‘ท่องเที่ยว – ท้องถิ่น’ ข้อจำกัดภายใต้ฐานคิดระบบราชการและอำนาจจากส่วนกลาง

‘วีระศักดิ์ เครือเทพ’ วิเคราะห์บทบาท ‘ท้องถิ่น’ กับ ‘การท่องเที่ยว’ ทุกหน่วยงานแยกส่วนกันทำ รัฐบาลคิด แต่ท้องถิ่นทำ ขาดการมีส่วนร่วมและไม่รู้สึกเป็นเจ้าของส่งผลต่อความยั่งยืนของโครงการ

ชุมชน OTOP ‘นวัตวิถี’ เป็นตัวอย่างการท่องเที่ยวชุมชนที่ล้มเหลว โดยการวางนโยบายจากส่วนกลาง แม้จะเป็นไปด้วยเจตนาที่ดี แต่อาจไม่ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ นำมาสู่การทิ้งร้างไร้ผู้คน มีแหล่งชุมชนมากกว่าครึ่งที่ต้องปิดตัวลง และยังไม่นับมูลค่าการลงทุนมหาศาลที่เกิดขึ้นจากระบบ ‘รัฐราชการรวมศูนย์’ ส่งผลให้ท้องถิ่นที่ควรได้รับการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ กลับไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจบริหารทรัพยากรของตนเอง

The Active พูดคุยกับ รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำความเข้าใจบริบท และข้อจำกัดของท้องถิ่นต่อการจัดการท่องเที่ยวในชุมชน รศ.วีระศักดิ์ กล่าวว่าบทบาทในด้าน ‘ส่งเสริมการท่องเที่ยว’ เป็นบทบาทหลักของท้องถิ่นอยู่แล้ว ซึ่งกำหนดเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท แต่ที่ผ่านมานั้นเหตุที่อาจจะไม่โดดเด่นเท่าภารกิจประเภทอื่น เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวในระดับชุมชนที่ได้รับความนิยมยังมีน้อย จึงทำให้การบริหารงบประมาณท้องถิ่นเน้นไปในส่วนอื่นมากกว่า การลงทุนในเรื่องการท่องเที่ยว

สำหรับ อปท. นั้น มีหน้าที่ตามกฎหมายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน มาตั้งแต่ปี 2542 หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ มีการถ่ายโอนภารกิจนี้มาจากหน่วยงานอื่น โดยให้ท้องถิ่น วางแผนการท่องเที่ยว จัดให้มีการดูแล บำรุงรักษาสถานที่ท่องเที่ยว และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก นอกจากนั้นยังมีหน้าที่สำคัญในกฎหมายท่องเที่ยวอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ 1.) พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้ “ผู้แทน อปท.ต้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในทุกระดับ” และ 2.) พระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้ตัวแทนจาก อปท. ร่วมเป็นคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติอีกด้วย

สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ

เมื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหน้าที่สำคัญของท้องถิ่น แต่เหตุใด ‘ภาพจำ’ เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนหลายแห่งจึงไม่ยั่งยืน ได้รับความสนใจอยู่เพียงช่วงพิธีเปิด เมื่อเวลาผ่านไป สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้นกลับกลายเป็นโบราณสถาน ที่ไม่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เป็นเพราะท้องถิ่นไม่มีความสามารถ หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวของไทยมีปัญหา รศ.วีระศักดิ์ ชวนวิเคราะห์ใน เรื่องงบประมาณ การประสานงาน และฐานคิดด้านนโยบายการท่องเที่ยว

งบประมาณ ที่มักจะเป็นปัญหาสำหรับ อปท.ในการจัดทำบริการสาธารณะมาเสมอ แต่ในเรื่องของการท่องเที่ยวกลับไม่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากภารกิจด้านการท่องเที่ยว เป็นเรื่องหลักของ อปท. อยู่แล้ว จึงสามารถใช้งบประมาณที่มีเพื่อจัดทำโครงการต่างๆ ได้ทันที โดยไม่ติดกรอบกฎหมายใด ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจมีงบประมาณมากน้อยแตกต่างกันไป และหากภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย อยากได้งบประมาณไปสนับสนุนในพื้นที่ของตนเอง ก็อาจเสนอแนวคิด แล้วใช้กลไกสภาท้องถิ่นเพื่อของบประมาณเพิ่มเติมได้

การประสานงาน หมายถึง การประสานงานร่วมกันระหว่าง อปท. และหน่วยงานเจ้าของสถานที่ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ป่าสงวน หรือ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาหลายพื้นที่มักไม่ได้รับความร่วมมือ และไม่ประสานการทำงานกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะทุกหน่วยงานจะมีสิ่งที่ตนทำได้ดี คงเป็นเรื่องดีหากร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยบูรณาการการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น

“สิ่งที่เกิดขึ้น คือ แยกส่วนกันทำงาน จึงไม่เกิดพลังการทำงานอย่างเต็มที่ รัฐบาลต้องเปิดใจรับ ทบทวนวิธีเดิมๆ จะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่รัฐบาบคิดแล้วส่งไปในพื้นที่”

แต่อุปสรรคที่สำคัญ คือ ฐานคิดด้านนโยบายการท่องเที่ยวของภาครัฐ ที่เน้นจากส่วนกลางลงสู่พื้นที่ แต่ไม่ได้เริ่มต้นจากความต้องการ และการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง รศ.วีระศักดิ์ มองว่า หากรัฐบาลให้ท้องถิ่นมีบทบาทหลัก ‘เป็นผู้เล่นเอง’ จะสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ และนำมาซึ่งการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการนั้น ย่อมทำให้คนในท้องถิ่นตัดสินใจและดำเนินการในเรื่องที่เป็นประโยชน์ สร้างเศรษฐกิจของชุมชนที่มีความยั่งยืน มากกว่าการคิดนโยบายจากส่วนกลาง และนำมาให้ท้องถิ่นดูแลโดยขาดความเข้าใจ

ชุมชน OTOP นวัตวิถี และนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต และมีการเชิญศิลปินระดับโลกมาด้วยงบประมาณจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่า เกิดจากความต้องการของคนในพื้นที่จริงหรือไม่ หรือเป็นนโยบาย และการตัดสินใจกันเองของส่วนกลาง ที่ต้องการใช้พื้นที่นั้น และยังต้องตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ เม็ดเงินที่จะลงสู่คนในชุมชนที่เป็นรายเล็กรายน้อย มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่และนายทุน รัฐบาลจึงต้องเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องดังกล่าว

รศ.วีระศักดิ์ เสนอว่า หากอยากส่งเสริมการท่องเที่ยวของท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องกำหนดความคิด ควรให้อิสระท้องถิ่นได้คิดหาโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชน แล้วรัฐบาลทำหน้าที่ประเมิน ตรวจสอบ หรือสนับสนุนงบประมาณเท่านั้น หากกังวลเรื่องการทุจริต ก็ออกแบบระบบ และหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างชัดเจน จะเป็นแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เพราะความเข้าใจในทรัพยากร และความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่มีใครเข้าใจดีไปกว่าคนในพื้นที่นั่นเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้