

ที่ดินบึงมักกะสัน ชาวบ้านห่วงถูกรื้อถอนก่อนสร้างที่ใหม่

เชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร กล่าวว่า ตนและคนในชุมชนขอบคุณหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ แม้จะใช้เวลานานแต่ก็ถือว่าได้รับความคืบหน้าพอสมควร ในส่วนของชาวบ้านชุมชนบริเณมักกะสัน มีเรื่องที่กังวล และต้องการความชัดเจนจากภาครัฐใน 2 เรื่อง คือ การดูแลกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยใหม่ได้ และ การหาที่อยู่ชั่วคราว ระหว่างที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ เพราะพื้นที่ตรงนี้มีปัญหาต้องส่งมอบให้กับเอกชนในการพัฒนาโครงการ ภายในเดือนมีนาคม 2565

สำหรับข้อจำกัดเรื่องรายได้ของกลุ่มเปราะบาง ในชุมชนดังกล่าวนั้น ยังมองว่าราคา 3,000 บาท/เดือน ยังเป็นราคาที่สูงสำหรับกลุ่มคนชรา ผู้พิการ และครอบครัวที่มีภาระค่าใช้จ่ายมาก ถ้าหากไม่สามารถจ่ายค่าเช่าต่อเดือนได้แล้ว จะมีพื้นที่ใดรองรับคนกลุ่มเหล่านี้ได้บ้างหรือไม่ ในขณะที่ปัญหาเรื่องของที่อยู่ชั่วคราว ก่อนที่อยู่ใหม่จะสร้างเสร็จ เป็นปัญหาหนึ่งที่หลายครัวเรือนพบเจอ เนื่องจากต้องเร่งรื้อถอนบ้านตนเองภายในเดือนมีนาคม 2565 นี้ ในขณะที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ใช้เวลา 8 – 12 เดือน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน การให้กลับภูมิลำเนา หรือโยกย้ายไปในพื้นที่อื่นไม่สามารถเป็นไปได้ในความเป็นจริง

ทวีพงศ์ กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ต้องส่งให้การเคหะฯ เกิดจากการประเมินในเบื้องต้น เมื่อประชาชนต้องการห้องพัก ขนาดตั้งแต่ 30 ตร.ม. ขึ้นไป หากจะทำราคาให้ต่ำกว่านี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก แนวทางในเรื่องแรกคือจะทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มรายได้ ให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตของคนในชุมชนได้ แนวทางต่อมาคือ การเคหะฯ อาจต้องขอความร่วมมือไปยัง รฟท. เพื่อขอเช่าที่ดินในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประเภทอื่นที่สูงขึ้น เพื่อนำรายได้มาทดแทนต้นทุนที่ต้องแบกรับจากผู้มีรายได้น้อย เป็นแนวทางที่กำลังหาข้อตกลงร่วมกัน

ในขณะที่ เจษฎา กล่าวว่า ยังไม่สามารถตัดสินใจเรื่องของการกำหนดที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้กับคนในชุมชนได้ จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมเพื่อหารือกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากมีความจำเป็นต้องส่งมอบที่ดินให้กับเอกชน การไม่ปฏิบัติตามสัญญา รฟท. ก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับให้กับเอกชน ส่วนการขอความร่วมมือกับเอกชนให้ประชาชนอยู่ในที่ดินจนกว่าที่ใหม่จะก่อสร้างแล้วเสร็จนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะมีแผนการก่อสร้างอยู่แล้ว แต่ทาง รฟท. จะพยายามหาทางช่วยเหลือที่ดีที่สุดให้

“ส่วนผู้ที่ได้รับกระทบระหว่างรอการก่อสร้างที่ใหม่ หากเป็นไปได้ และพอมีช่องทางอาจขยับขยายไปอยู่ที่อื่นก่อน หรืออาจเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน ขอความร่วมมือช่วยเหลือตนเองกันก่อน ในช่วงสั้นๆนี้”

ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย

ชาวชุมชนในที่ดินบริเวณมักกะสัน ได้แก่ ชุมชนบุญร่มไทร ชุมชนแดงบุหงา ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ชุมชนหลัง รพ.เดชา ชุมชนหมอเหล็ง ที่เข้าร่วมรับฟังต่างกล่าวว่า ตนและครอบครัวไม่อยากย้ายออกไปจากพื้นที่เดิม เนื่องจากการประกอบอาชีพ และวิถีชีวิตดั้งเดิม การเปลี่ยนที่อยู่ อาจทำให้ต้องเสียงาน เสียรายได้ไปด้วย และในความเป็นจริงการเดินทางกลับภูมิลำเนาไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำได้ ระหว่างนั้นจะเอารายได้ที่ไหนมาเลี้ยงดูตนเอง และครอบครัว อยากให้หน่วยงานภาครัฐหาที่รองรับให้กับชาวบ้านในช่วงระหว่างรอที่อยู่อาศัยแห่งใหม่นี้ด้วย

