จี้รัฐ สร้างกลไกแก้ปัญหาร่วมกับภาคประชาสังคม ไม่ผลักเป็นฝ่ายตรงข้าม

ขบวนประชาชน 5 ภาค ยื่นหนังสือทวงถามความจริงใจในการแก้ปัญหาที่ดิน ป่าไม้ จัดการน้ำ เหมืองแร่ ฯลฯ ต้องไม่ทำนโยบายแบบสงเคราะห์มิติเดียว ไม่ผลัก ปชช. เป็นฝ่ายตรงข้าม จี้ พม. อย่าแทรกแซง พอช. พร้อมยื่น 5 ข้อเสนอถึงนายกฯ ‘ตัวแทนรัฐบาล’ รับปากจะมีความชัดเจนภายใน 1 เดือน

9 พ.ย. 2564 – ขบวนประชาชน 5 ภาค เดินทางยื่นหนังสือทวงถามความจริงใจในการแก้ปัญหาและผลกระทบจากนโยบายรัฐที่ทำให้ขบวนองค์กรชุมชนจาก 5 ภูมิภาคต้องเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อทวงถามการแก้ปัญหาอีกครั้ง เช่น ปัญหาผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดิน ป่าไม้ การจัดการน้ำ ผลกระทบจากโครงการสัมปทานเหมืองแร่ และโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ประเด็นดังกล่าว เป็นปัญหาที่กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนได้สรุปร่วมกันในเวทีสมัชชาองค์กรชุมชน ที่มีทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคีพัฒนาอื่น ๆ เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมี 5 มิติที่สำคัญ คือ ด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร ด้านการพัฒนา ด้านการเมืองและสิทธิชุมชน


มบรูณ์ คำแหง ผู้ประสานขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค ระบุว่า พบ 3 ข้อสังเกตสำคัญที่ชี้ให้เห็นบ่อเกิดของปัญหาคือ รัฐบาลมุ่งเน้นการใช้อำนาจและกฎหมายในบริหารมากกว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือจากภาคประชาชน บริหารงานแบบรวมศูนย์ เน้นใช้กลไกระบบราชการแก้ทุกปัญหาและ นำมาสู่ข้อเสนอถึงภาครัฐ 5 ข้อ

  1. รัฐบาลต้องยอมรับการเป็น “หุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ” ของประชาชน ที่ไม่ใช่เป็นฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นเพียงผู้รอรับการช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น แต่ควรร่วมสร้างสังคมแนวใหม่ ที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญและมีความสามารถในการจัดการแก้ไขปัญหาได้เองในทุกมิติ
  2. รัฐบาลต้องสร้างกลไกร่วมระหว่างภาครัฐ (ฝ่ายการเมืองและข้าราชการ) กับภาคประชาชน และภาคีพัฒนาอื่น ๆ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาเชิงรุกที่เท่าทันกับโลกสมัยใหม่ และสามารถเป็นกลไกในการจัดการแก้ไขปัญหาของประชาชนในทุกมิติ ทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาค
  3. รัฐบาลต้องปฏิรูปกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เป็นองค์กรที่มีความก้าวหน้าทันสมัย เพื่อสร้างสังคมแนวใหม่ให้ปรากกฏ มิใช่แค่การทำงานเชิงสงเคราะห์มิติเดียว หากแต่ต้องส่งเสริมความความเข้มแข็งของสังคม ให้ประชาชนสามารถจัดการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ รวมถึงการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีความภาคภูมิใจในความเป็นประชากรของประเทศ
  4. รัฐบาล โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องหยุดการแทรกแซงองค์กรที่สนับสนุนศักยภาพของภาคประชาชน ดังกรณีไม่ยอมแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ชุดใหม่ ซึ่งว่างเว้นมาแล้วกว่า 14 เดือน (อย่างไม่เคยปรากฏมีมาก่อน) ส่งผลให้ พอช. ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชนกว่า 7,000 ตำบล ทั่วประเทศ
  5. รัฐบาลต้องส่งเสริมและสร้างกลไกให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมสำคัญในการจัดการและออกแบบการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาในทุกมิติ  โดยเฉพาะการฟื้นฟูด้านอาชีพ เศรษฐกิจชุมชน และการเข้าถึงแหล่งผลิตอาหารในท้องถิ่น โดยต้องปรับระบบงบประมาณและกองทุนเงินกู้ให้สอดคล้องตามแนวทางดังกล่าว

ผู้ประสานขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค ระบุอีกว่า ในการเปิดวงประชุมรับฟังความเห็น ฝ่ายรัฐบาลกล่าวว่า ข้อเสนอเป็นเรื่องดีมาก ถือเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับรัฐบาลที่กำลังร่างกฏหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชน โดยเฉพาะเรื่องการตั้งกลไกแก้ไขปัญหาของประชาชนทั้ง 5 ภูมิภาค เรื่องนี้ จะนัดหมายเพื่อตกลงในรายละเอียดกันอีกครั้งหลังจากนี้ภายใน 1 เดือน

โดยมอบหมายให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับเรื่องนี้ไปดำเนินการต่อ ส่วนเรื่องการตั้งบอร์ด พอช. อาจจะมีข้อติดขัดเรื่องกระบวนการที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการให้กลไกที่มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณา คาดว่าจะทราบผลในไม่ช้านี้ ส่วนเรื่องอื่น ๆ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการหลังมีการสร้างกลไกการทำงานร่วมกันแล้ว

“หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว ตัวแทนขบวนประชาชน 5 ภาค แสดงความจำนงว่า ข้อเสนอทั้งหมดมีความสำคัญ และเป็นความพยายามของภาคประชาชนที่ต้องการสร้างทางออกในการแก้ไขปัญหาประชาชนของรัฐบาล และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน”

ทั้งนี้ มีการระบุเพิ่มเติมว่า หากภายใน 30 วัน ไม่มีผลการดำเนินการใด ๆ จะกลับมาทวงข้อเรียกร้องอีกครั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