นอกจากนั้น ทั้งชาวชุมชนบริเวณมักกะสัน และกม.11 ต่างมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่น้อยกว่า 100 ครัวเรือน รฟท. ได้ให้ฝ่ายกฎหมายเสนอการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยทุกคน เพราะไม่อยากใช้กฎหมายบังคับไล่รื้อที่ดินกับประชาชนอย่างเข้มงวด แต่ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ และเจรจากับ รฟท. ในทุกครั้ง การไม่เปิดเผยตัวตนและไม่สู้คดีจะยิ่งทำให้เสียประโยชน์ อีกทั้ง รฟท. ยังให้สิทธิผู้ที่ถูกดำเนินคดีทุกรายสามารถเข้าร่วมโครงการที่อยู่อาศัยแห่งใหม่นี้ได้อย่างสง่างาม

นักวิชาการชี้ อย่ามองแต่กำไร ให้ยึดหลักสังคม

ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการด้านที่อยู่อาศัย และได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีของการเคหะฯ นั้นแสดงถึงความตั้งใจที่จะสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนในชุมชน แต่เมื่อตอนนี้ชาวบ้านยังประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย และภาระในการผ่อนต่อเดือน เพราะหากคนที่มีรายได้น้อยจริงๆ 3,000 บาทอาจไม่ใช่จำนวนที่รับได้ จึงไม่อยากให้การเคหะฯ มองแค่ต้นทุนกำไร อยากให้ใช้หลักสังคมดูแลคนจนเมือง ให้เขาเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพให้ได้

“หากเดินหน้าก่อสร้างไปด้วยราคาที่ชาวบ้านรับไม่ไหว ก็จะเกิดปัญหาตามมา เพราะ หากห้องใดผ่อนไม่ไหว ก็จะเซ้งต่อให้คนอื่นมาเช่า ก็จะไม่ตอบสนองนโยบายที่ตั้งใจไว้ให้คนมีรายได้น้อยเท่านั้น เมื่อไม่สามารถแบกรับภาระในพื้นที่เดิมได้ ก็ต้องขยับออกไปหาอาชีพอื่นในที่ใหม่ แรงงานในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่ รฟท. ยินยอมแบ่งที่ดินให้กับชาวบ้าน และให้ความสำคัญกับการมีสิทธิในชุมชนของคนในพื้นที่นั้น”

เสียงสะท้อนชาวบ้าน อาคารสูง ปิดทางค้าขาย ขอที่ส่วนกลาง

ณภัค สุริยชน ชาวชุมชนริมทางรถไฟ กม.11 กล่าวว่า ตนและคนในชุมชนหลายครัวเรือนประกอบอาชีพค้าขาย ทั้ง ร้านอาหาร และร้านขายของชำ หากปรับที่อยู่อาศัยเป็นอาคารสูงย่อมเป็นการปิดพื้นที่การค้าขาย ไม่มีหน้าร้าน และไม่สามารถประกอบอาหารได้ จึงเสนอว่าการเคหะฯ ควรออกแบบพื้นที่ส่วนกลาง หรือโรงอาหารให้คนในชุมชนสามารถค้าขายต่อไปได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีรายได้ไปจ่ายค่าเช่าในแต่ละเดือน

นอกจากนั้นเสียงสะท้อนจากคนในชุมชน ยังต้องการพื้นที่ส่วนกลาง อย่างศูนย์สุขภาพ ดูแลเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ พื้นที่จอดรถ และเก็บอุปกรณ์ทำมาหากิน ทั้งรถเข็น หรือซาเล้งขนของ ทั้งหมดล้วนเป็นวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพเดิมที่พวกเขาสามารถทำได้ก่อนหน้านี้ แต่เมื่อความเจริญของเมืองเกิดขึ้น ทำให้รูปแบบของที่อยู่อาศัยของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป หากไม่สามารถรองรับการใช้ชีวิตตรงนี้ได้ ย่อมเป็นการพัฒนาที่ไม่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง และอาจทำให้ใครหลายคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จนไม่อาจกลับมาใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้